โชว์ทำโชว์งาน

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เมืองสิบสองนักษัตร

เมืองสิบสองนักษัตร
: สถานที่ตั้งเมืองและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระนิพพานโสตรได้สะท้อนให้เห็นว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์ของรัฐพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ได้เป็นที่มาของการสถาปนาระบบเมืองขึ้นของรัฐที่เรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตร ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชเป็นผู้ปกครองรัฐนครศรีธรรมราชอย่างยาวนานได้สถาปนาขึ้นในระหว่างประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของเมืองเหล่านั้น เมืองเหล่านั้นมีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์ของรัฐนี้
ในช่วงเวลานี้เมืองนครศรีธรรมราชได้เจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจกล้าแข็งมากที่สุดบนแหลมมลายู สามารถแผ่อำนาจอิทธิพลไปตลอดแหลมมลายู เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ก็ล่มสลายไป อาณาจักรขอมทางเหนือก็หมดอำนาจลงไป เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังผู้คนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าก็ดีขึ้น ศิลปวัฒนธรรมก็เจริญจึงได้จัดการปกครองหัวเมืองขึ้นหัวเมืองหนึ่งที่เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร
การจัดระบบเมืองสิบสองนักษัตรก็เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อรัฐนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะการเข้าไปมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากร ตลอดจนการพัฒนาและการเพิ่มผลผลิตของเมืองเหล่านั้น และการนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ทางการค้าของรัฐนครศรีธรรมราช อย่างกรณีการนำดีบุกจากเมืองที่มีดีบุกมาก เช่น เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง และเมืองตะกั่วถลาง เป็นต้น ตามที่ปรากฏในบันทึกของหวังตาหยวนในปี พ.ศ.1892 ว่าสินค้าของรัฐนครศรีธรรมราชเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทของป่าและของแปลก เพราะเป็นสินค้าที่หามาได้จากบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลแทบจะทั่วทั้งคาบสมุทร เนื่องจากเมืองขึ้นของตนตั้งอยู่ทั่วทั้งคาบสมุทร ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงส่งผลให้การเมืองการปกครองของรัฐนครศรีธรรมราชในช่วงนี้แข็งแกร่งและเกรียงไกลตามไปด้วย

เมืองสิบสองนักษัตร
1. เมืองสายบุรี ปีชวด ถือตราหนู
2. เมืองปัตตานี ปีฉลู ถือตราวัว
3. เมืองกลันตัน ปีขาล ถือตราเสือ
4. เมืองปาหัง ปีเถาะ ถือตรากระต่าย
5. เมืองไทรบุรี ปีมะโรง ถือตรางูใหญ่
6. เมืองพัทลุง ปีมะเส็ง ถือตรางูเล็ก
7. เมืองตรัง ปีมะเมีย ถือตราม้า
8. เมืองชุมพร ปีมะแม ถือตราแพะ
9. เมืองบันไทยสมอ ปีวอก ถือตราลิง
10. เมืองสะอุเลา ปีระกา ถือตราไก่
11. เมืองตะกั่วถลาง ปีจอ ถือตราสุนัข
12. เมืองกระบุรี ปีกุน ถือตราหมู

สถานที่ตั้งเมืองสิบสองนักษัตร
1. เมืองสายบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสายบุรีและฝั่งทะเล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังของพระยาสุริยะสุนทรบวรภักดี (นิอิตัมนาแซ)บริเวณบ้านตะลุบัน ถนนสุริยะ ตรงข้ามกับศาลาเทศบาล ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
เมืองสายบุรีเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 ส่วนเมืองสายบุรีเก่านั้นตั้งอยู่บริเวณรอบวัดถ้ำคูหาภิมุขหรือบริเวณอำเภอเมืองยะลา เมืองนี้เป็นเมืองท่าปากน้ำที่มีการติดต่อค้าขายและคมนาคมกับเมืองอื่นๆ เมืองสายบุรีเป็นเมืองขนาดไม่โตมากนัก มีความอุดมสมบูรณ์ มีอารยะธรรมเก่าแก่ที่มีความสำคัญคู่กับเมืองปัตตานี จัดเป็นเมืองนักษัตรอันดับที่ 1 ของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีชวด ถือตราหนูเป็นตราประจำเมือง และมีวัดสักขี(วัดสุทธิกาวาส) เป็นวัดประจำเมืองสายบุรี
2. เมืองปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณบ้านวัด บ้านประแว และบ้านจาเละ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
เมืองปัตตานีตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำปัตตานี ซึ่งห่างจากทะเลประมาณ 15 กิโลเมตร เมืองนี้ได้ชื่อว่าลังกาสุกะตะวันออก ส่วนชาวเมืองเรียกว่า โกตมะลิฆัย หรือโกตามหาลิฆา หรือโกตามลิไฆย แต่เรียกเพี้ยนออกไป จีนเรียกว่า ลังยาสิ่ว อินเดียเรียกว่า ลิงคาโศกะ
เมืองปัตตานีเป็นเมืองเก่า เมืองทอง เมืองมหานคร และเมืองประวัติศาสตร์ที่มีประวัติความเป็นมานับพันปี เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่สุดและเป็นเมืองใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญรองจากเมืองนครศรีธรรมราช เมืองนี้จึงมีบทบาททางการเมืองมาทุกยุคสมัยเมืองหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เต็มไปด้วยอารยธรรมโบราณ มีทั้งผู้นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ต่อมาภายหลังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ลุ่มแม่น้ำปัตตานีมีที่ราบทำนาได้มากจึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเลี้ยงคนได้มากที่สุด และเป็นเมืองค้าขายนานาชาติที่สำคัญประจำภูมิภาคแหลมมลายูตอนกลาง
เมืองปัตตานีโบราณเป็นรัฐอิสระและต่อมาตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัย เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงก็มาขึ้นกับอาณาจักรตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช โดยการเป็นประเทศราชหรือหัวเมืองขึ้นอันเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมือนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีฉลู ถือตราวัวเป็นตราประจำแผ่นดิน
ในสมัยเมืองปัตตานีถูกรุกรานจากกองทัพมะละกาได้ทำลายพระพุทธรูป เทวรูป และโบราณสถานในเมืองโกตามหาลิฆัยหรือลังกาสุกะไปจนหมดสิ้น พระยาอินทิราหรือสุลต่านอิสมาเอลชาห์ซึ่งเคยนับถือศาสนาพุทธก็ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามตามสุลต่านมัสสุชาฮ์กษัตริย์มะละกา ในสมัยนี้เองพระองค์ได้มีการย้ายพระนครโกตามหาลิฆัยมาสร้างพระนครใหม่ขึ้นที่สันทรายบริเวณตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบานา หมู่บ้านกรือเซะ ในท้องที่อำเภอเมืองปัตตานีปัจจุบัน พระราชทานเมืองว่า ปัตตานีดารัสลามหรือนครแห่งสันติ
3. เมืองกลันตัน ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำกลันตัน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของนครโกตาบารู ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
เมืองกลันตันเป็นเมืองเก่าแก่โบราณเช่นเดียวกับเมืองปัตตานี และเมืองไทรบุรี เมืองนี้ในสมัยโบราณเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แร่ทองคำ เป็นเมืองท่าค้าขาย และเป็นดินแดนที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญบนคาบสมุทรมลายู เมืองกลันตันมีความสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะเป็นเมืองขึ้นสิบสองนักษัตร ทรงกำหนดให้เป็นปีขาล ถือตราเสือเป็นตราประจำเมือง และวัดพิกุลทองวนารามน่าจะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของเมืองกลันตัน
4. เมืองปาหัง ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปาหังหรือโกโลเปก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังเปอร์กัน ซึ่งเป็นวังของพญาเมืองปาหังหรือเจ้าเมืองรัฐปาหัง เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากทะเล 2 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำปาหังประมาณ 2 กิโลเมตร
เมืองปาหังเป็นเมืองเก่าแก่โบราณและเป็นชุมชนตอนล่างของแหลมมลายู เมืองนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองยโฮร์ ทิศตะวันออกติดกับฝั่งทะเล ทิศตะวันตกติดกับรัฐเนกรีเซมบิลัน รัฐสลังงอ และรัฐเประ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับรัฐตรังกานู เมืองปาหังเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สุดและเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีเถาะ ถือตรากระต่ายเป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
5. เมืองไทรบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของรัฐเกดะห์ในปัจจุบัน สถานที่ตั้งเมืองเมืองไทรบุรีน่าจะตั้งอยู่ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอโกตาร์สตาร์ รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย
เมืองไทรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่โบราณคู่กับเมืองปัตตานี ตำนานเมืองไทรบุรีกล่าวว่า ปัตตานีเป็นลังกาสุกะตะวันออก ส่วนเมืองไทรบุรีเป็นลังกาสุกะตะวันตก เจ้าเมืองไทรบุรีคนที่ 1- 6 นับถือศาสนาพุทธ คนที่ 7 เป็นต้นไป นับถือศาสนาอิสลาม เมืองไทรบุรีได้รับอารยธรรมจากอินเดีย เมืองนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด เป็นที่ตั้งหลักแหล่งการค้า มีหน้าที่ส่งเสบียงและภาษีมาบำรุงเมืองหลวง และเป็นเมืองท่าที่สำคัญของคาบสมุทรมลายูในการติดต่อกับจีนและอินเดียโดยผ่านช่องแคบมะละกา ในประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 ได้กลายเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะโรง ถือตรางูใหญ่เป็นตราประจำเมือง และมีวัดลำเด็นเป็นวัดประจำเมืองไทรบุรี
6. เมืองพัทลุง ตั้งอยู่บนสันทรายใหญ่ที่โคกเมืองบางแก้ว หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
เมืองพัทลุงเป็นเมืองเก่าแก่โบราณที่มีความใกล้ชิดกับเมืองนครศรีธรรมราชมากคล้ายกับเป็นเมืองเอกหรือเมืองลูกหลวง นครศรีธรรมราชเป็น “กรุงตามพรลิงค์” พัทลุงเป็น “กรุงพาราณสี”หรือ เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเสมือนเมืองปาตลีบุตร เมืองพัทลุงเป็นเสมือนเมืองพาราณสีหรือเมืองสทิงพาราณสี” และมีเจดีย์พระบรมธาตุเป็นศาสนสถานคู่เมือง เมืองพัทลุงมีพราหมณ์พฤฒิบาศซึ่งทำพิธีเกี่ยวกับเรื่องช้างอาศัยอยู่มาก จึงมีบทบาทหน้าที่เด่นและมีอำนาจมากทางด้านการปกครองและการศาสนา ตำนานนางเลือดขาวได้กล่าวว่า นางเลือดขาวเป็นผู้หญิงมีบุญญาธิการได้สร้างวัด สร้างพระพุทธรูปไว้หลายตำบลและพระยากุมารกับนางเลือดขาวเป็นเจ้าเมืองพัทลุง เมืองพัทลุงเป็นหัวเมืองขึ้นหรือเมืองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะเส็ง ถือตรางูเล็กเป็นตราประจำเมือง และมีวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดประจำเมืองพัทลุง
7. เมืองตรัง ตั้งอยู่ริมฝั่งของแม่น้ำตรัง บริเวณบ้านห้วยยอดกับบ้านลำภูรา ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
เมืองตรังเป็นเมืองหนึ่งที่ไม่ใหญ่โตมากนัก เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญที่สุดของฝั่งทะเลด้านตะวันตก เป็นเมืองท่าเรือ เป็นเมืองหน้าด่าน เพื่อใช้สำหรับการติดต่อกับโลกภายนอก จึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนประตูบ้านประตูเมืองประจำด้านฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของแหลมมลายู เมืองตรังเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชมีหน้าที่คอยดูแลรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า ทรัพยากร และภาษีส่วย ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์เสด็จออกจากเมืองลังกามาขึ้นท่าเรือที่เมืองตรัง และตำนานนางเลือดขาวได้กล่าวว่า นางเลือดขาวผู้มีบุญญาธิการกับพระยากุมารพร้อมด้วยคณะเดินทางไปแสวงบุญยังเกาะลังกาทั้งไปและกลับต้องมาลงเรือและขึ้นเรือที่ท่าเมืองตรัง เมืองตรังเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะเมีย ถือตราม้าเป็นตราประจำเมือง และมีวัดย่านเลือนเป็นวัดประจำเมืองตรัง
8. เมืองชุมพร ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำชุมพร บริเวณบ้านประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
เมืองชุมพรตั้งอยู่เหนือสุด เป็นช่วงต่อแดนระหว่างเมืองประทิวกับเมืองบางสะพาน ซึ่งมีแนวแบ่งเขตตามธรรมชาติ ตามสัญญาระหว่างพระเจ้าอู่ทองกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมืองชุมพรได้ชื่อว่า “เมืองเคราะห์ร้าย” เพราะเป็นเมืองหน้าด่านที่อ่อนแอ น้ำท่วมพร้อมทั้งถูกวาตภัยเป็นประจำ พลเมืองต้องทุกข์ยากในการดำรงชีวิตและจุดที่ตั้งเป็นชุมทางยุทธศาสตร์เมืองหน้าด่านเกิดศึกสงครามทุกครั้งจะถูกโจมตี ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเสมอ จึงถือได้ว่าเมืองชุมพรได้รับความเดือดร้อนแสนเข็ญมากกว่าเมืองอื่นๆบนแหลมมลายู เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะแม ถือตราแพะเป็นตราประจำเมือง และมีวัดประเดิมเป็นวัดประจำเมืองชุมพร
9. เมืองบันไทยสมอ ตั้งอยู่ที่บ้านเวียง ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมืองบันไทยสมอหรือเมืองไชยา ศูนย์กลางเมืองตั้งอยู่ที่ราบลุ่มคลองไชยา ตัวเมืองตั้งอยู่บนสันทรายวางแนวเหนือใต้ ยาวประมาณ 288 เมตร กว้างประมาณ 278 เมตร รูปทรงสี่เหลี่ยม เรียกว่าเมืองพระเวียง เมืองนี้มีวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยศรีวิชัย และมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธนิกายมหายานและนิกายลังกาวงศ์และมีอิทธิพลของขอม มีพื้นที่ทำนาอันอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยมาจนถึงปัจจุบัน เมืองไชยยาเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางการเมือง เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ และเป็นเจ้าแห่งอ่าวบ้านดอนหรืออ่าวไชยา เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมก็มาเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีวอก ถือตราลิงเป็นตราประจำเมือง และมีวัดเวียงเป็นวัดประจำเมืองบันไทยสมอ
10. เมืองสะอุเลา ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าทองอุแทหรือท่าทองอุทัย ตำบลท่าทองอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมืองสะอุเลาเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองท่าทองเป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ตัวเมืองตั้งอยู่ในลุ่มน้ำท่าทอง มีการติดต่อและมีความสัมพันธ์กับเมืองคีรีรัฐนิคม มีพื้นที่ทำนาปลูกข้าวกว้างขวางโดยรวมเอาทั้งสิชลและขนอม ตลอดชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีระกา ถือตราไก่เป็นตราประจำเมือง และมีวัดประดู่ (วัดอุทยาราม) เป็นวัดประจำเมืองสะอุเลา
11. เมืองตะกั่วถลาง ตั้งอยู่ที่บ้านดอนและบ้านตะเคียน ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
เมืองตะกั่วถลางเดิมน่าจะอยู่ที่ตะกั่วป่าและตะกั่วทุ่ง ซึ่งหลักฐานนี้ชี้ชัดว่าเมืองถลางจะต้องมีทรัพยากรแร่ดีบุกเป็นสินค้าหลัก เมืองถลางจึงขยายตัวมาจากเมืองตะกั่วทุ่งและตะกั่วป่า สาเหตุเพราะต้องการลงไปขุดหาแร่ เนื่องจากแร่ต่างๆบนบกขุดหากันมานานจึงหายากขึ้น บนเกาะถลางมีแร่ดีบุกมากและเป็นแหล่งแร่ใหม่ซึ่งตลาดต้องการ จึงได้อพยพคนลงไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและขุดหาแร่ เป็นการขยายชุมชนออกไป เมืองตะกั่วถลางเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีจอ ถือตราสุนัขเป็นตราประจำเมือง และมีวัดพระนางสร้างเป็นวัดคู่เมืองตะกั่วถลาง
12. เมืองกระบุรี ตั้งอยู่บ้านนาน้อย ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
เมืองกระบุรีเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดและตรงส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู เป็นเมืองสุดท้ายที่มีขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นเมืองท่าและควบคุมเส้นทางเดินบกข้ามแหลมมลายูสู่ชุมพร เมืองนี้จึงไม่ค่อยมีบทบาทและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากนัก มีผู้คนอาศัยอยู่น้อย ที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณต้นน้ำกระบุรีหรือบริเวณปากน้ำจั่น มีภูเขาล้อมรอบเกือบทุกด้าน เมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งเมืองกระบุรีขึ้นเป็นเมืองสิบสองนักษัตร เพื่อป้องกันผลประโยชน์และดูแลรัฐนครศรีธรรมราช ทรงกำหนดให้เป็นปีกุน ถือตราสุกร(หมู) เป็นตราประจำเมือง และมีวัดจันทารามเป็นวัดประจำเมืองกระบุรี
ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองสิบสองนักษัตร โดยการยกฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และมีความพร้อมขึ้นเป็นเมืองในปีนักษัตรตามลำดับเมืองและปีนักษัตรนั้นๆ ส่วนการใช้รูปสัตว์ในปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้เลียนแบบจากวิธีการของพราหมณ์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบพุทธ โดยให้มีความหมายว่าจักรราศีทั้งหมดหมุนรอบแกนของจักรวาล คือ องค์ศรีธรรมาโศกราชที่เป็นประมุขของรัฐ พระองค์ทรงใช้ตราประจำเมืองหรือประจำพระองค์เป็นรูปดอกบัว ซึ่งเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์

