อิทธิพลของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีต่อศิลปกรรม
เมืองนครศรีธรรมราช
เมืองนครศรีธรรมราช
พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นบ่อเกิดศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญ และมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างสมขึ้นมาตามวุฒิปัญญา ความรู้ความสามารถของตนเอง ความเป็นอิสระในระบบความคิด และการแสดงออก เพื่อให้เกิดบุญกุศล ความสุข ความสามัคคี และเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตน นอกจากนั้นศิลปวัฒนธรรมยังมีคุณค่าในการกล่อมเกล่าจิตใจ ความเพลิดเพลิน และความสุขแก่ผู้สนใจอีกด้วย
ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน กล่าวถึงศิลปะไว้ว่า “ศิลปะเป็นสิ่งสูง อาจกล่อมเกลาจิตใจคนให้พ้นจิตใจเบื้องต่ำ คนดุร้ายกระด้างก็กลับเป็นตรงกันข้าม ที่ขลาดก็กลับกล้าหาญ ที่เกียจคร้านก็กลับขยัน เพราะด้วยอำนาจแห่งศิลปะเป็นเครื่องชักจูงโน้มน้าวใจ ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับอบรมจิตใจ ให้การศึกษาแก่พลเมืองให้มีคุณงามความดีประจำใจอยู่…..”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับศิลปะไว้เช่นเดียวกัน คือ
“อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์ เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า
ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา เขาจะพากันเย้ยให้ได้อาย”
จากคำกล่าวของปราชญ์ทั้งสองท่านที่กล่าวมาแล้ว พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าศิลปกรรมนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์เราเพียงใด และเมื่อเป็นเช่นนี้อนุชนรุ่นหลังควรจะได้สำนึกถึงความสำคัญและช่วยกันบำรุงรักษา หวงแหนและทะนุถนอมไว้ไม่ให้สูญหาย (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 271)
สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรม แปลว่า การก่อสร้าง หมายถึง อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องรอบๆ และภายในอาคารนั้น สถาปัตยกรรมแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ การสร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์เข้าไปอยู่อาศัยหรือประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น กุฏิ อาคาร บ้านเรือน เป็นต้น และสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น เช่น อุโบสถ วิหาร ศาลา เจดีย์ เป็นต้น ส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมจะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวและสมดุลได้แก่ ความงาม ความมั่งคงแข็งแรง และประโยชน์ในการใช้สอย (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 87)
เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่ได้ตั้งขึ้นโดยราชวงศ์ตามพรลิงค์ ประมาณ พ.ศ. 1100 – 1300 เมืองนี้ตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว สถาปัตยกรรมในช่วงนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย นับถือพระอิศวร และลัทธิไวษณพนิกาย นับถือพระนารายณ์ ต่อมาสมัยศรีวิชัย ประมาณ พ.ศ. 1300 – 1600 พระพุทธศาสนา นิกายมหายาน สถาปัตยกรรมในช่วงระยะเวลานี้ได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิม เจดีย์วัดเขาหลัก อำเภอทุ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีฐานอุโบสถ วิหาร เจดีย์ ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล และอำเภอขนอม เป็นต้น
สถาปัตยกรรมสมัยนครศรีธรรมราช ประมาณ พ.ศ. 1700 – 1900 สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วิหารหลวง วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารทับเกษตร วิหารคดหรือพระระเบียง วิหารธรรมศาลา วิหารโพธิ์พระเดิม เจดีย์รายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พระพุทธบาทจำลอง ประตูเยาวราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์ยักษ์ วัดพระเงิน เจดีย์ 3 องค์ วัดวังไทร อำเภอ ลานสกา หอพระพุทธสิหิงค์ วิหารสูง อุโบสถ วิหาร กุฏิตามวัดต่างๆ และรั้ววัดท่าโพธิ์ เป็นต้น (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 271 - 272)
