โชว์ทำโชว์งาน

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

พระบรมธาตุตำนานแห่งสวรรค์ชั้นฟ้า

พระบรมธาตุตำนานแห่งสวรรค์ชั้นฟ้า


พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
พระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราชที่รู้จักกันในทุกภาคของประเทศไทย และต่างประเทศ มีเรื่องเล่ากันว่าเดิมทีรูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ สร้างตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนามหายาน ในสมัยศรีวิชัยประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมศรีวิชัย รูปแบบจึงคล้ายคลึงกันกับพระบรมธาตุไชยา ครั้นถึงสมัย ศรีธรรมาโศกหรือสมัยนครศรีธรรมราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระพุทธศาสนาหินยานเจริญรุ่งเรืองมากในลังกาและได้เผยแผ่มาถึงเมืองนครศรีธรรมราช โดยการนำของภิกษุชาวนครศรีธรรมราชและภิกษุชาวลังกา ระยะเวลานั้นพระบรมธาตุเจดีย์กำลังทรุดโทรมมาก ภิกษุชาวลังกาและภิกษุชาวนครศรีธรรมราชช่วยกันซ่อมพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมลังกา โดยการอุปถัมภ์ของกษัตริย์ศรีธรรมาโศกราชทรงให้ก่อสถูปแบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิม (พระปราโมทย์ กลิ่นละมัย ๒๕๔๙ : ๑๔๑)
ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณเชื่อกันว่าภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ คือที่ฐานขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีสระกว้าง ๘ วา ยาว ๘ วา ลึก ๕ วา รองด้วยหินใหญ่ ข้างๆ ก่อยึดด้วยปูนเพชรปูนขาว ผสมน้ำอ้อยทุกด้าน ภายในสระมีสระเล็กอีกสระหนึ่ง สระเล็กนี้หล่อด้วยปูนเพชรขนาดกว้าง ๒ วา ยาว ๒ วา ลึก ๒ วา สระนี้บรรจุพิษของพญานาคอยู่ทั้งสระ ภายในสระมีขันทองลอยอยู่ ภายในขันทองบรรจุผอบทองซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานที่มุมสระทั้งสี่มุม ทุกมุมมีทองคำหนักตุ่มละ ๓๘ คนหามวางอยู่มุมละตุ่ม (วิเชียร ณ นคร ๒๕๒๑ : ๔๔๘)
ในปัจจุบันนี้พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นรูปทรงโอคว่ำหรือระฆังคว่ำ โดยปากของระฆังนั้นติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่มุมกำแพงแก้วมีเจดีย์พระบรมธาตุจำลองทั้ง ๔ มุม มีสิ่งที่น่าสนใจภายในวิหารพระม้าหรือวิหารพระทรงม้าหรือวิหารพระมหาภิเนษกรม วิหารนี้ตั้งอยู่ติดกับพระบรมธาตุเจดีย์ทางด้านทิศเหนือ เป็นวิหารที่มีหลังคาเดียวกันกับวิหารเขียน แต่มีผนังกั้นอยู่จึงแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นวิหารพระม้าและอีกส่วนหนึ่งเป็นวิหารพระเขียน แต่เดิมวิหารทั้ง ๒ หลังนี้มีประตูวงโค้งสามารถเดินทะลุกันได้ ต่อมาวิหารเขียนใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จึงปิดประตูที่เป็นผนัง (พระปราโมทย์ กลิ่นละมัย ๒๕๔๙ : ๑๕๖)
ตามตำนานเล่ากันว่า พลิติ และพลิมุ่ยเป็นเศรษฐีชาวลังกาเป็นผู้สร้างวิหารพระม้าหลังนี้ ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้ากรุงลังกาที่มีพระบัญชาให้เศรษฐีทั้ง ๒ คนมาช่วยสร้าง พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เมื่อเศรษฐีทั้งสองเดินทางมาถึงปรากฏว่าพระบรมธาตุเจดีย์สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยแรงศรัทธาของเศรษฐีทั้งสองจึงได้ก่อสร้างวิหารพระม้าแทน แต่ในขณะเดียวกันนั้นบุตรเศรษฐีทั้ง ๒ คนชื่อมด และหมู เกิดการทะเลาะฆ่ากันตายด้วยเรื่องไก่ชน เศรษฐีเศร้าสลดใจมาก จึงนำเอาอัฐิของบุตรมาตำเคล้าเข้ากับปูนแล้วปั้นเป็นรูปพระสิทธัตถะ พระนางพิมพา พระราหุล นายฉันนะ ม้ากัณฑกะ เทวดา มาร พรหม โดยอาศัยตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาหรือเสด็จออกมหาภิเนษกรม และปั้นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ปั้นพระสารีบุตร และพระโมคคัลนะที่ผนังตรงข้ามบันได