หน้าที่ของเมืองสิบสองนักษัตร
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า พระอินทร์ได้ส่งพระวิษณุกรรม์ลงมาช่วยเหลือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ทรงตั้งเมืองสิบสองนักษัตรขึ้น เพื่อให้มาก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์และวิหารต่างๆ แต่ต้องประสบปัญหา คือ ไข้ห่า ผู้คนล้มตาย เมืองร้างอยู่เป็นเวลานาน พระนิพพานโสตรได้กล่าวว่าเมื่อกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์เสร็จแล้ว ทรงเปิดโอกาสให้เมืองสิบสองนักษัตรเป็นผู้รับผิดชอบหรือทำหน้าที่สร้างสรรค์และทะนุบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ได้ส่งผลให้หัวเมืองน้อยใหญ่ในรัฐได้มีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดกับศูนย์รวมแห่งความศักดิ์ จึงส่งผลให้ระบบความเชื่อเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้และพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในรัฐนี้และเป็นระบบความเชื่อที่มีการสืบต่อมาอย่างยาวนาน ดังที่ปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนในปลายของคาบสมุทรมลายูยังคงเดินทางมาจารึกแสวงบุญ ณ ศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้สืบต่อกันมาตราบจนทั่งปัจจุบันนี้

สรุป
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐนครศรีธรรมราช ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชได้สถาปนาเมืองสิบสองนักษัตรขึ้นมาปกครองรัฐนี้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 เพราะในช่วงระยะเวลานี้เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังคนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าก็ดีขึ้น และศิลปวัฒนธรรมก็เจริญ เมืองสิบสองนักษัตรจึงมีหน้าที่ในการสร้างสรรค์และบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และการนำทรัพยากรมาเป็นสินค้าออกของรัฐอีกด้วย
เมืองสิบสองนักษัตรของรัฐนครศรีธรรมราชได้แก่ เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันไทยสมอ เมืองสะอุเลา เมืองตะกั่วถลาง และเมืองกระบุรี
เมืองสายบุรีตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำสายบุรี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมืองปัตตานีตั้งอยู่บริเวณบ้านวัด บ้านประแว และบ้านจาเละ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมืองกลันตันตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำกลันตัน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของนครโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมืองปาหังตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปาหัง (โกโลเปก) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังเปอร์กัน รัฐปาหัง ประเทศมาเลเซีย เมืองไทรบุรีตั้งอยู่ฝั่งทะเลทิศตะวันตก ปัจจุบันอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอโกตาร์สตาร์ รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย เมืองพัทลุงตั้งอยู่บนสันทรายใหญ่ที่โคกเมือง ตำบลจองถนน อำเภอ เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เมืองตรังตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำตรัง ที่บ้านห้วยยอด และบ้านลำภูรา ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เมืองชุมพรตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำชุมพร บริเวณบ้านประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เมืองบันไทยสมอตั้งอยู่ที่บ้านเวียง ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองสะอุเลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าทองอุแท ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองตะกั่วถลางตั้งอยู่ที่บ้านดอน และบ้านตะเคียน อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และเมืองกระบุรีตั้งอยู่ที่บ้านนาน้อย ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองสิบสองนักษัตรขึ้น โดยการยกฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ ทางยุทธศาสตร์ และความพร้อมของเมืองขึ้นตามลำดับก่อนหลัง โดยการใช้รูปสัตว์ในปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชใช้ตรารูปดอกบัวเป็นตราประจำเมือง เมื่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสำเร็จแล้ว ทรงเปิดโอกาสให้เมืองสิบสองนักษัตรเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสรรค์และทะนุบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์ จึงส่งผลให้เจ้าเมืองน้อยใหญ่ได้มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกัน มีระบบความเชื่อเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์ และพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ดังที่พุทธศาสนิกชนได้เดินทางมาแสวงบุญ ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จนถึงปัจจุบันนี้

เอกสารอ้างอิง
พระปราโมทย์ กลิ่นละมัย. การศึกษาบทบาททางการปกครองของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช : กรณีศึกษาจาก “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช”. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตร
มหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2550.