สถาปัตยกรรมที่สำคัญที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของศรีลังกา คือ เจดีย์ทรงกลมหรือเจดีย์ทรงลังกา อันหมายถึงสถาปัตยกรรมหมายเลข 1 คือ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเจดีย์หรือสถูปทรงลังกา ขนาดสูงประมาณ 77 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน 22.98 เมตร ยอดหุ้มด้วยทองคำสูง 8.294 เมตร จากรูปแบบศิลปะที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีอายุอยู่ประมาณ พ.ศ. 1700 – 1800 ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า สร้างเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นในบริเวณหาดทรายแก้ว ตำนานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นคติความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกันกับพระบรมธาตุเจดีย์ในอินเดีย ศรีลังกา เจดีย์องค์นี้ได้บูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังแสดงให้เห็นว่าในขั้นต้นคงจะได้รับอิทธิพล จากต้นแบบเจดีย์กิริเวเหระ ในโปโลนนารุวะเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยรอบฐานมีการแบ่งเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีช้างโผล่ส่วนหัวออกมา ระหว่างซุ้มหัวช้างเหล่านั้นมีซุ้มเรือนแก้วภายในมีพระพุทธรูปส่วนปูนปั้นประดิษฐานอยู่ ส่วนฐานนี้ได้มีการสร้างหลังคาคลุมไว้รอบเรียกว่า ทับเกษตร ทางขึ้นไปทางด้านบนของลานประทักษิณล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณอยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในวิหารพระทรงม้า มุมทั้งสี่ของลานประทักษิณมีเจดีย์จำลองทรงลังกาสร้างไว้มุมละองค์ ตรงลานประทักษิณเป็นปากระฆังของเจดีย์ โดยปากระฆังติดกับพื้นลานประทักษิณ ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลมที่มีปากระฆังผายออกเล็กน้อย เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมทรงสูง ด้านข้างของบัลลังก์แต่ละด้านมีเสาประดับอยู่สลับกับช่องว่างเป็นช่องๆ ด้านบนของบัลลังก์ผายออก ตรงกลางบัลลังก์เป็นเสาหานประดับอยู่เป็นรูปวงกลม จำนวน 8 ต้น เสาแต่ละต้นประดิษฐานพระอรหันต์ปูนปั้นต้นละองค์ ถัดขึ้นไปทางด้านบนเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ทำเป็นรูปวงกลมเป็นปล้องๆ เรียกว่า ปล้องไฉน จนกระทั่งถึงประทุมโกศที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย โดยหุ้มด้วยทองคำตั้งแต่ส่วนนี้ไปจนถึงปลายสุดที่เรียกว่าปลียอดทองคำ (พระสมุห์ปราโมทย์ ปสุโต. 2550 : 156 - 157)
ประติมากรรม
ประติมากรรม แปลว่า จำลองหรือเทียมหรือแทน อันหมายถึงศิลปะเกี่ยวกับการปั้นและการแกะสลัก ประติมากรรมในเมืองนครศรีธรรมราชมี 3 ประเภท คือ
1. ประติมากรรมแบบนูนต่ำ มีลักษณะเป็นรูปที่นูนขึ้นมาจากพื้นหรือมีพื้นหลังรองรับ ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนเพียงด้านเดียว คือ ด้านหน้า มีความสูงจากพื้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรูปจริง ได้แก่ รูปนูนของเหรียญ รูปนูนที่ใช้ตกแต่งภาชนะ รูปนูนที่ใช้ประดับตกแต่งอาคารทางสถาปัตยกรรม โบสถ์ วิหารต่างๆ และพระเครื่องบางชนิด (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 91)
ประติมากรรมแบบนูนต่ำในเมืองนครศรีธรรมราช เช่น ประติมากรรมปูนปั้นรูปมหาภิเนษกรมณ์ฝาผนัง ประติมากรรมไม้บานประตูไม้จำหลักทางขึ้นลานประทักษิณ 1 คู่ รูปพระพรหม 4 กรและรูปพระนารายณ์ในวิหารพระทรงม้า ประติมากรรมหน้าบันด้านหน้าของพระวิหารหลวงแกะสลักไม้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประติมากรรมหน้าบันด้านหลังของพระวิหารหลวงเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ประติมากรรมรอยพระพุทธบาทจำลอง วัด พระธาตุวรมหาวิหาร หน้าบันแกะสลักไม้ของโบสถ์เก่าวัดสระเรียง เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เป็นต้น