ภายในวิหารพระม้าประกอบด้วยตรงกลางวิหารมีบันได ๒๒ ขั้น ทอดเป็นทางขึ้นสู่ลานประทักษิณรอบๆองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่เชิงบันไดทั้งสองข้างด้านซ้ายและด้านขวามีปูนปั้นของหัวพญานาค ๗ หัว ๑ คู่ มีชื่อว่า ท้าวธตรฐ และยักษ์ ๒ ตนที่มีชื่อว่า ท้าวกุเวรหรือท้าวเวส สุวรรณ ผนังบันไดด้านนอกทั้งสองข้างมีรูปปูนปั้นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา ผนังบันไดด้านในทั้งสองข้างมีปูนปั้นรูปสิงห์ สีแดง สีเหลือง สีดำ จำนวน ๓ คู่ ที่ผนังตรงข้ามบันไดมีปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าทรงแสดงปางห้ามญาติ พระสารีบุตรและพระโมคคัลนะ ที่ผนังทางด้านทิศใต้ติดกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยทั้งสองข้าง ทางด้านซ้ายตอนบนมีพระพุทธบาทจำลอง ด้านขวามีรูปพระหลักเมือง ที่บนผนังตรงหัวบันไดด้านซ้ายและด้านขวามีปูนปั้นของพญาครุฑ ๑ คู่ ที่มีชื่อว่า ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ ที่ปลายบันไดทางด้านซ้ายและทางด้านขวาทางขึ้นไปลานประทักษิณมีปูนปั้น ๒ องค์ มีชื่อว่า ท้าวจตุคาม (ท้าวขัตุคาม) ท้าวรามเทพ และที่บานประตูทั้ง ๒ บานตรงลานประทักษิณ มีภาพสลักรูปพระพรหมและรูปพระนารายณ์ ซึ่งสลักขึ้นมาใหม่ เพื่อแทนบานประตูเดิมที่สลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ถูกไฟไหม้ไปแล้ว (ปรีชา นุ่นสุข ๒๕๒๑ : ๔๕๑)
ภายในวิหารนี้เศรษฐีได้จำลองสถานที่ให้เป็นเสมือนสวรรค์ชั้นที่ ๑ คือ ชั้นจตุมหาราชิก ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ว่าเขาพระสุเมรุเป็นภูเขาหลังคาโลก และตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชก็เช่นเดียวกันถูกสมมติให้เป็นเสาหลักของโลกและเป็นศูนย์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งภายในวิหารพระม้านี้เป็นที่ประทับของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ มีท้าวธตรฐ ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และสิงห์สีแดง สีเหลือง สีดำ ๓ คู่ ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากคติความเชื่อของพราหมณ์มาตั้งแต่สมัยโบราณประมาณ ๔,๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาลมาแล้ว
ตามตำนานคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่า เขาพระสุเมรุ เป็นภูเขาหลักของโลก ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของโลกหรือจักวาล พระอิศวร เทพผู้เป็นใหญ่ได้สร้างน้ำด้วยพระเสโท (เหงื่อ) สร้างแผ่นดินด้วยเมโท (ไคล) และทรงใช้พระจุฑามณี (ปิ่นปักผม) ปักลงใจกลางพื้นพิภพบันดาลเกิดเป็นเขาพระสุเมรุ แล้วนำพระสังวาลมาสร้างเป็นทิวเขารอบเขาพระสุเมรุอีก ๗ แห่งเรียกว่า สัตบริภัณฑคีรี เป็นที่อาศัยของทวยเทพทั้งหลาย โดยเขาพระสุเมรุสูงจากพื้นน้ำ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ใต้เขามีเขา ๓ ลูกรองรับเป็นฐานเรียกว่า ตรีกูฏ มีภูเขาล้อมลูก ๗ ทิวเรียกว่า สัตบริภัณฑคีรี คือ ทิวเขายุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตก และอัสกัณ เป็นที่สถิตของเทวดาชื่อ ท้าว จตุมหาราช และบริวารเรียกว่า จักรวาล ภายในจักรวาลมีภูเขาชื่อว่า หิมวา หรือหิมาลัย เรียงติดกันเป็นเทือกเขา ประกอบด้วยพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวดึงส์ อุสุรภิภพ อเวจีนรก และมหาทวีปทั้งสี่ คือ ชมพูทวีป อมรโคยาน ปุพพวิเทห และอุตรกุระ แต่ละทวีปมีทวีปใหญ่น้อยเป็นบริวารอีก ๒,๐๐๐ ในทิศทั้งสี่ของจักรวาลมีมหาสมุทรทั้งสี่อันมีน้ำเต็มอยู่เป็นนิจ เหนือเขาพระสุเมรุ มีไพชยนต์ปราสาทตั้งอยู่กลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตรัยตรึงศ์) และสวรรค์ชั้นที่ ๑ ของฉกามาพจร (สวรรค์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก) ในชั้นนี้ประกอบด้วย ดังนี้