พุทธศาสนสุภาษิต
อุฏฺฐานกาลมฺหิ อนุฏฺฐหาโน ยุวา พลี อาลสิยํ อุเปโต
สํสนฺนสงฺกปฺปมโน กุสีโต ปญฺญาย มคฺคํ อลโส น วินฺทติ
บุคคลยังหนุ่มแน่นมีกำลัง (แต่) ไม่ขยันในกาลที่ควรขยัน เข้าถึงความเป็นผู้เกียจคร้าน
มีใจประกอบด้วยความดำริอันจมแล้ว ขี้เกียจ เกียจคร้าน ย่อมไม่ประสบทางด้วยปัญญา

ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชกับ การพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช

ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชกับการพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 – 19

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
รัฐนครศรีธรรมราชโบราณ เป็นรัฐที่ได้สถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 โดยราชวงศ์ตามพรลิงค์เป็นราชวงศ์แรกที่สถาปนารัฐตามพรลิงค์และปกครองรัฐนี้ตามจักรวาลวิทยาของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 โดยการสถาปนาระบบมัณฑละขึ้นเป็นหลักในการปกครอง เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลงจึงมีการสืบต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ราชวงศ์นี้ปกครองรัฐนครศรีธรรมราชหรือรัฐพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ พระองค์ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช สร้างพระบรมธาตุเจดีย์บนหาดทรายแก้ว เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถาปนาเมืองสิบนักษัตร เพื่อให้มีหน้าที่ในการสร้างสรรค์และบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์อันเป็นศูนย์กลางแห่งรัฐหรือศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนา การค้า การปกครอง และศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
พระพุทธศาสนานิกายหินยานจากประเทศศรีลังกาได้เผยแผ่เข้ามาสู่รัฐนครศรีธรรมราชเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาจากศรีลังกาในช่วงนี้มักจะเรียกกันว่า “นิกายลังกาวงศ์”หรือ“ลัทธิลังกาวงศ์”หรือ“นิกายเถรวาทสิงหล” พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในรัฐแห่งนี้ โดยมีนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของนิกายนี้ รวมทั้งยังส่งอิทธิพลไปยังดินแดนที่อยู่รายรอบอีกด้วย โดยได้เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องต่อมา จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลานี้พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้ส่งอิทธิพลอย่างขนานใหญ่ต่อศิลปวัฒนธรรมในรัฐนี้ ส่งผลให้เกิดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้หลายด้าน โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมในการสร้างสรรค์สถูปที่มีรูปแบบทางศิลปะที่โดดเด่น จนกลายเป็นรูปแบบทางศิลปะที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า“สถูปทรงลังกา” หรือ“เจดีย์ทรงลังกา”
บทบาทของรัฐนครศรีธรรมราชในฐานะของรัฐที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ โดยศูนย์กลางอยู่ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์อันตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำภูมิภาคที่ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่นิกายลังกาวงศ์ออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย และรัฐโบราณอื่นๆที่ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและอินโดจีนอีกด้วย จึงส่งผลให้พระพุทธศาสนานิกายนี้กลายเป็นศาสนาหลักของไทย ลาว และเขมร มาจนถึงปัจจุบันนี้
หาดทรายแก้วอันเป็นสถานที่ที่ตั้งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เอกสารโบราณได้กล่าวไว้ว่า “หาดทรายแก้วชเลรอบ” มีลักษณะเป็นหาดทรายกว้าง ยาว มีน้ำอยู่รอบ “โคกซายทะเลรอบ” มีลักษณะเป็นเกาะหรือเกาะแก้ว มีลักษณะเป็นหาดใหญ่กว้างรีตามริมทะเลที่รอบ “หาดทรายแก้ว” มีลักษณะเป็นหาดทรายที่ “เห็นแจ้งแผ้วอยู่ แจ่มใส ป่าอ้อป่าเล่าใหญ่ ทรายแววไวที่สำราญ” และรวมทั้งเป็นแหล่งที่ “แลดูสะอาด” เป็น “หาดทรายแก้วโสภา” เป็น “หาดทรายใหญ่” มี “แม่น้ำคลองท่า” มีลักษณะ “แจ้งแผ้วน้ำฟ้า” เป็นแหล่งที่ “ทำนมัสการที่สำคัญของพญานาค” และเป็นแหล่งที่ “มีในตำรา” คำพรรณนาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่มีความบริสุทธิ์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการนำเอาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานในพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ไปผูกกันเข้ากับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐแห่งนี้ที่ได้แพร่กระจายไปปรากฏขึ้นในสถานที่อื่นๆ ภายในรัฐที่มีสภาพภูมิประเทศศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากหาดทรายแก้ว เช่น สถูปวัดเจดีย์งาม สถูปวัดจะทิ้งพระ สถูปวัดเขียน และสถูปวัดพระธาตุสวี เป็นต้น
การรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวไว้ว่าการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหรือพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าไว้บนหาดทรายแก้วในครั้งนั้นได้ผูกกาภาพยนตร์ไว้เฝ้ารักษา เมื่อมีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุพระเจดีย์ ฝูงกาจึงทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ คือ กาแก้วรักษาทิศตะวันออก กาชาดรักษาทิศตะวันตก กาเดิมรักษาทิศเหนือ และการามรักษาทิศใต้ ต่อมาเมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้จัดระเบียบการปกครองสงฆ์ จึงทรงนำมงคลนามทั้ง 4 มาตั้งเป็นสมณศักดิ์พระสงฆ์ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ พระครูกาแก้วทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศตะวันออก และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีขาว พระครูกาชาดทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศตะวันตก และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีแดง พระครูกาเดิมทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศเหนือ และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีดำ และพระครูการามทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศใต้ และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีเหลือง โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์และมีปู่ครูหรือสังฆราชเป็นอธิบดีสงฆ์หรือประธานสงฆ์ การปกครองคณะสงฆ์จึงเป็นเพียงการควบคุมให้เป็นไปตามกฎของศาสนาอย่างเคร่งครัดและถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยเท่านั้น

การสถาปนาระบบเมืองสิบสองนักษัตร
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 พระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ได้สถาปนาลงอย่างมั่นคงในรัฐนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นรัฐพระพุทธศาสนา สถาปนาหาดทรายแก้วหรือตัวเมืองโบราณนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งรัฐ สืบต่อจากศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย สถาปนาชื่อรัฐศรีธรรมราชหรือนครศรีธรรมราช และสถาปนาราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชเป็นราชวงศ์แรกขึ้นปกครองรัฐพระพุทธศาสนา อันเป็นชื่อที่สืบสมุฏฐานมาจากพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ซึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาพระองค์หนึ่ง พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสถูปจำนวนมากมายมหาศาลในดินแดนต่างๆในประเทศอินเดีย เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่นี้ได้กลายเป็นประเพณีที่ได้สืบต่อมาสู่รัฐพระพุทธศาสนา คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งรัฐนครศรีธรรมราช ได้ทรงเจริญรอยตามพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้นบนหาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐอันศักดิ์สิทธิ์นี้
ตำนานประวัติศาสตร์ของรัฐนครศรีธรรมราชได้สะท้อนให้เห็นว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชอันเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐนี้ ยังเป็นบ่อเกิดหรือที่มาของการสถาปนาระบบเมืองขึ้นหรือเมืองบริวาร เรียกว่า เมืองขึ้น 12 นักษัตรหรือเมืองสิบสองนักษัตร ปกครองโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของเมืองเหล่านั้น เมืองนักษัตรเหล่านั้นมีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐแห่งนี้
ในช่วงระยะเวลานั้นเมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจกล้าแข็งที่สุดสามารถแผ่อำนาจอิทธิพลลงไปตลอดแหลมมลายู เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ล่มสลาย อาณาจักรขอมทางเหนือก็หมดอำนาจลงไป เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังผู้คนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าดีขึ้น ศิลปวัฒนธรรมก็เจริญได้จัดการปกครองหัวเมืองขึ้นเรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร ได้แก่ เมืองสายบุรี ปีชวด ถือตราหนู เมืองปัตตานี ปีฉลูถือตราวัว เมืองกลันตัน ปีขาลถือตราเสือ เมืองปาหัง ปีเถาะถือตรากระต่าย เมืองไทรบุรี ปีมะโรงถือตรางูใหญ่ เมืองพัทลุง ปีมะเส็งถือตรางูเล็ก เมืองตรัง ปีมะเมียถือตราม้า เมืองชุมพร ปีมะแมถือตราแพะ เมืองบันไทยสมอ ปีวอกถือตราลิง เมืองสะอุเลา ปีระกาถือตราไก่ เมืองตะกั่วถลาง ปีจอถือตราสุนัข และเมือง กระบุรี ปีกุนถือตราหมู
อาณาเขตของรัฐนครศรีธรรมราชบนคาบสมุทรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล โดยมีศูนย์กลางของรัฐหรือเมืองหลวงอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีเมืองขึ้น 12 เมืองหรือเมืองสิบสองนักษัตรรายรอบเหมือนดาวล้อมเดือน อาณาเขตของรัฐนี้ทางด้านทิศเหนือมีเมืองนักษัตรชุมพร อาณาเขตทางด้านทิศใต้มีเมืองนักษัตรปาหัง (ประเทศมาเลเซีย) อาณาเขตทางด้านทิศตะวันออกจดคาบสมุทรไทยและอาณาเขตทางด้านทิศตะวันตกมีเมืองนักษัตรตะกั่วถลาง จังหวัดภูเก็ตเป็น อาณาเขต
การปกครองรัฐนครศรีธรรมราชมีการปกครองด้วยเสนาบดี 4 ตำแหน่งเรียกว่า บาคู หรืออำมาตย์ ซึ่งคล้ายคลึงกันกับระบบจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา ของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยมีพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิหรืออธิบดีสงฆ์หรือ ปู่ครู หรือ สังฆราชของรัฐนี้เป็นที่ปรึกษาในการถวายความเห็นคล้ายกับพราหมณ์ปุโรหิต
การบริหารควบคุมเมืองบริวารภายในรัฐ ทำโดยการยึดฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และมีความพร้อมขึ้นเป็นเมืองหลัก ทำหน้าที่ควบคุมเมืองย่อยลงไปตามที่ได้จัดเขตปกครองไว้มีเจ้าเมืองเป็นผู้บริหาร ควบคุมเมืองในสังกัดของตน ทรงพระราชทานตราเมืองเป็นรูปสัตว์ประจำปีนักษัตร ใช้เป็นตราประทับหนังสือโต้ตอบระหว่างหัวเมืองกับเมืองหลวง ลักษณะการปกครองของเมืองที่สำคัญอาจะเลียนแบบของเมืองหลวงหรือเมืองหลักในการปกครอง โดยเมืองขึ้นเหล่านั้นจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการในเทศกาลสงกรานต์อันเป็นวันที่เปลี่ยนปีนักษัตร หรือวันเวลาที่กำหนดและตกลงกัน การเข้าร่วมในราชพิธีที่สำคัญ การเข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีในโอกาสต่างๆ และการเข้าร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชตามประเพณีเพื่อเป็นเครื่องทดลองความจงรักภักดีของเมืองขึ้นเหล่านั้น

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งการค้า
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 รัฐพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์นั้นนับได้ว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ที่สุดอีกยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์การค้าของรัฐนี้ รัฐนครศรีธรรมราชได้มีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะของรัฐที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู อันเนื่องมาจากช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางการค้านานาชาติตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น การค้าของราชวงศ์ปัลลวะ ราชวงศ์โจฬะ ราชวงศ์ซ้อง และราชวงศ์หยวน เป็นต้น เอกสารโบราณของจีนกล่าวว่ามีการค้าระหว่างรัฐนี้กับจีนมาอย่างต่อเนื่อง และหลักฐานทางโบราณคดีได้มีการค้นพบภาชนะดินเผาที่ผลิตขึ้นในราชวงศ์ซ้องและราชวงศ์หยวนในสถานที่ที่เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญของรัฐแห่งนี้ คือ อ่าวนครศรีธรรมราช อ่าวสงขลา และอ่าวบ้านดอน สินค้าหลักของรัฐนครศรีธรรมราชที่ส่งออกไปค้าขายกับจีนมีประเภทไม้หอม เครื่องเทศ งาช้าง ขี้ผึ้ง นกเงือก นอแรด และดีบุก เป็นต้น ส่วนสินค้าของจีนที่นำมาขายและแลกเปลี่ยนมี 3 ประเภท คือ ประเภทแรกสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ได้แก่ เกลือ ข้าวเจ้าที่สีแล้ว เหล็ก และภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดิน ประเภทที่สอง สิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ ได้แก่ ทองคำ เงิน ไหม ภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบและเครื่องเขินสำหรับบรรดาสมาชิกของชนชั้นผู้ปกครอง และประเภทที่สาม สิ่งของเครื่องใช้สำหรับในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและร่มกันแดด เป็นต้น