2. ประติมากรรมแบบนูนสูง มีลักษณะเป็นรูปต่างๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับแบบนูนต่ำ แต่มีความสูงจากพื้นตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของรูปจริงขึ้นไป ทำให้มองเห็นลวดลายที่ลึกได้ชัดเจน และเหมือนจริงมากกว่าแบบนูนต่ำ ซึ่งใช้งานแบบเดียวกันกับแบบนูนต่ำ (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 92)
ประติมากรรมแบบนูนสูงในเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ ประติมกรรมซุ้มเรือนแก้ว ประติมากรรมซุ้มช้างโผล่ส่วนหัวรอบๆ องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ภายในวิหารทับเกษตร และประติมากรรมปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้า รอยพระพุทธบาทด้านหน้าอุโบสถวัด สวนหลวง เป็นต้น
3. ประติมากรรมแบบลอยตัว มีลักษณะเป็นรูปที่มองเห็นได้รอบด้านหรือมองเห็นได้ทั้ง 4 ด้านขึ้นไป ได้แก่ รูปเคารพต่างๆ พระพุทธรูป เทวรูป รูปบุคคลสำคัญ รูปสัตว์ เป็นต้น
ประติมากรรมแบบลอยตัวในเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ พระพุทธรูปสกุลช่างนครศรีธรรมราชปางต่างๆ เช่น พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานที่หอพระพุทธสิหิงค์ พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช ปางมารวิชัย เป็นพระประธานประดิษฐานในพระวิหารหลวง พระธรรมศาลา ปางมารวิชัย เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในวิหารธรรมศาลา พระประธานปางมารวิชัย แบบอู่ทอง เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในวิหารเขียน พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าชายทนทกุมาร ทรงประทับยืน ปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่หน้าวิหารพระธรรมศาลา พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าหญิงเหมชาลา ทรงประทับยืน ทรงเครื่องกษัตริย์โบราณ ปางห้ามญาติ ประดิษฐานด้านหลังพระวิหารธรรมศาลา พระพุทธรูปแทนองค์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปางมารวิชัย ทรงเครื่องกษัตริย์โบราณสวมชฎายอดสูง ประดิษฐานในพระวิหารสามจอม พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารโพธิ์ลังกา พระบุญมาก ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใต้วิหารรอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปหินเขียว ปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารโพธิ์ลังกา พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าพระยานคร (พัฒน์) และพระพุทธรูปแทนองค์เจ้าพระยานคร (น้อย) ประดิษฐานอยู่ในวิหารเขียน พระพวย ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าวิหารโพธิ์ลังกา พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ ประดิษฐานในวิหารโพธิ์พระเดิม พระเงิน ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเงิน วัดพระเงิน พระประธานในอุโบสถหลังเก่าวัดท้าวโคตร พระประธานในอุโบสถวัดชายนา พระประธานในวิหารสูง พระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตรหรือพระลาก ที่ใช้ในพิธีชักพระหรือแห่พระ พระพุทธรูปวัดต่างๆ ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และสิงห์สีแดง สีเหลือง สีดำ 4 คู่ในเมืองนครศรีธรรมราช
ประติมากรรมที่โดดเด่นของเมืองนครศรีธรรมราช คือ พระพุทธสิหิงค์สกุลช่างนครศรีธรรมราช พระพุทธสิหิงค์ของนครศรีธรรมราช ปัจจุบันประดิษฐาน ณ หอพระพุทธ