๑. จตุมหาราชิก เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ มีท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ รักษาทิศอุดร มียักษ์เป็นบริวาร ท้าวธตรฐ รักษาทิศบูรพา มีคนธรรพ์เป็นบริวาร ท้าววิรุฬหก รักษาทิศทักษิณ มีกุมภัณฑ์ (อสูรจำพวกหนึ่ง) เป็นบริวาร และท้าววิรูปักษ์ รักษาทิศประจิม มีฝูงนาคเป็นบริวาร
๒. ดาวดึงส์ มีวิมานบนเขาพระสุเมรุ มีพระอินทร์เป็นใหญ่
๓. ยามะ หรือยามา มีท้าวสยามเทวราชปกครอง
๔. ดุสิต มีท้าวสันดุสิตปกครองอยู่ กล่าวกันว่าสวรรค์ชั้นนี้เป็นแหล่งกำเนิดของพระโพธิสัตว์
๕. นิมมานรดี มีท้าวสุนิมมิตปกครอง
๖. ปรนิมมิตวสวัตดี มีท้าวสวัตดีมารปกครอง โดยสวรรค์ชั้นนี้มีป่าหิมพานต์ ๗ แห่ง ได้แก่ สระอโนดาต มันทากินี กุณาล สหัปปดาต กัณมุณฑ์ รดาการ ฉัททันต์ ซึ่งที่เคยได้ยินกันบ่อยคือ สระอโนดาต มีภูเขาล้อมรอบ ๔ ลูก เต็มไปด้วยแก้ว เงิน ทอง และพรรณไม้หอมนานาชนิด และเป็นที่ประทับของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ส่วนทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุเป็นป่าหิมพานต์ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์หิมพานต์ (พงษ์พรรณ บุญเลิศ ๒๕๕๑ : ๔)
ป่าหิมพานต์เป็นดินแดนที่กล่าวกันว่าอยู่ในบริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ ในป่าหิมพานต์นอกเหนือจากพันธุ์ไม้หอมนานาชนิดแล้ว ในพื้นป่าอันอุดมสมบูรณ์ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์แปลกมากมาย ทั้งสัตว์กึ่งเทพ สัตว์กายสิทธิ์ที่เรียกกันว่า สัตว์หิมพานต์
สัตว์หิมพานต์ที่ปรากฏในช่วงเริ่มแรกอาจมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่มีให้เห็น เช่น ครุฑ ราชสีห์ ช้างตระกูลต่างๆ นาค หงส์ นกเทศ กินนร กินรี เป็นต้น แต่ในสมัยหลังมีเพิ่มชนิดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามได้มีการจำแนกสัตว์หิมพานต์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ประเภทสัตว์สองเท้า (ทวิบาท) สัตว์สี่เท้า (จตุบาท) และประเภทปลา สัตว์ที่อยู่ในน้ำ
ในกลุ่มสัตว์สี่เท้าเป็นสัตว์ที่อยู่บนบก ส่วนสัตว์สองเท้านั้นเป็นสัตว์ทั้งบนบกและบินได้ จากสามหมวดใหญ่ยังแยกย่อยออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสิงห์ เต่า ม้า ปลา รวมไปถึงมนุษย์ และเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนี้ได้แก่คนธรรพ์ ซึ่งเป็นนักดนตรีที่ขับกล่อมเทวดา นางฟ้า กับอีกกลุ่มที่เป็น มักลีผล จากคติธรรมคำสอนและจากเนื้อความที่พรรณนามาในหนังสือไตรภูมิกถา ซึ่งเป็นวรรณกรรมชั้นเอกที่เก่าแก่ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงลักษณะของป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในการถ่ายทอดสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์แทนอักษรนับเป็นความสุดยอดของช่างที่ประดิษฐ์จินตนาการ ลักษณะของป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีความหมายความงามและคุณค่าในงานศิลปกรรม ซึ่งสามารถแบ่งสัตว์หิมพานต์ออกได้ ดังนี้
๑. กิเลน แบ่งเป็น กิเลนจีน กิเลนไทย และกิเลนปีก
๒. กวาง แบ่งเป็น มารีศ พานรมฤค และอัปสรสีหะ