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรม
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 นั้น จึงเป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดูขึ้นอย่างมากมาย ดังนี้
1. สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์อยู่อาศัยและสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น สถาปัตยกรรมที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วิหารหลวง วิหารทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารทับเกษตร วิหารคดหรือพระระเบียง วิหารธรรมศาลา วิหารโพธิ์พระเดิม เจดีย์รายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์ยักษ์ กุฏิ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น
2. ประติมากรรมที่สร้างขึ้นมีลักษณะนูนและลอยตัว ประติมากรรมที่นูนสูงในเมืองนครศรีธรรมราชได้แก่ ซุ้มเรือนแก้ว ซุ้มช้าโผล่หัว พระพุทธรูป เป็นต้น ส่วนประติมากรรมที่ลอยตัวได้แก่ พระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น พระพุทธสิหิงค์ พระศรีศากยมุนี พระพุทธทนทกุมาร พระพุทธเหมชาลา พระพุทธศรีธรรมาโศกราช พระพุทธไสยาสน์ พระเงิน และพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ
3. จิตรกรรมที่เขียนบนฝาผนังอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น อุโบสถ วิหาร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี วิถีชีวิตและตำนานต่างๆ ได้แก่ ภาพเขียนที่เสาวิหารเขียน ฝ้าเพดานวิหารหลวงและวิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทศชาติชาดก วัดท้าวโคตร และจิตรกรรมอื่นๆ เช่น จิตรกรรมในหนังสือบุดที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วไปในเมืองนครศรีธรรมราช
4. วรรณกรรมที่แต่งขึ้นหรือการประพันธ์หนังสืออย่างดงาม สละสลวย และประณีตบรรจง ซึ่งเป็นสำนวนกวีของชาวนครศรีธรรมราช เช่น เรื่องสุบิน วันอังคาร ทินวงศ์ สีเสาร์ กระต่ายทอง พระรถเสนของนายเรือง นาใน และเสือโคของพระมี เป็นต้น และเอกสารโบราณประเภทหนังสือบุดหรือสมุดข่อยที่เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตำรายา และประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราชที่สำคัญ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนาน พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระนิพพานโสตร เป็นต้น
5. ประเพณีอันเป็นกิจกรรมหรือความประพฤติที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อที่จะนำคนเข้าสู่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เพื่อความสามัคคี และเพื่อบุญกุศลและความสุข อันเป็นวิถีชีวิตของชาวเมืองนครศรีธรรมราชมาแต่โบราณ ประเพณีเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเพณีที่จัดขึ้นตามฤดูกาล ได้แก่ ประเพณีให้ทานไฟ ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแรกนาขวัญ ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีลากพระ และประเพณีที่จัดขึ้นตามกาลเวลาอันเหมาะสม ได้แก่ ประเพณียกขันหมากพระปฐม ประเพณีสวดด้าน ประเพณีสวดมาลัย ประเพณีการทำนาหว้า ประเพณีการทำขวัญข้าว และประเพณีที่เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน และการทำศพ

สรุป
นครศรีธรรมราชได้สถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 โดยราชวงศ์ตามพรลิงค์และปกครองตามจักรวาลวิทยาระบบมัณฑละของศาสนาพราหมณ์ เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 จึงมีการสืบต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์ พระองค์ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ และสถาปนาเมืองสิบสองนักษัตร จึงทำให้เมืองนครศรีธรรมราชเจริญสูงสุด
พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้าสู่รัฐนครศรีธรรมราช และได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช จึงส่งผลให้เกิดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เจดีย์ทรงลังกา และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆและรัฐอื่นๆ
ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์หรือศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่นบหาดทรายแก้ว ส่วนการรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นั้นมีกา 4 ฝูงคือ กาแก้ว กาชาด กาเดิม และการาม ต่อมาเมื่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงนำมงคลนามทั้ง 4 มาตั้งเป็นสมณศักดิ์พระสงฆ์ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์และปกครองคณะสงฆ์
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงได้สถาปนาพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ลงในเมืองนครศรีธรรมราช สถาปนาหาดทรายแก้วเป็นตัวเมือง สถาปนาชื่อรัฐ “ศรีธรรมราช” หรือ “นครศรีธรรมราช” และสถาปนาราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชขึ้นปกครองรัฐนครศรีธรรมราช อันเป็นชื่อที่สืบสมุฏฐานมาจากพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์แห่งอินเดีย
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์และเป็นบ่อเกิดการสถาปนาระบบเมืองสิบสองนักษัตร ได้แก่ เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันไทยสมอ เมืองสะอุเลา เมืองตะกั่วถลาง และเมืองกระบุรี เมืองสิบสองนักษัตรเหล่านี้มีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์
อาณาเขตของรัฐนครศรีธรรมราชทิศเหนือมีเมืองนักษัตรชุมพร ทิศใต้มีเมืองนักษัตร ปาหัง ทิศตะวันออกจดคาบสมุทรไทย และทิศตะวันตกมีเมืองนักษัตรตะกั่วถลาง มีการปกครองด้วยเสนาบดี 4 ตำแห่ง เรียกว่า บาคู หรือ อำมาตย์ โดยมีปู่ครูเป็นที่ปรึกษา ทรงพระราชทานตราเมืองเป็นรูปปีนักษัตร โดยเมืองเหล่านั้นจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการตามวันเวลาที่กำหนดไว้และเข้าร่วมพระราชพิธีต่างๆ ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเมืองหลวง
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู เอกสารโบราณของจีนกล่าวว่านครศรีธรรมราชมีการค้ากับจีน สินค้าของรัฐนี้มีประเภทไม้หอม เครื่องเทศ งาช้าง ขี้ผึ้ง เป็นต้น ส่วนสินค้าของจีนมีสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในรัฐนครศรีธรรมราช จึงเป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ขึ้นอย่างมากมาย เช่น สถาปัตยกรรมการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ประติมากรรมการสร้างพระพุทธรูป จิตรกรรมฝาผนังและหนังสือบุด วรรณกรรมสำนวนกวีชาวนครศรีธรรมราช และประเพณีอันเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่สืบต่อกันมา เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู และประเพณีลากพระ เป็นต้น

พุทธศาสนสุภาษิต
โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส
พาโล จ ปณฺฑิตมานี ส เว พาโลติ วุจฺจติ
บุคคลใดโง่ ย่อมสำคัญความที่แห่งตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิต
เพราะเหตุนั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต
บุคคลนั้นแล เรียกว่า “คนโง่”

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีต่อศิลปกรรม เมืองนครศรีธรรมราช

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีต่อศิลปกรรม
เมืองนครศรีธรรมราช

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นบ่อเกิดศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญ และมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างสมขึ้นมาตามวุฒิปัญญา ความรู้ความสามารถของตนเอง ความเป็นอิสระในระบบความคิด และการแสดงออก เพื่อให้เกิดบุญกุศล ความสุข ความสามัคคี และเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตน นอกจากนั้นศิลปวัฒนธรรมยังมีคุณค่าในการกล่อมเกล่าจิตใจ ความเพลิดเพลิน และความสุขแก่ผู้สนใจอีกด้วย
ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน กล่าวถึงศิลปะไว้ว่า “ศิลปะเป็นสิ่งสูง อาจกล่อมเกลาจิตใจคนให้พ้นจิตใจเบื้องต่ำ คนดุร้ายกระด้างก็กลับเป็นตรงกันข้าม ที่ขลาดก็กลับกล้าหาญ ที่เกียจคร้านก็กลับขยัน เพราะด้วยอำนาจแห่งศิลปะเป็นเครื่องชักจูงโน้มน้าวใจ ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับอบรมจิตใจ ให้การศึกษาแก่พลเมืองให้มีคุณงามความดีประจำใจอยู่…..”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับศิลปะไว้เช่นเดียวกัน คือ
“อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์ เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า
ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา เขาจะพากันเย้ยให้ได้อาย”
จากคำกล่าวของปราชญ์ทั้งสองท่านที่กล่าวมาแล้ว พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าศิลปกรรมนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์เราเพียงใด และเมื่อเป็นเช่นนี้อนุชนรุ่นหลังควรจะได้สำนึกถึงความสำคัญและช่วยกันบำรุงรักษา หวงแหนและทะนุถนอมไว้ไม่ให้สูญหาย (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 271)

สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรม แปลว่า การก่อสร้าง หมายถึง อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องรอบๆ และภายในอาคารนั้น สถาปัตยกรรมแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ การสร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์เข้าไปอยู่อาศัยหรือประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น กุฏิ อาคาร บ้านเรือน เป็นต้น และสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น เช่น อุโบสถ วิหาร ศาลา เจดีย์ เป็นต้น ส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมจะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวและสมดุลได้แก่ ความงาม ความมั่งคงแข็งแรง และประโยชน์ในการใช้สอย (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 87)
เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่ได้ตั้งขึ้นโดยราชวงศ์ตามพรลิงค์ ประมาณ พ.ศ. 1100 – 1300 เมืองนี้ตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว สถาปัตยกรรมในช่วงนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย นับถือพระอิศวร และลัทธิไวษณพนิกาย นับถือพระนารายณ์ ต่อมาสมัยศรีวิชัย ประมาณ พ.ศ. 1300 – 1600 พระพุทธศาสนา นิกายมหายาน สถาปัตยกรรมในช่วงระยะเวลานี้ได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิม เจดีย์วัดเขาหลัก อำเภอทุ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีฐานอุโบสถ วิหาร เจดีย์ ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล และอำเภอขนอม เป็นต้น
สถาปัตยกรรมสมัยนครศรีธรรมราช ประมาณ พ.ศ. 1700 – 1900 สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วิหารหลวง วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารทับเกษตร วิหารคดหรือพระระเบียง วิหารธรรมศาลา วิหารโพธิ์พระเดิม เจดีย์รายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พระพุทธบาทจำลอง ประตูเยาวราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์ยักษ์ วัดพระเงิน เจดีย์ 3 องค์ วัดวังไทร อำเภอ ลานสกา หอพระพุทธสิหิงค์ วิหารสูง อุโบสถ วิหาร กุฏิตามวัดต่างๆ และรั้ววัดท่าโพธิ์ เป็นต้น (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 271 - 272)
สถาปัตยกรรมที่สำคัญที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของศรีลังกา คือ เจดีย์ทรงกลมหรือเจดีย์ทรงลังกา อันหมายถึงสถาปัตยกรรมหมายเลข 1 คือ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเจดีย์หรือสถูปทรงลังกา ขนาดสูงประมาณ 77 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน 22.98 เมตร ยอดหุ้มด้วยทองคำสูง 8.294 เมตร จากรูปแบบศิลปะที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีอายุอยู่ประมาณ พ.ศ. 1700 – 1800 ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า สร้างเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นในบริเวณหาดทรายแก้ว ตำนานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นคติความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกันกับพระบรมธาตุเจดีย์ในอินเดีย ศรีลังกา เจดีย์องค์นี้ได้บูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังแสดงให้เห็นว่าในขั้นต้นคงจะได้รับอิทธิพล จากต้นแบบเจดีย์กิริเวเหระ ในโปโลนนารุวะเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยรอบฐานมีการแบ่งเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีช้างโผล่ส่วนหัวออกมา ระหว่างซุ้มหัวช้างเหล่านั้นมีซุ้มเรือนแก้วภายในมีพระพุทธรูปส่วนปูนปั้นประดิษฐานอยู่ ส่วนฐานนี้ได้มีการสร้างหลังคาคลุมไว้รอบเรียกว่า ทับเกษตร ทางขึ้นไปทางด้านบนของลานประทักษิณล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณอยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในวิหารพระทรงม้า มุมทั้งสี่ของลานประทักษิณมีเจดีย์จำลองทรงลังกาสร้างไว้มุมละองค์ ตรงลานประทักษิณเป็นปากระฆังของเจดีย์ โดยปากระฆังติดกับพื้นลานประทักษิณ ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลมที่มีปากระฆังผายออกเล็กน้อย เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมทรงสูง ด้านข้างของบัลลังก์แต่ละด้านมีเสาประดับอยู่สลับกับช่องว่างเป็นช่องๆ ด้านบนของบัลลังก์ผายออก ตรงกลางบัลลังก์เป็นเสาหานประดับอยู่เป็นรูปวงกลม จำนวน 8 ต้น เสาแต่ละต้นประดิษฐานพระอรหันต์ปูนปั้นต้นละองค์ ถัดขึ้นไปทางด้านบนเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ทำเป็นรูปวงกลมเป็นปล้องๆ เรียกว่า ปล้องไฉน จนกระทั่งถึงประทุมโกศที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย โดยหุ้มด้วยทองคำตั้งแต่ส่วนนี้ไปจนถึงปลายสุดที่เรียกว่าปลียอดทองคำ (พระสมุห์ปราโมทย์ ปสุโต. 2550 : 156 - 157)

