ปีนักษัตรกับความเชื่อของคนเมืองนครศรีธรรมราช
พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตรคติความเชื่อเรื่องปีนักษัตรอันเป็นชื่อเรียกกรอบเวลา ซึ่งกำหนดให้มี ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายประจำปีนั้นๆ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชคงจะได้รับมาจากจีน แต่ได้ผ่านมาทางเขมรก่อน เนื่องจากในสมัยโบราณศิลปวัฒนธรรมของขอมหรือเขมรโบราณได้เจริญรุ่งเรืองมาก และได้แผ่ปกคลุมแหลมมลายูหรือรัฐนครศรีธรรมราชโบราณ ศิลปวัฒนธรรมของขอมจึงมีอิทธิพลและมีความเกี่ยวข้องกันกับประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ชาวเมืองนครศรีธรรมราชจึงเรียกปีนักษัตรตามภาษาเขมร การนำเอาปีนักษัตรมาใช้เป็นตราแผ่นดินของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งรัฐนครศรีธรรมราชในครั้งที่พระองค์ทรงสถาปนาเมืองบริวารขึ้น ๑๒ เมือง และมีตราเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ประจำเมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร
การกำเนิดปีนักษัตร
การกำเนิดคติโบราณเรื่องปีนักษัตร นักวิชาการมีความเชื่อว่าน่าจะมีแหล่งกำเนิดมา ๒ ทาง คือ
๑. เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจากแนวความคิดของพวกกรีก และตุรกี ซึ่งมีความเจริญในหลายด้านมาก่อน แนวความคิดนี้ได้แพร่ไปยังจีนและอินเดีย
๒.เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจากนักปราชญ์ชาวจีน ตามหลักฐานของจีนซึ่งเป็นชาติเก่าแก่โบราณและเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ชาวจีนจึงรู้จักคิดชื่อปีกับตัวอักษรประกอบชื่อปี ซึ่งได้นำมาใช้ตั้งแต่ต้นพุทธศักราช และมีผู้คิดประดิษฐ์เพิ่มเติมจนมีสัตว์เป็นชื่อประจำปี
อินเดียไม่มีปีสิบสองนักษัตร มีแต่ ๑๒ ราศีหรือจักรราศี อันหมายถึงวงโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ที่สมมติขึ้นทางโหราศาสตร์ประกอบด้วยราศี หรือหมายถึงทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวพระเคราะห์ แบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน หรือ ๑๒ ราศี ส่วนในตำราโหราศาสตร์ของจีน ชาวจีนสังเกตพบว่าเหตุการณ์บนโลกมักมีแนวโน้มเป็นไปตามวิถีระบบของวงโคจร ๑๒ ปี และคนเกิดปีเดียวกันมักจะมีอุปนิสัยพื้นฐานบางอย่างคล้ายคลึงกัน เมื่อสิ่งเหล่านี้ได้รับการบันทึกจึงได้ตั้งชื่อเรียกกำกับแต่ละปี โดยใช้สัตว์ที่มีลักษณะเด่นใกล้เคียงกันกับ
คุณสมบัติของคนในแต่ละปีมากที่สุดมาเป็นสัญลักษณ์ ตามกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติที่ทำให้คนแตกต่างกันไป ดังนั้น คนจีนโบราณจึงแบ่งคนออกเป็น ๑๒ กลุ่ม ตามเวลาเกิดโดยใช้หลักสถิติ และใช้สัตว์ที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนมากที่สุด ๑๒ ชนิดมาเป็นชื่อปีนักษัตร และใช้เป็นตำราพยากรณ์ทำนายทายทักลักษณะดีชั่วและความสุขทุกข์ของมนุษย์
คติความเชื่อเกี่ยวกับปีสิบสองนักษัตร
ปีชวดมีตราหนูเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองสายบุรี คนจีนถือว่าหนูเป็นสัตว์ตัวแรกที่เริ่มต้นวงจรสิบสองนักษัตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในสมัยโบราณ สำหรับปีนี้คือ จื่อ แปลว่า เด็กทารก เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเริ่มต้น ซึ่งบอกให้รู้ถึงการเกิดของวันใหม่เป็นช่วงเวลา ฤกษ์งามยามดี หนูจึงเป็นตัวเงินตัวทอง หนูจะเข้ามาเยี่ยมเฉพาะบ้านที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ หนูจึงเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์นำโชค
ปีฉลูมีตราวัวเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองปัตตานี วัวเป็นสัญลักษณ์แทนการเกษตรกรรม ซึ่งแสดงถึงการมีโชคเกี่ยวกับผลผลิตทางด้านเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ คนเกิดปีวัวจึงเป็นคนซื่อสัตย์ จงรักภักดี มั่นคง แน่วแน่ รักใครแล้วรักจริง ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย วัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของความขยันหมั่นเพียร และมีมานะอดทน
ปีขาลมีตราเสือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองกลันตัน เสือเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง มีรูปร่างโดดเด่น มีพลังอันแข็งแกร่ง ดุดัน ก้าวร้าว ทำสงคราม ใช้รูปเสือขับไล่ผีและโรคภัยไข้เจ็บ เทพเจ้าเสือ (เทวดาขี่เสือ) ถือเป็นเทพแห่งความมั่นคง เสือจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง
ปีเถาะมีตรากระต่ายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองปาหัง กระต่ายบนดวงจันทร์กับคางคกสามขา ถือเป็นสัตว์มีความเป็นอมตะ กระต่ายมีสูตรลับในการปรุงน้ำทิพย์อมฤต อันเป็นยาอายุวัฒนะ ผู้ที่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพรและวิธีการรักษาโรค จึงมักจะนำเอากระต่ายมาปรุงเป็นยาอายุวัฒนะ กระต่ายจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ
ปีมะโรงมีตรามังกรหรืองูใหญ่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองไทรบุรี มังกรเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำและอุทกภัย มังกรหรือพญานาค จึงมีความเกี่ยวข้องกันกับการหลั่งของสายฝนจากฟากฟ้า สัญลักษณ์ของพละกำลังแห่งการมีชีวิตอยู่ แห่งอำนาจ และความเจริญมั่นคง มังกรจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์
ปีมะเส็งมีตรางูหรืองูเล็กเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองพัทลุง งูเป็นผู้เฝ้าดูแลทรัพย์สมบัติที่ดี งูเป็นสัญลักษณ์แห่งความลับ ยอกย้อน ซ่อนเงื่อน ผู้ใดฆ่างูที่เข้ามาในบ้านอาจต้องพบกับโชคร้าย เพราะงู คือ ผู้นำโชคลาภก้อนใหญ่มาให้ งูจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำโชคก้อนใหญ่และการรักษาทรัพย์
ปีมะเมียมีตราม้าเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองตรัง ตามแผนภูมิโหราศาสตร์ ม้าอยู่ตำแหน่งที่ตรงข้ามกับหนูพอดี และตามหลักแล้ว หนูจะต้องเป็นฝ่ายผู้ผลิตหรือผู้สร้าง แต่ม้าจะเป็นฝ่ายผู้บริโภค เป็นตัวแทนของตัณหา ความปรารถนา และทะเยอทะยาน ม้าที่แข็งแรงจึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการปกครองที่มั่นคง ปลอดภัย และสงบเรียบร้อย ม้าช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการ แสวงหาประสบการณ์นอกบ้าน
ปีมะแมมีตราแพะหรือแกะเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองชุมพร แพะตามโหราศาสตร์จีนถือเป็นลักษณะสำคัญที่ก่อให้เกิดหลักการแห่งความเป็น “หยิน” (เพศหญิง) ดังนั้น แพะเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ที่มีความเป็น “เพศสตรีมากที่สุด” ในจำนวนสัตว์ทั้ง ๑๒ ตัว แพะเป็นผู้ตามที่ดีมากกว่าการเป็นผู้นำ แพะเป็นสหายคู่หูกับม้า (หยินกับหยาง) เป็นผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิตที่ดี แพะจึงเป็นสัญลักษณ์ของเพศสตรีและผู้บริโภค
ปีวอกมีตราลิงเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองบันไทยสมอ ลิงมีสัญลักษณ์เป็น “หยาง” (เพศชาย) คู่กับไก่ซึ่งเป็น “หยิน” (เพศหญิง) ลิงมีความสามารถพิเศษหลายอย่างอยู่ในตัว การใช้ลิงให้เกิดประโยชน์มีคุณค่าจริงๆ ก็ต่อเมื่อต้องอยู่ภายใต้การควบคุมจากผู้มีคุณธรรมสูงส่งเท่านั้นที่มีอำนาจบังคับลิงได้ และคนจะต้องเหนือกว่าลิง ลิงจึงเป็นสัญลักษณ์ของเพศชายที่มีความสามรรถพิเศษ
ปีระกามีตราไก่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองสะอุเลา ไก่มีสัญลักษณ์เป็น “หยิน” (เพศหญิง) แต่ไม่มีลักษณะของความอ่อนแอให้เห็นเลย ไก่จึงเป็นศูนย์รวมการกระทำที่เฉียบขาด และมีพฤติกรรมที่เข้มแข็ง ไก่มีตาสว่างในเวลาค่ำคืน คุณสมบัติในตัวไก่มีทั้งการตัดสินใจแน่วแน่ หยิ่งผยอง เชื่อมั่นในตัวเอง ไก่จึงเป็นสัญลักษณ์ของความตื่นตัวตลอดเวลา
ปีจอมีตราหมาหรือสุนัขเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองตะกั่วถลาง หมาเป็นผู้คุ้มครองและระวังรักษาทรัพย์สมบัติ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับม้าและเสือ ซึ่งต่างก็มีคุณสมบัติเป็น “หยาง” (เพศชาย) เต็มตัว หมาเป็นเครื่องหมายที่แสดงความสร้างสรรค์ จึงมีคุณสมบัติผู้ดูแลคุ้มครองป้องกันตัว และหมายถึงความมั่นคงปลอดภัยด้วย หมาจึงเป็นสัญลักษณ์ของเพศชาย เป็นผู้คุ้มครองและรักษาทรัพย์ที่ดี
ปีกุนมีตราหมูหรือสุกรเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองกระบุรี ปีกุนเป็นปีสุดท้ายของระบบวิถีปีสิบสองนักษัตร หมูเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องหมาย “บ้าน” หมูจึงเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับการนอนหลับพักผ่อน อันหมายถึง ความสงบ ความสำเร็จ ความพอใจ ในสิ่งที่ทำสำเร็จลงไป
สรุป
คติความเชื่อเกี่ยวกับปีนักษัตรอันเป็นกรอบของเวลา กำหนดให้ ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ และมีสัตว์เป็นเครื่องหมายประจำปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชรับมาจากจีนผ่านมาทางเขมรในครั้งที่สถาปนาเมืองขึ้น ๑๒ เมือง จึงใช้ปีนักษัตรเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร
การกำเนิดปีนักษัตรมีที่มา ๒ ทาง คือ เกิดจากแนวความคิดของกรีกหรือตุรกี และเกิดจากแนวความคิดของนักปราชญ์จีน ตามตำราโหราศาสตร์ของอินเดียไม่มีปีสิบสองนักษัตร มีแต่ ๑๒ ราศี หรือจักรราศี อันเป็นวงโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ ส่วนในตำราโหราศาสตร์ของจีนพบว่าคนจีนโบราณแบ่งคนออก ๑๒ กลุ่ม ตามเวลาเกิดโดยใช้สถิติ และใช้สัตว์ที่มีความใกล้ชิดกับคนมากที่สุด ๑๒ ชนิดมาเป็นชื่อปีนักษัตรไว้ทำนายชีวิตมนุษย์
คนจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับปีนักษัตรว่า หนูเป็นสัตว์นำโชค วัวเป็นสัตว์ที่มีความขยันหมั่นเพียร และมีความมานะอดทน เสือเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแกร่ง และมั่นคง กระต่ายเป็นสัตว์ที่ความเป็นอมตะ มังกรเป็นสัตว์แห่งความอุดมสมบูรณ์ งูเป็นสัตว์นำโชคและสัตว์รักษาทรัพย์ ม้าเป็นสัตว์บริโภคที่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัย และเรียบร้อย แพะเป็นสัตว์เพศสตรีและเป็นผู้ตามที่ดี ลิงเป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษ ไก่เป็นสัตว์ที่มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาและมีความเชื่อมั่นในตัวเอง สุนัขเป็นสัตว์ที่คุ้มครองป้องกันและรักษาทรัพย์สมบัติได้ดี และสุกรเป็นสัตว์ที่บอกถึงการพักผ่อน ความสงบ ความพอใจ และความสำเร็จ
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น