๓. สิงห์ แบ่งเป็น บัณฑุราชสีห์ กาฬสีหะ ไกรสรราชสีห์ ติณสีหะ เกสรสิงห์ เหมราช
คชสีห์ ไกรสรจำแลง ไกรสรคาวี ไกรสรนาคา ไกรสรปักษา โลโต พยัคฆ์ไกรสี สางแปรง กสุนไกรสี สิงห์ สิงหคาวี สิงหคักคา สิงหพานร สิงโตจีน สีหรามังกี เทพนรสีห์ ฑิชากรจตุบท โตเทพสิงฆนัด ทักทอ เป็นต้น
๔. ม้า ได้แก่ ดุรงค์ไกสร ดุรงค์ปักษิณ เหมราอัสดร ม้าปัก งายไส สินธพกุญชร สินธนกนธี โตเทพอัสดร อัสดรเหรา อัสดรวิหก
๕. ช้าง แบ่งเป็น เอราวัณ กรินทร์ปักษา วารีกุญชร ช้างเผือก
๖. วัว – ควาย ได้แก่ มังกร วิหก ทรพี - ทรพา
๗. นก ได้แก่ อสูรปักษา อสุรวายุภักษ์ ไก่ นกการเวก ครุฑ หงส์ คชปักษา มยุระคนธรรพ์ มยุระเวนไตย มังกรสกุณี นาคปักษี นาคปักษิณ นกหัสดี นกอินทรีย์ นกเทษศ พยัคฆ์เวนไตย นกสดายุ เสือปีก สกุณเหรา สินธุปักษี สีหสุบรรณ สุบรรณเหรา นกสัมพาที เทพกินนร เทพกินนรี เทพปักษี นกทัณฑิมา
๘. ลิง ได้แก่ กบิลปักษา มัจฉานุ
๙. ปลา ได้แก่ เหมวาริน กุญชรวารี มัจฉานาคา มัจฉวาฬ นางเหงือก ปลาควาย ปลาเสือ ศฤงคมัสยา
๑๐. จระเข้ ได้แก่ กุมภีร์ นิมิต เหรา
๑๑. มนุษย์ แบ่งเป็น คนธรรพ์ มักกะลีผล
นอกจากนั้นเป็นประเภท แรด ปู นาค เป็นต้น (ศิวสาร เมฆสัจจากุล ๒๕๕๑ : ๔)
พระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราช รูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์เดิมนั้นเป็นสถาปัตยกรรมศรีวิชัยแบบอย่างไชยา ต่อมาได้ซ่อมพระบรมธาตุเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมลังกาเป็นทรงโอคว่ำหรือระฆังคว่ำ คนโบราณมีความเชื่อว่าที่ฐานของพระบรมธาตุเจดีย์มีสระน้ำ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุผอบทอง ประดิษฐานอยู่ภายใน ขันทองคำซึ่งลอยอยู่ในสระน้ำนั้น
วิหารพระม้าตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ผู้สร้างวิหารหลังนี้เป็นเศรษฐีชาวลังกาซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า เมื่อสร้างวิหารสำเร็จแล้วก็ได้ปั้นรูปพระพุทธรูป พระสาวก พระสิทธัตถะ พระนางพิมพา พระราหุล นายฉันนะ เทวดา มาร พรหม ท้าว จตุโลกบาลทั้งสี่ ท้าวจตุคาม (ขัตุคาม) ท้าวรามเทพ และสัตว์หิมพานต์
ภายในวิหารนี้ท่านเศรษฐีได้จำลองให้เป็นสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิก ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ว่าเขาพระสุเมรุเป็นภูเขาหลังคาโลก เป็นจุดศูนย์ของจักรวาล พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชก็เป็นเสาหลักของโลก และเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาทิศทั้งสี่และพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
พราหมณ์มีความเชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างเขาพระสุเมรุให้เป็นที่สถิตของทวยเทพมีท้าวจตุมหาราชและบริวาร เหนือภูเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิก ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ส่วนป่าหิมพานต์นั้นตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุด้านทิศตะวันออกที่เต็มไปด้วยพรรณไม้หอมนานาชนิด เป็นพื้นป่าอันอุดมสมบูรณ์เป็นที่อาศัยของสัตว์หิมพานต์
สัตว์หิมพานต์ในช่วงแรกมีไม่กี่ชนิด เช่น ครุฑ ราชสีห์ ช้าง นาค หงส์ นกเทศ กินนร กินนรี เป็นต้น ต่อมาในระยะหลังได้เพิ่มชนิดมากขึ้น เช่น กิเลน กวาง สิงห์ ม้า ช้าง วัว – ควาย นก ลิง ปลา จระเข้ แรด ปู นาค และมนุษย์ อย่างไรก็ตามสัตว์หิมพานต์จำแนกออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ ประเภทสัตว์สองเท้า ประเภทสัตว์สี่เท้า และประเภทปลา

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น