ประติมากรรม
ประติมากรรม แปลว่า จำลองหรือเทียมหรือแทน อันหมายถึงศิลปะเกี่ยวกับการปั้นและการแกะสลัก ประติมากรรมในเมืองนครศรีธรรมราชมี 3 ประเภท คือ
1. ประติมากรรมแบบนูนต่ำ มีลักษณะเป็นรูปที่นูนขึ้นมาจากพื้นหรือมีพื้นหลังรองรับ ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนเพียงด้านเดียว คือ ด้านหน้า มีความสูงจากพื้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรูปจริง ได้แก่ รูปนูนของเหรียญ รูปนูนที่ใช้ตกแต่งภาชนะ รูปนูนที่ใช้ประดับตกแต่งอาคารทางสถาปัตยกรรม โบสถ์ วิหารต่างๆ และพระเครื่องบางชนิด (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 91)
ประติมากรรมแบบนูนต่ำในเมืองนครศรีธรรมราช เช่น ประติมากรรมปูนปั้นรูปมหาภิเนษกรมณ์ฝาผนัง ประติมากรรมไม้บานประตูไม้จำหลักทางขึ้นลานประทักษิณ 1 คู่ รูปพระพรหม 4 กรและรูปพระนารายณ์ในวิหารพระทรงม้า ประติมากรรมหน้าบันด้านหน้าของพระวิหารหลวงแกะสลักไม้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประติมากรรมหน้าบันด้านหลังของพระวิหารหลวงเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ประติมากรรมรอยพระพุทธบาทจำลอง วัด พระธาตุวรมหาวิหาร หน้าบันแกะสลักไม้ของโบสถ์เก่าวัดสระเรียง เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เป็นต้น
2. ประติมากรรมแบบนูนสูง มีลักษณะเป็นรูปต่างๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับแบบนูนต่ำ แต่มีความสูงจากพื้นตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของรูปจริงขึ้นไป ทำให้มองเห็นลวดลายที่ลึกได้ชัดเจน และเหมือนจริงมากกว่าแบบนูนต่ำ ซึ่งใช้งานแบบเดียวกันกับแบบนูนต่ำ (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 92)
ประติมากรรมแบบนูนสูงในเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ ประติมกรรมซุ้มเรือนแก้ว ประติมากรรมซุ้มช้างโผล่ส่วนหัวรอบๆ องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ภายในวิหารทับเกษตร และประติมากรรมปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้า รอยพระพุทธบาทด้านหน้าอุโบสถวัด สวนหลวง เป็นต้น
3. ประติมากรรมแบบลอยตัว มีลักษณะเป็นรูปที่มองเห็นได้รอบด้านหรือมองเห็นได้ทั้ง 4 ด้านขึ้นไป ได้แก่ รูปเคารพต่างๆ พระพุทธรูป เทวรูป รูปบุคคลสำคัญ รูปสัตว์ เป็นต้น
ประติมากรรมแบบลอยตัวในเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ พระพุทธรูปสกุลช่างนครศรีธรรมราชปางต่างๆ เช่น พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานที่หอพระพุทธสิหิงค์ พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช ปางมารวิชัย เป็นพระประธานประดิษฐานในพระวิหารหลวง พระธรรมศาลา ปางมารวิชัย เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในวิหารธรรมศาลา พระประธานปางมารวิชัย แบบอู่ทอง เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในวิหารเขียน พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าชายทนทกุมาร ทรงประทับยืน ปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่หน้าวิหารพระธรรมศาลา พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าหญิงเหมชาลา ทรงประทับยืน ทรงเครื่องกษัตริย์โบราณ ปางห้ามญาติ ประดิษฐานด้านหลังพระวิหารธรรมศาลา พระพุทธรูปแทนองค์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปางมารวิชัย ทรงเครื่องกษัตริย์โบราณสวมชฎายอดสูง ประดิษฐานในพระวิหารสามจอม พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารโพธิ์ลังกา พระบุญมาก ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใต้วิหารรอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปหินเขียว ปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารโพธิ์ลังกา พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าพระยานคร (พัฒน์) และพระพุทธรูปแทนองค์เจ้าพระยานคร (น้อย) ประดิษฐานอยู่ในวิหารเขียน พระพวย ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าวิหารโพธิ์ลังกา พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ ประดิษฐานในวิหารโพธิ์พระเดิม พระเงิน ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเงิน วัดพระเงิน พระประธานในอุโบสถหลังเก่าวัดท้าวโคตร พระประธานในอุโบสถวัดชายนา พระประธานในวิหารสูง พระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตรหรือพระลาก ที่ใช้ในพิธีชักพระหรือแห่พระ พระพุทธรูปวัดต่างๆ ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และสิงห์สีแดง สีเหลือง สีดำ 4 คู่ในเมืองนครศรีธรรมราช
ประติมากรรมที่โดดเด่นของเมืองนครศรีธรรมราช คือ พระพุทธสิหิงค์สกุลช่างนครศรีธรรมราช พระพุทธสิหิงค์ของนครศรีธรรมราช ปัจจุบันประดิษฐาน ณ หอพระพุทธ
สิหิงค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์นครศรีธรรมราช เป็นองค์ต้นแบบ มีหน้าตักประมาณ 32 เซนติเมตร สูง 42 เซนติเมตร เนื้อทองสำริด เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะท่าทางเหมือนราชสีห์ นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ทรงมีพระอุษณีษะนูนขึ้นเป็นรูปทรงกลม เม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม อวบอิ่ม พระขนงและพระเนตรได้สัดส่วน พระเนตรมองตรง มีพระโอษฐ์อวบอิ่ม พระกรรณยาว พระศอเป็นลอนเป็นชั้นๆ พระอังสาอวบอิ่มราบเรียบเกือบจะเป็นแนวตรง ครองจีวรห่มเฉียง มีสังฆาฏิพาดอยู่เหนือพระอังสาซ้าย โดยชายสังฆาฏิสั้นปลายเป็นกลีบแฉกซ้อนกันหลายชั้นอยู่เหนือพระถัน พระอุระอวบอ้วนแล้วค่อยๆ ราบลงมาเป็นรูปคอดกิ่วที่บั้นพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองข้างกลมกลึง พระหนุ (คาง) มีรอยพับลึกลงไปทั้งสองด้านแบบคางสิงโต ฐานเตี้ยและเรียบไม่มีบัวรองรับ (ฐานบัวเพิ่งทำใหม่ในรัชกาลที่ 5) ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธสิหิงค์เป็นองค์ต้นแบบ กลมป้อม อ้วนล่ำ กล้ามเป็นมัด คล้ายกับคนเกร็งกล้ามเนื้อ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “พระขนมต้ม” เพราะรูปทรงล่ำเป็นมัดอย่างขนมต้ม แต่องค์ต้นแบบมีความอ่อนหวาน มีความสมบูรณ์ สมส่วนสวยงามมากกว่าองค์อื่นๆ ซึ่งบางองค์ถ้ามองดูด้านข้างจะคล้ายกับสิงห์จริงๆ ตามตำนานของพระพุทธสิหิงค์ที่กล่าวไว้
(พระสมุห์ปราโมทย์ ปสุโต. 2550 : 163)
จิตรกรรม
จิตรกรรม หมายถึงศิลปะประเภทหนึ่งในทัศนศิลป์ที่เกี่ยวกับการเขียนการวาด มีลักษณะเป็นศิลปะที่มีความประณีตสวยงาม แสดงออกถึงความรู้สึกมีชีวิตจิตใจ ที่มีความอ่อนโยน ละมุนละไม และมีรูปแบบที่พิเศษ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการแสดงการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ ของแต่ละยุค และสาระอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพจิตกรรม งานจิตรกรรมให้ความรู้สึกในความงามอันบริสุทธิ์ น่าชื่นชม เสริมสร้างสุนทรีภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษยชาติได้โดยทั่วไป จิตกรรมนิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและอาคารที่เกี่ยวกับบุคคลชั้นสูง เช่น อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง วัง บนผืนผ้า กระดาษ ไม้กระดานและบนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ โดยเขียนด้วยสีฝุ่น ตามกรรมวิธีของช่างเขียนโบราณ เนื้อหาที่เขียนมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี วิถีชีวิต และพงศาวดารต่างๆ ส่วนใหญ่นิยมเขียนประดับฝาผนังอุโบสถ วิหารอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา จิตกรรมแบบนี้เป็นจิตรกรรมแบบอุดมคติที่เป็นเรื่องราวลึกลับและอัศจรรย์ (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 101)
จิตรกรรมในเมืองนครศรีธรรมราชมีปรากฏอยู่น้อยมาก อาจจะเนื่องมาจากระยะเวลาอันยาวนานของความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในเมืองนี้ สถาปัตยกรรมในระยะแรกๆ เช่น อุโบสถ วิหาร ได้ชำรุดทรุดโทรม และได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนหลังเก่า จิตรกรรมฝาผนังก็ได้รับความเสียหายไปพร้อมกับสถาปัตยกรรมเหล่านั้น จิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันได้แก่ จิตรกรรมที่เสาวิหารเขียน วิหารเขียนหลังนี้เมื่อก่อนมีภาพเขียนทั้งฝาผนังและเสาของวิหารเป็นภาพลายเส้นศิลปะสมัยอยุธยา ปัจจุบันเหลือแต่จิตรกรรมเสาวิหารเท่านั้น จิตรกรรมที่ฝ้าเพดานวิหารทรงม้า และวิหารหลวง มีภาพลายดารกาเป็นแฉก มีรัศมีสวยงาม วัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร จิตรกรรมภาพทศชาติชาดกบนไม้กระดานในอุโบสถวัดท้าวโคตร และจิตกรรมอื่นๆ เช่น หนังสือบุดหรือสมุดข่อย เรื่องพระมาลัย ไตรภูมิพระร่วง ดังที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วไปในเมืองนครศรีธรรมราช (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 274 - 275)
คุณค่าของศิลปกรรม
ศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลของพระพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลแบบสหวิทยาการ ถือได้ว่าเป็นแหล่งขุมความรู้โดยเฉพาะเรื่องราวจากอดีตที่สำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่มายาวนานของเมืองนครศรีธรรมราช ประโยชน์ของงานศิลปกรรม นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าของงานศิลปะแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านอื่นๆ อีกมาก (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 102) ดังนี้
1. คุณค่าในทางประวัติศาสตร์
2. คุณค่าในทางศิลปะ
3. คุณค่าในเรื่องเชื้อชาติ
4. คุณค่าในเชิงสังคมวิทยา
5. คุณค่าในด้านโบราณคดี
6. คุณค่าในการศึกษาประเพณีและวัฒนธรรม
7. คุณค่าในการศึกษาเรื่องทัศนคติค่านิยม
8. คุณค่าในการศึกษานิเวศวิทยา
9. คุณค่าในการศึกษาเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
10. คุณค่าในทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