สิหิงค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์นครศรีธรรมราช เป็นองค์ต้นแบบ มีหน้าตักประมาณ 32 เซนติเมตร สูง 42 เซนติเมตร เนื้อทองสำริด เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะท่าทางเหมือนราชสีห์ นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ทรงมีพระอุษณีษะนูนขึ้นเป็นรูปทรงกลม เม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม อวบอิ่ม พระขนงและพระเนตรได้สัดส่วน พระเนตรมองตรง มีพระโอษฐ์อวบอิ่ม พระกรรณยาว พระศอเป็นลอนเป็นชั้นๆ พระอังสาอวบอิ่มราบเรียบเกือบจะเป็นแนวตรง ครองจีวรห่มเฉียง มีสังฆาฏิพาดอยู่เหนือพระอังสาซ้าย โดยชายสังฆาฏิสั้นปลายเป็นกลีบแฉกซ้อนกันหลายชั้นอยู่เหนือพระถัน พระอุระอวบอ้วนแล้วค่อยๆ ราบลงมาเป็นรูปคอดกิ่วที่บั้นพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองข้างกลมกลึง พระหนุ (คาง) มีรอยพับลึกลงไปทั้งสองด้านแบบคางสิงโต ฐานเตี้ยและเรียบไม่มีบัวรองรับ (ฐานบัวเพิ่งทำใหม่ในรัชกาลที่ 5) ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธสิหิงค์เป็นองค์ต้นแบบ กลมป้อม อ้วนล่ำ กล้ามเป็นมัด คล้ายกับคนเกร็งกล้ามเนื้อ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “พระขนมต้ม” เพราะรูปทรงล่ำเป็นมัดอย่างขนมต้ม แต่องค์ต้นแบบมีความอ่อนหวาน มีความสมบูรณ์ สมส่วนสวยงามมากกว่าองค์อื่นๆ ซึ่งบางองค์ถ้ามองดูด้านข้างจะคล้ายกับสิงห์จริงๆ ตามตำนานของพระพุทธสิหิงค์ที่กล่าวไว้
(พระสมุห์ปราโมทย์ ปสุโต. 2550 : 163)
จิตรกรรม
จิตรกรรม หมายถึงศิลปะประเภทหนึ่งในทัศนศิลป์ที่เกี่ยวกับการเขียนการวาด มีลักษณะเป็นศิลปะที่มีความประณีตสวยงาม แสดงออกถึงความรู้สึกมีชีวิตจิตใจ ที่มีความอ่อนโยน ละมุนละไม และมีรูปแบบที่พิเศษ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการแสดงการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ ของแต่ละยุค และสาระอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพจิตกรรม งานจิตรกรรมให้ความรู้สึกในความงามอันบริสุทธิ์ น่าชื่นชม เสริมสร้างสุนทรีภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษยชาติได้โดยทั่วไป จิตกรรมนิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและอาคารที่เกี่ยวกับบุคคลชั้นสูง เช่น อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง วัง บนผืนผ้า กระดาษ ไม้กระดานและบนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ โดยเขียนด้วยสีฝุ่น ตามกรรมวิธีของช่างเขียนโบราณ เนื้อหาที่เขียนมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี วิถีชีวิต และพงศาวดารต่างๆ ส่วนใหญ่นิยมเขียนประดับฝาผนังอุโบสถ วิหารอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา จิตกรรมแบบนี้เป็นจิตรกรรมแบบอุดมคติที่เป็นเรื่องราวลึกลับและอัศจรรย์ (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 101)
จิตรกรรมในเมืองนครศรีธรรมราชมีปรากฏอยู่น้อยมาก อาจจะเนื่องมาจากระยะเวลาอันยาวนานของความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในเมืองนี้ สถาปัตยกรรมในระยะแรกๆ เช่น อุโบสถ วิหาร ได้ชำรุดทรุดโทรม และได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนหลังเก่า จิตรกรรมฝาผนังก็ได้รับความเสียหายไปพร้อมกับสถาปัตยกรรมเหล่านั้น จิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันได้แก่ จิตรกรรมที่เสาวิหารเขียน วิหารเขียนหลังนี้เมื่อก่อนมีภาพเขียนทั้งฝาผนังและเสาของวิหารเป็นภาพลายเส้นศิลปะสมัยอยุธยา ปัจจุบันเหลือแต่จิตรกรรมเสาวิหารเท่านั้น จิตรกรรมที่ฝ้าเพดานวิหารทรงม้า และวิหารหลวง มีภาพลายดารกาเป็นแฉก มีรัศมีสวยงาม วัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร จิตรกรรมภาพทศชาติชาดกบนไม้กระดานในอุโบสถวัดท้าวโคตร และจิตกรรมอื่นๆ เช่น หนังสือบุดหรือสมุดข่อย เรื่องพระมาลัย ไตรภูมิพระร่วง ดังที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วไปในเมืองนครศรีธรรมราช (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 274 - 275)
คุณค่าของศิลปกรรม
ศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลของพระพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลแบบสหวิทยาการ ถือได้ว่าเป็นแหล่งขุมความรู้โดยเฉพาะเรื่องราวจากอดีตที่สำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่มายาวนานของเมืองนครศรีธรรมราช ประโยชน์ของงานศิลปกรรม นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าของงานศิลปะแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านอื่นๆ อีกมาก (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 102) ดังนี้
1. คุณค่าในทางประวัติศาสตร์
2. คุณค่าในทางศิลปะ
3. คุณค่าในเรื่องเชื้อชาติ
4. คุณค่าในเชิงสังคมวิทยา
5. คุณค่าในด้านโบราณคดี
6. คุณค่าในการศึกษาประเพณีและวัฒนธรรม
7. คุณค่าในการศึกษาเรื่องทัศนคติค่านิยม
8. คุณค่าในการศึกษานิเวศวิทยา
9. คุณค่าในการศึกษาเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
10. คุณค่าในทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
สรุป
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ จึงเป็นบ่อเกิดศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งในเมืองนครศรีธรรมราชจำนวนมากมาย ศิลปกรรมเหล่านี้จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า อันเกิดมาจากสติปัญญาของนักคิด นักปราชญ์ที่มีภูมิรู้และพลังศรัทธากับพระพุทธศาสนา
สถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารและสิ่งก่อสร้างแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอยู่อาศัยและสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอย และจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ มีความงาม ความมั่นคงแข็งแรง และเป็นประโยชน์ในการใช้สอย
นครศรีธรรมราชมีสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ นิกายหินยาน และศาสนาพุทธ นิกายลังกาวงศ์ สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พระวิหารหลวง และวิหารทับเกษตร เป็นต้น
ประติมากรรมที่เป็นศิลปะเกี่ยวกับการปั้นและการแกะสลักมี 3 แบบ คือ ประติมากรรมแบบนูนต่ำ ประติมากรรมแบบนูนสูง และประติมากรรมแบบลอยตัว
นครศรีธรรมราชมีประติมากรรมที่สำคัญและโดดเด่น คือ ประติมากรรมแบบนูนต่ำและนูนสูง ได้แก่ ประติมากรรมปูนปั้นฝาผนังภาพมหาภิเนษกรมณ์ ประติมากรรมปูนปั้นภาพพุทธประวัติ วัดสวนหลวง เป็นต้น และประติมากรรมแบบลอยตัว ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางต่างๆ ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ เป็นต้น
จิตกรรมที่เป็นภาพวาดและการเขียนลายเส้น เป็นศิลปะที่มีความสวยงาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อการศึกษา จิตกรรมนิยมเขียนที่ฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและอาคารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลชั้นสูง เช่น อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง และวัง เป็นต้น จิตกรใช้สีฝุ่นเขียนตามกรรมวิธีโบราณ และนิยมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี เป็นต้น
นครศรีธรรมราชมีจิตกรรมปรากฏอยู่น้อยมาก เพราะระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมจึงชำรุดทรุดโทรม และได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนสถาปัตยกรรมเก่า จิตรกรรมก็ถูกทำลายไปด้วย จิตรกรรมที่ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันได้แก่ จิตรกรรมลายเส้นเสาวิหารเขียน จิตกรรมภาพทศชาติชาดก ในอุโบสถวัดท้าวโคตร เป็นต้น
ประโยชน์และคุณค่าของศิลปกรรมในเมืองนครศรีธรรมราชที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมา ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะ เชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา นิเวศวิทยา ทัศนคติค่านิยม เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และเศรษฐกิจการท่องเที่ยว
ไม่มีความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น