สรุป
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ จึงเป็นบ่อเกิดศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งในเมืองนครศรีธรรมราชจำนวนมากมาย ศิลปกรรมเหล่านี้จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า อันเกิดมาจากสติปัญญาของนักคิด นักปราชญ์ที่มีภูมิรู้และพลังศรัทธากับพระพุทธศาสนา
สถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารและสิ่งก่อสร้างแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอยู่อาศัยและสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอย และจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ มีความงาม ความมั่นคงแข็งแรง และเป็นประโยชน์ในการใช้สอย
นครศรีธรรมราชมีสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ นิกายหินยาน และศาสนาพุทธ นิกายลังกาวงศ์ สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พระวิหารหลวง และวิหารทับเกษตร เป็นต้น
ประติมากรรมที่เป็นศิลปะเกี่ยวกับการปั้นและการแกะสลักมี 3 แบบ คือ ประติมากรรมแบบนูนต่ำ ประติมากรรมแบบนูนสูง และประติมากรรมแบบลอยตัว
นครศรีธรรมราชมีประติมากรรมที่สำคัญและโดดเด่น คือ ประติมากรรมแบบนูนต่ำและนูนสูง ได้แก่ ประติมากรรมปูนปั้นฝาผนังภาพมหาภิเนษกรมณ์ ประติมากรรมปูนปั้นภาพพุทธประวัติ วัดสวนหลวง เป็นต้น และประติมากรรมแบบลอยตัว ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางต่างๆ ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ เป็นต้น
จิตกรรมที่เป็นภาพวาดและการเขียนลายเส้น เป็นศิลปะที่มีความสวยงาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อการศึกษา จิตกรรมนิยมเขียนที่ฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและอาคารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลชั้นสูง เช่น อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง และวัง เป็นต้น จิตกรใช้สีฝุ่นเขียนตามกรรมวิธีโบราณ และนิยมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี เป็นต้น
นครศรีธรรมราชมีจิตกรรมปรากฏอยู่น้อยมาก เพราะระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมจึงชำรุดทรุดโทรม และได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนสถาปัตยกรรมเก่า จิตรกรรมก็ถูกทำลายไปด้วย จิตรกรรมที่ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันได้แก่ จิตรกรรมลายเส้นเสาวิหารเขียน จิตกรรมภาพทศชาติชาดก ในอุโบสถวัดท้าวโคตร เป็นต้น
ประโยชน์และคุณค่าของศิลปกรรมในเมืองนครศรีธรรมราชที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมา ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะ เชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา นิเวศวิทยา ทัศนคติค่านิยม เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

ราชวงศ์ตามพรลิงค์กับการพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช

ราชวงศ์ตามพรลิงค์กับการพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช
พุทธศตวรรษที่ 11 – 16


พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนาและการค้ามาตั้งสมัยโบราณมากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเมืองนี้จึงเป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างอินเดียและตะวันออกกลางกับอินโดจีน ตลอดไปถึงประเทศจีน
จากความเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ จึงทำให้ชนชาติที่ผ่านดินแดนแห่งนี้ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1,800 ปีมาแล้ว หลักฐานที่ได้กล่าวถึงนี้ เฉพาะชื่อเมืองที่ได้ปรากฏชื่อที่ต่างกันหลายชื่ออันได้แก่ ตมฺพลิงฺคมฺ(ตัมพะลิงคัม) ตันมาลิง ตามพรลิงค์ ตมะลิงคาม กรุงศรีธรรมาโศก ศรีธรรมราช สิริธรรมนคร โลแค็ก ปาฏลีบุตร ลิงกอร์ ลิกอร์ ละคร และนครศรีธรรมราช เป็นต้น
เมืองนครศรีธรรมราชโบราณได้ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ยืนยันได้ว่านครศรีธรรมราชมีกำเนิดมาแล้วตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 มาแล้ว เมืองโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันทรายเก่าที่เรียกว่า หาดทรายแก้ว หาดทรายนี้ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของคลื่นลมจากทะเลเมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา มีความยาวไปตามทิศเหนือใต้ ประมาณ 100 กิโลเมตร จากอำเภอขนอมถึงอำเภอชะอวด และอำเภอเชียรใหญ่ สันทรายอันเป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม จึงกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยหรือเป็นชุมชนเมืองมาแต่โบราณกาล และที่ราบลุ่มระหว่างสันทรายก็จะกลายเป็นที่ทำนาเพาะปลูกอย่างดีอันเป็นรากเหง้าของอารยธรรมแห่งเมืองนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา
ชาวพื้นเมืองในยุคแรกเชื่อกันว่าน่าจะอาศัยอยู่ที่อำเภอลานสกาต่อมาเมื่อแผ่นดินชายฝั่งทะเลได้งอกออกไป ไม่สะดวกในการติดต่อทำการค้า การเดินเรือทะเล จึงได้อพยพออกไปตั้งบ้านเรือนบนที่ดอนสันทรายชายทะเล อันเป็นเหตุให้เกิดชุมชนเมืองขึ้นบนหาดทรายแก้ว เมื่อพวกอินเดียได้เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับชนพื้นเมืองและได้นำเอาศาสนา อารยธรรม และเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่ เมืองตามพรลิงค์จึงได้มีกำเนิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 - 8 ในฐานะเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์บาลีมหานิทเทศ
รัฐตามพรลิงค์ได้ถือกำเนิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 - 12 และได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นนครรัฐ ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ตามพรลิงค์ กษัตริย์ในราชวงศ์นี้ทรงยอมรับนับถือและส่งเสริมศาสนาพราหมณ์เป็นสำคัญ จึงขนานนามเมืองตามศาสนาที่ประชาชนเคารพนับถือว่า ตามพรลิงค์ แปลว่า ลิงค์ทองแดง อันหมายถึง พระอิศวรหรือสัญลักษณ์ของพระอิศวร และที่มีชาวอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานแต่งงานกับชาวพื้นเมืองจำนวนมาก รัฐตามพรลิงค์เริ่มมีบทบาททางการเมือง การปกครอง และการค้าทางทะเลอย่างกว้างขวาง ในฐานะเมืองท่าใหญ่จึงได้ปรากฏชื่อในจดหมายเหตุจีนเสมอ ซึ่งเรียกรัฐตามพรลิงค์ว่า อาณาจักรตานหลิวเหมยบ้าง ตานหมาลิ่งบ้าง ได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้ากับเมืองจีนหลายครั้ง ทางฝ่ายจีนก็ได้ส่งเรือสำเภาติดต่อค้าขายกับรัฐตามพรลิงค์เสมอเช่นกัน

รัฐการค้าตามพรลิงค์
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองตามพรลิงค์มีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมมาแต่โบราณ คือ
1. ความอุดมสมบูรณ์ทางสินแร่ เครื่องเทศ ของป่า และรัตนชาตินานาชนิด จึงกลายเป็นศูนย์กลางของการติดต่อค้าขายมาแต่โบราณ สินค้าที่ชาวต่างชาติต้องการมีทั้งประเภทสินค้าที่จำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่สำคัญที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ในจดหมายเหตุจีน และบันทึกของชาวอาหรับว่า ที่ชนต่างชาติต้องการจากบริเวณนี้มากเป็นพิเศษ คือ
ประเภทเครื่องเทศ ได้แก่ กระวาน (ลูกเอ็น) ก้านพลู การบูร มะพร้าว แก่นจันทร์ กฤษณา พริกไทย ดีปลี ไม้หอม ยางไม้หอม ขิง ข่า ลูกจันทร์ มหาหิงคุ์ น้ำมันหอม กำยาน และเครื่องเทศหรือเครื่องปรุงอาหาร
ประเภทของมีค่า ได้แก่ หินที่มีค่าหายาก เช่น หินแก้ว ไข่มุก พลอย หินมีลาย สีย้อมผ้า เป็นต้น
ประเภทผลิตผลจากป่าและสัตว์ ได้แก่ งาช้าง เขาสัตว์ หนังสัตว์ สมุนไพร สัตว์ป่า และปลาน้ำจืด เป็นต้น
ประเภทโลหะ ได้แก่ ทองคำ เงิน ดีบุก ตะกั่ว และพลวง เป็นต้น
2. เป็นตำแหน่งที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินเรือนานาชาติ โดยเฉพาะในการเดินทางติดต่อกันระหว่างจีน อินเดีย และประเทศต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งแหลมมาลายูตอนเหนือเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม เมืองตามพรลิงค์จึงเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ มีเศรษฐกิจที่มั่นคงอยู่ตลอดประวัติศาสตร์ทางการค้าไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย อาหรับ และประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ศูนย์กลางความเจริญของรัฐตามพรลิงค์
รัฐตามพรลิงค์ในยุคแรกมีศูนย์กลางความเจริญและชุมชนใหญ่ 3 แห่ง คือ
1. ชุมชนเสาเภา ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของแนวสันทรายชายทะเล คือ อาณาบริเวณที่เป็นเขตอำเภอสิชล มีศูนย์กลางความเจริญอยู่บริเวณตำบลเสาเภาและบริเวณใกล้เคียง คือ เป็นชุมชนที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มคลองท่าเรือรี คลองท่าทน มีซากเทวสถานที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-14 และหลังจากนั้นอยู่กระจายอย่างหนาแน่น และนอกจากที่ตำบลเสาเภาแล้วในตำบลสิชล ตำบลฉลองก็มีมากไม่แพ้กัน แต่โบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เทวาลัยบนเขาคา
2. ชุมชนโมคลาน ตั้งถัดมาทางใต้ในเขตท้องที่อำเภอท่าศาลามีคลองโมคลาน(คลองปากพยิง) เป็นคลองสำคัญประจำชุมชน ที่เรือสำเภาขนาดใหญ่สามารถเล่นเข้าไปได้สะดวก วัดโมคลาน ตำบลโมคลาน เป็นศูนย์กลางที่สำคัญเก่าแก่ที่สุด ชุมชนแห่งนี้มีพื้นที่ทำนาเพาะปลูกอันอุดมสมบูรณ์กระจายไปถึงตำบลไทรบุรี ตำบลทราย และตำบลอื่นๆ จึงเป็นเหตุให้ได้พบกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ เช่น ซากเทวาลัย ชิ้นส่วนของพระพุทธรูป เทวรูป ศิวลึงค์ เป็นต้น ซึ่งมีอายุมาตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์ถึงสมัยลพบุรีกระจายอยู่ทั่วไปทุกตำบล ตลอดจนกลองมโหระทึกรุ่นเก่าที่ได้พบในเขตนี้ด้วย
3. ชุมชนท่าเรือ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของแนวสันทรายชายทะเลอ่าวไทย คือ อาณาบริเวณที่เป็นอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชเนื่องจากเป็นพื้นที่มีชัยภูมิที่เหมาะสม คือ มีคลองท่าเรือเป็นคลองสายหลักประจำชุมชน เรือสำเภาสามารถแล่นเข้าไปได้สะดวกถึงสันทรายที่ตั้งชุมชน และสามารถแล่นผ่านเข้าไปถึงเขตใน คือ อำเภอลานสกาอีกทั้งบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบลุ่มทำนาเพาะปลูกจำนวนมากหรือมีมากกว่าชุมชนอื่น เพราะมีพื้นที่ราบชายฝั่งกว้างใหญ่กว่า 2 แห่งแรกมาก และมีคลองไหลผ่านหลายสาย เช่น คลองท่าแพ (คลองปากพูน) คลองปากพญา(คลองท่าวัง) คลองปากนคร(คลองท่าเรือ) เป็นต้น จึงเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์มาก ศูนย์กลางชุมชนเริ่มแรกอยู่บริเวณบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ และโบราณสถานที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่วัดโพธิ์ (ร้าง) ต่อมาจึงได้ขยับขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย มาตั้งเมืองใหม่เรียกว่าเมืองพระเวียง เป็นเมืองชนิดมีกำแพงและ คูเมืองอย่างมั่นคงแข็งแรง

กษัตริย์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์
กษัตริย์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์ทรงใช้ปรัชญาความคิดทางจิตวิญญาณอันเป็นหัวใจสำหรับการทรงให้เหตุผลสนับสนุนหรือพิสูจน์พระองค์เอง และทรงใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแข็งแกร่งให้อำนาจแห่งความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการที่ทรงเป็นพระศิวะหรือพระอิศวรแห่ง ตามพรลิงค์ อันเป็นปรัชญาความคิดเกี่ยวกับเทพ-กษัตริย์ (God-King) กษัตริย์ทรงได้รับการเคารพเชื่อถือว่าทรงเป็นอวตารปางหนึ่งของพระศิวะ และปรัชญาความคิดเกี่ยวกับเทพ - กษัตริย์ในองค์เดียวกันอันเป็นศูนย์กลางสัจธรรมทั้งมวลของวิถีชีวิตในรัฐตามพรลิงค์
ประการที่สอง ปรัชญาความคิดของศาสนาพราหมณ์เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาของโลก (World Cosmology) อันเป็นสถานที่ซึ่งภูขาอันลี้ลับเป็นที่สถิตของเหล่าเทพเจ้า และตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของจักรวาล ภูเขาแห่งนี้อันเป็นจุดบรรจบของพื้นโลกกับสวรรค์

การปกครองของราชวงศ์ตามพรลิงค์
การปกครองของราชวงศ์ตามพรลิงค์ ศิลาจารึกหลักที่ 28 (ศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร) ได้แสดงให้เห็นว่า ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ผู้ปกครองรัฐตามพรลิงค์ได้รับการสถาปนาจากคณะพราหมณ์ของคณะพระอคัสตยะให้กลายเป็นพระศิวะหรือพระอิศวรแห่ง ตามพรลิงค์จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า เทพ - กษัตริย์ของรัฐตามพรลิงค์ทรงเป็นผู้นำทางการปกครองและผู้นำทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย
รัฐตามพรลิงค์มีศูนย์กลางของรัฐตั้งอยู่บนสันทรายเก่าหรือหาดทรายแก้วเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองที่เทพ - กษัตริย์ประทับอยู่จึงเป็นเมืองที่มีฐานะเป็นตีรถะ(สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะไปแสวงบุญหรือประตูสวรรค์กับพื้นโลกหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังอำนาจและความบริสุทธิ์) ที่สำคัญของศาสนาพรหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย จึงมีเทวาลัย (สถานที่ประทับของ เทพเจ้า) ที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่หนาแน่นบนสันทรายเก่าหรือหาดทรายแก้ว เมืองตามพรลิงค์จึงมีมัณฑละหรือแผนผังของจักรวาลตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก จึงชี้ให้เห็นว่าที่ตั้งเมืองนี้มีสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าบริเวณอื่นๆภายในรัฐตามพรลิงค์แห่งนี้
การรวมกลุ่มของมัณฑละเล็กๆ เป็นมัณฑละใหญ่เป็นระบบการปกครองของราชวงศ์ตามพรลิงค์โดยการกระจายอำนาจเทพ - กษัตริย์ของรัฐตามพรลิงค์ลงมาสู่ผู้ปกครองที่เป็นศูนย์กลางของมัณฑละแต่ละกลุ่ม หัวหน้าผู้ปกครองมัณฑละเหล่านั้นจะกระจายอำนาจนั้นลงไป สู่มัณฑละเล็กๆที่อยู่รายรอบศูนย์กลางของกลุ่มอีกทอดหนึ่ง และหัวหน้าผู้ปกครองของมัณฑละเล็กๆ แต่ละแห่งกระจายอำนาจนั้นไปสู่ชุมชนที่อยู่รายรอบมัณฑละนั้น เช่น กลุ่มมัณฑละบนหาดทรายแก้ว อำเภอเมือง กลุ่มมัณฑละคลองท้อน (หุบเขาช่องคอย) อำเภอจุฬาภรณ์ กลุ่มมัณฑละบ้านโมคลาน (วัดโมคลาน) อำเภอท่าศาลา กลุ่มมัณฑละคลองกลาย (บ้านทุ่งพัน) อำเภอท่าศาลา กลุ่มมัณฑละคลองท่าทน (เขาคา) อำเภอสิชล กลุ่มมัณฑละคลองท่าควาย (บ้านท่าควาย) อำเภอสิชล กลุ่มมัณฑละคลองท่าเรือรี(วัดนาขอม)(ร้าง) อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มมัณฑละ แม่น้ำตาปี (เขาศรีวิชัย) อำเภอพุนพิน กลุ่มมัณฑละคลองท่าชนะ (วัดพระพิฆเณศวรว์)(ร้าง) อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี กลุมมัณฑละทะเลสาบสงขลา (เขาคูหา) อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และกลุ่มมัณฑละแม่น้ำตะกั่วป่า (เกาะคอเขา) อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่าจังหวัดพังงา

อาณาเขตของรัฐตามพรลิงค์
การสถาปนารัฐตามพรลิงค์ลงบนหาดทรายแก้วอันเป็นรัฐแห่งศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-16 โดยใช้มัณฑละบนหาดทรายแก้ว (ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง) เป็นศูนย์กลางแห่งรัฐที่ใช้ในการปกครองของราชวงศ์ตามพรลิงค์ รัฐตามพรลิงค์มีอาณาเขตกว้างไกล อาณาเขตด้านทิศเหนือมีมัณฑละอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอาณาเขตเพียงแค่เทวาลัยในวัดประเดิม (วัดสุทธาวาสธาราม) อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ทางด้านทิศใต้มีระบบมัณฑละอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอาณาเขตบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ทางด้านทิศตะวันตกมีระบบมัณฑละอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอาณาเขตจนถึงเทวาลัยในเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 16 และต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายในรัฐตามพรลิงค์ได้ค่อยๆ ร่วงโรยลง ในขณะเดียวกันที่พระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ได้ค่อยๆ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จึงได้ค่อยๆ เข้ามาแทนความสำคัญของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างผสมกลมกลืนในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องยาวนานที่ปราศจากความขัดแย้ง ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ได้สถาปนาขึ้นบนหาดทรายแก้วในประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยได้ใช้ศูนย์กลางแห่งรัฐทางด้านทิศใต้ของเทวาลัย (พระพุทธบาทจำลอง) ณ วัดพระเดิม (ร้าง) เพียงเล็กน้อย ศูนย์กลางแห่งรัฐพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์อยู่ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลง จึงได้มีการสือต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช และเป็นรัฐนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา

สรุป
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสนา โบราณคดี ศาสนาและการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างอินเดีย อินโดจีน ตะวันออกกลาง และจีน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1,500 ปีมาแล้ว ดังที่ปรากฏชื่อเมืองตามหลักฐานต่างๆ เช่น ตมฺพลิงคมฺ ตันมาลิง ตามพรลิงค์ เป็นต้น
เมืองนครศรีธรรมราชได้กำเนิดมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 มาแล้ว เมืองนี้ตั้งอยู่บนสันทรายเก่าหรือหาดทรายแก้ว อันมีความยาวไปตามทิศเหนือใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร สันทรายจึงเป็นที่ตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนเมืองมาแต่โบราณ ชาวพื้นเมืองในยุคแรกน่าจะอาศัยอยู่ที่อำเภอลานสกาต่อมาได้อพยพมาอาศัยอยู่บนหาดทรายแก้ว และมีการติดต่อค้าขายกับอินเดีย พวกอินเดียจึงนำเอาศาสนา วัฒนธรรม และเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่ เมืองตามพรลิงค์จึงได้เกิดขึ้นและมีความเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นนครรัฐหรือรัฐตามพรลิงค์ มีการปกครองโดยกษัตริย์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์ รัฐตามพรลิงค์จึงมีบทบาททางการเมือง การปกครอง และการค้าทางทะเลอย่างกว้างขวาง และเป็นเมืองท่าใหญ่และสำคัญอีกเมืองหนึ่ง
เมืองตามพรลิงค์มีความเจริญรุ่งเรืองและมีบทบาทสำคัญในทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมมาแต่โบราณ 2 ประการ คือ ความอุดมสมบูรณ์ทางสินแร่ เครื่องเทศของป่า รัตนชาตินานาชนิดและเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินเรือนานาชาติ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
รัฐตามพรลิงค์ในยุคแรกมีศูนย์กลางความเจริญและชุมชนใหญ่ 3 แห่ง คือ ชุมชนเสาเภาและบริเวณใกล้เคียง ตำบลเสาเภา ตำบลสิชล และอำเภอท่าศาลา ตำบลฉลอง อำเภอสิชล ชุมชนโมคลาน วัดโมคลานเป็นศูนย์กลางชุมชน และชุมชนท่าเรือ บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
กษัตริย์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์ทรงใช้ปรัชญาความคิดทางจิตวิญญาณเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการเป็นกษัตริย์ 2 ประการ คือ แนวคิดเกี่ยวกับเทพ – กษัตริย์ (God – King) ในองค์เดียวกันอันเป็นอวตารปางหนึ่งของพระศิวะ และแนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาของโลก (World Cosmology) สถานที่สถิตของเทพเจ้าอันเป็นจุดจบพื้นโลกกับสวรรค์
ราชวงศ์ตามพรลิงค์ได้สถาปนารัฐตามพรลิงค์ลงบนหาดทรายแก้วเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 การปกครองของราชวงศ์นี้ ปกครองด้วยระบบจักรวาลวิทยาของโลก ศูนย์กลางการปกครองตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว กษัตริย์ผู้ปกครองเป็นทั้งเทพทั้งกษัตริย์ในองค์เดียวกัน เมืองตามพรลิงค์จึงมีฐานะเป็นตีรถะ มีเทวาลัย และมัณฑละบนหาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นลักษณะของสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการปกครองด้วยระบบมัณฑละแบบกระจายอำนาจจากเทพ–กษัตริย์สู่ผู้ปกครองที่ศูนย์กลางมัณฑละแต่ละกลุ่ม หัวหน้าผู้ปกครองมัณฑละสู่มัณฑละเล็กๆ สู่ชุมชนที่อยู่สายรอบมัณฑละนั้น เช่น มัณฑละบนหาดทรายแก้วมัณฑละคลองท้อน เป็นต้น รัฐตามพรลิงค์มีอาณาเขตทิศเหนือจดเทวาลัยวัดประเดิม ทิศใต้มัณฑละลุ่มทะเลสาบสงขลา ทิศตะวันตกจดเทวาลัยเกาะคอเขา เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลง จึงมีการสืบต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชและเป็นรัฐนครศรธรรมราชในเวลาต่อมา
พุทธสุภาษิต
อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกตํ
กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
กรรมชั่วไม่ทำเสียดีกว่า, (เพราะ) กรรมชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง,
ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน, กรรมนั้นเป็นกรรมดีอันบุคคลทำแล้ว
ดีกว่า

พระบรมธาตุตำนานแห่งสวรรค์ชั้นฟ้า

พระบรมธาตุตำนานแห่งสวรรค์ชั้นฟ้า


พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
พระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราชที่รู้จักกันในทุกภาคของประเทศไทย และต่างประเทศ มีเรื่องเล่ากันว่าเดิมทีรูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ สร้างตามคติความเชื่อของพระพุทธศาสนามหายาน ในสมัยศรีวิชัยประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๓ จึงเป็นแบบสถาปัตยกรรมศรีวิชัย รูปแบบจึงคล้ายคลึงกันกับพระบรมธาตุไชยา ครั้นถึงสมัย ศรีธรรมาโศกหรือสมัยนครศรีธรรมราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๗ พระพุทธศาสนาหินยานเจริญรุ่งเรืองมากในลังกาและได้เผยแผ่มาถึงเมืองนครศรีธรรมราช โดยการนำของภิกษุชาวนครศรีธรรมราชและภิกษุชาวลังกา ระยะเวลานั้นพระบรมธาตุเจดีย์กำลังทรุดโทรมมาก ภิกษุชาวลังกาและภิกษุชาวนครศรีธรรมราชช่วยกันซ่อมพระบรมธาตุเจดีย์ให้เป็นไปตามแบบสถาปัตยกรรมลังกา โดยการอุปถัมภ์ของกษัตริย์ศรีธรรมาโศกราชทรงให้ก่อสถูปแบบลังกาครอบเจดีย์องค์เดิม (พระปราโมทย์ กลิ่นละมัย ๒๕๔๙ : ๑๔๑)
ตามความเชื่อที่มีมาแต่โบราณเชื่อกันว่าภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์ คือที่ฐานขององค์พระบรมธาตุเจดีย์ มีสระกว้าง ๘ วา ยาว ๘ วา ลึก ๕ วา รองด้วยหินใหญ่ ข้างๆ ก่อยึดด้วยปูนเพชรปูนขาว ผสมน้ำอ้อยทุกด้าน ภายในสระมีสระเล็กอีกสระหนึ่ง สระเล็กนี้หล่อด้วยปูนเพชรขนาดกว้าง ๒ วา ยาว ๒ วา ลึก ๒ วา สระนี้บรรจุพิษของพญานาคอยู่ทั้งสระ ภายในสระมีขันทองลอยอยู่ ภายในขันทองบรรจุผอบทองซึ่งมีพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ประดิษฐานที่มุมสระทั้งสี่มุม ทุกมุมมีทองคำหนักตุ่มละ ๓๘ คนหามวางอยู่มุมละตุ่ม (วิเชียร ณ นคร ๒๕๒๑ : ๔๔๘)
ในปัจจุบันนี้พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นรูปทรงโอคว่ำหรือระฆังคว่ำ โดยปากของระฆังนั้นติดกับพื้นกำแพงแก้ว ที่มุมกำแพงแก้วมีเจดีย์พระบรมธาตุจำลองทั้ง ๔ มุม มีสิ่งที่น่าสนใจภายในวิหารพระม้าหรือวิหารพระทรงม้าหรือวิหารพระมหาภิเนษกรม วิหารนี้ตั้งอยู่ติดกับพระบรมธาตุเจดีย์ทางด้านทิศเหนือ เป็นวิหารที่มีหลังคาเดียวกันกับวิหารเขียน แต่มีผนังกั้นอยู่จึงแยกออกเป็น ๒ ส่วน คือ ส่วนหนึ่งเป็นวิหารพระม้าและอีกส่วนหนึ่งเป็นวิหารพระเขียน แต่เดิมวิหารทั้ง ๒ หลังนี้มีประตูวงโค้งสามารถเดินทะลุกันได้ ต่อมาวิหารเขียนใช้เป็นพิพิธภัณฑ์จึงปิดประตูที่เป็นผนัง (พระปราโมทย์ กลิ่นละมัย ๒๕๔๙ : ๑๕๖)
ตามตำนานเล่ากันว่า พลิติ และพลิมุ่ยเป็นเศรษฐีชาวลังกาเป็นผู้สร้างวิหารพระม้าหลังนี้ ตามพระบรมราชโองการของพระเจ้ากรุงลังกาที่มีพระบัญชาให้เศรษฐีทั้ง ๒ คนมาช่วยสร้าง พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช เมื่อเศรษฐีทั้งสองเดินทางมาถึงปรากฏว่าพระบรมธาตุเจดีย์สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้ว ด้วยแรงศรัทธาของเศรษฐีทั้งสองจึงได้ก่อสร้างวิหารพระม้าแทน แต่ในขณะเดียวกันนั้นบุตรเศรษฐีทั้ง ๒ คนชื่อมด และหมู เกิดการทะเลาะฆ่ากันตายด้วยเรื่องไก่ชน เศรษฐีเศร้าสลดใจมาก จึงนำเอาอัฐิของบุตรมาตำเคล้าเข้ากับปูนแล้วปั้นเป็นรูปพระสิทธัตถะ พระนางพิมพา พระราหุล นายฉันนะ ม้ากัณฑกะ เทวดา มาร พรหม โดยอาศัยตอนที่พระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชาหรือเสด็จออกมหาภิเนษกรม และปั้นพระพุทธรูปยืนปางห้ามญาติ ปั้นพระสารีบุตร และพระโมคคัลนะที่ผนังตรงข้ามบันได
ภายในวิหารพระม้าประกอบด้วยตรงกลางวิหารมีบันได ๒๒ ขั้น ทอดเป็นทางขึ้นสู่ลานประทักษิณรอบๆองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ที่เชิงบันไดทั้งสองข้างด้านซ้ายและด้านขวามีปูนปั้นของหัวพญานาค ๗ หัว ๑ คู่ มีชื่อว่า ท้าวธตรฐ และยักษ์ ๒ ตนที่มีชื่อว่า ท้าวกุเวรหรือท้าวเวส สุวรรณ ผนังบันไดด้านนอกทั้งสองข้างมีรูปปูนปั้นตอนพระพุทธเจ้าเสด็จออกบรรพชา ผนังบันไดด้านในทั้งสองข้างมีปูนปั้นรูปสิงห์ สีแดง สีเหลือง สีดำ จำนวน ๓ คู่ ที่ผนังตรงข้ามบันไดมีปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้าทรงแสดงปางห้ามญาติ พระสารีบุตรและพระโมคคัลนะ ที่ผนังทางด้านทิศใต้ติดกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์มีพระพุทธรูปปูนปั้นปางมารวิชัยทั้งสองข้าง ทางด้านซ้ายตอนบนมีพระพุทธบาทจำลอง ด้านขวามีรูปพระหลักเมือง ที่บนผนังตรงหัวบันไดด้านซ้ายและด้านขวามีปูนปั้นของพญาครุฑ ๑ คู่ ที่มีชื่อว่า ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ ที่ปลายบันไดทางด้านซ้ายและทางด้านขวาทางขึ้นไปลานประทักษิณมีปูนปั้น ๒ องค์ มีชื่อว่า ท้าวจตุคาม (ท้าวขัตุคาม) ท้าวรามเทพ และที่บานประตูทั้ง ๒ บานตรงลานประทักษิณ มีภาพสลักรูปพระพรหมและรูปพระนารายณ์ ซึ่งสลักขึ้นมาใหม่ เพื่อแทนบานประตูเดิมที่สลักเป็นรูปพระโพธิสัตว์อวโลกิเตศวรที่ถูกไฟไหม้ไปแล้ว (ปรีชา นุ่นสุข ๒๕๒๑ : ๔๕๑)
ภายในวิหารนี้เศรษฐีได้จำลองสถานที่ให้เป็นเสมือนสวรรค์ชั้นที่ ๑ คือ ชั้นจตุมหาราชิก ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ว่าเขาพระสุเมรุเป็นภูเขาหลังคาโลก และตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของโลกหรือจักรวาล พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชก็เช่นเดียวกันถูกสมมติให้เป็นเสาหลักของโลกและเป็นศูนย์ของพระพุทธศาสนา ซึ่งภายในวิหารพระม้านี้เป็นที่ประทับของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ มีท้าวธตรฐ ท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และสิงห์สีแดง สีเหลือง สีดำ ๓ คู่ ซึ่งเป็นสัตว์หิมพานต์ที่ถือกำเนิดขึ้นมาจากคติความเชื่อของพราหมณ์มาตั้งแต่สมัยโบราณประมาณ ๔,๕๐๐ ปีก่อนพุทธกาลมาแล้ว
ตามตำนานคติความเชื่อของพราหมณ์ถือว่า เขาพระสุเมรุ เป็นภูเขาหลักของโลก ตั้งอยู่ในจุดศูนย์กลางของโลกหรือจักวาล พระอิศวร เทพผู้เป็นใหญ่ได้สร้างน้ำด้วยพระเสโท (เหงื่อ) สร้างแผ่นดินด้วยเมโท (ไคล) และทรงใช้พระจุฑามณี (ปิ่นปักผม) ปักลงใจกลางพื้นพิภพบันดาลเกิดเป็นเขาพระสุเมรุ แล้วนำพระสังวาลมาสร้างเป็นทิวเขารอบเขาพระสุเมรุอีก ๗ แห่งเรียกว่า สัตบริภัณฑคีรี เป็นที่อาศัยของทวยเทพทั้งหลาย โดยเขาพระสุเมรุสูงจากพื้นน้ำ ๘๔,๐๐๐ โยชน์ ใต้เขามีเขา ๓ ลูกรองรับเป็นฐานเรียกว่า ตรีกูฏ มีภูเขาล้อมลูก ๗ ทิวเรียกว่า สัตบริภัณฑคีรี คือ ทิวเขายุคนธร กรวิก อิสินธร สุทัศ เนมินธร วินตก และอัสกัณ เป็นที่สถิตของเทวดาชื่อ ท้าว จตุมหาราช และบริวารเรียกว่า จักรวาล ภายในจักรวาลมีภูเขาชื่อว่า หิมวา หรือหิมาลัย เรียงติดกันเป็นเทือกเขา ประกอบด้วยพระอาทิตย์ พระจันทร์ ดาวดึงส์ อุสุรภิภพ อเวจีนรก และมหาทวีปทั้งสี่ คือ ชมพูทวีป อมรโคยาน ปุพพวิเทห และอุตรกุระ แต่ละทวีปมีทวีปใหญ่น้อยเป็นบริวารอีก ๒,๐๐๐ ในทิศทั้งสี่ของจักรวาลมีมหาสมุทรทั้งสี่อันมีน้ำเต็มอยู่เป็นนิจ เหนือเขาพระสุเมรุ มีไพชยนต์ปราสาทตั้งอยู่กลางสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ (ตรัยตรึงศ์) และสวรรค์ชั้นที่ ๑ ของฉกามาพจร (สวรรค์ที่เกี่ยวข้องกับความรัก) ในชั้นนี้ประกอบด้วย ดังนี้
๑. จตุมหาราชิก เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ มีท้าวกุเวรหรือท้าวเวสสุวรรณ รักษาทิศอุดร มียักษ์เป็นบริวาร ท้าวธตรฐ รักษาทิศบูรพา มีคนธรรพ์เป็นบริวาร ท้าววิรุฬหก รักษาทิศทักษิณ มีกุมภัณฑ์ (อสูรจำพวกหนึ่ง) เป็นบริวาร และท้าววิรูปักษ์ รักษาทิศประจิม มีฝูงนาคเป็นบริวาร
๒. ดาวดึงส์ มีวิมานบนเขาพระสุเมรุ มีพระอินทร์เป็นใหญ่
๓. ยามะ หรือยามา มีท้าวสยามเทวราชปกครอง
๔. ดุสิต มีท้าวสันดุสิตปกครองอยู่ กล่าวกันว่าสวรรค์ชั้นนี้เป็นแหล่งกำเนิดของพระโพธิสัตว์
๕. นิมมานรดี มีท้าวสุนิมมิตปกครอง
๖. ปรนิมมิตวสวัตดี มีท้าวสวัตดีมารปกครอง โดยสวรรค์ชั้นนี้มีป่าหิมพานต์ ๗ แห่ง ได้แก่ สระอโนดาต มันทากินี กุณาล สหัปปดาต กัณมุณฑ์ รดาการ ฉัททันต์ ซึ่งที่เคยได้ยินกันบ่อยคือ สระอโนดาต มีภูเขาล้อมรอบ ๔ ลูก เต็มไปด้วยแก้ว เงิน ทอง และพรรณไม้หอมนานาชนิด และเป็นที่ประทับของพระปัจเจกพุทธเจ้าทั้งหลาย ส่วนทิศตะวันออกของเขาพระสุเมรุเป็นป่าหิมพานต์ซึ่งเป็นที่อยู่ของสัตว์หิมพานต์ (พงษ์พรรณ บุญเลิศ ๒๕๕๑ : ๔)
ป่าหิมพานต์เป็นดินแดนที่กล่าวกันว่าอยู่ในบริเวณเชิงเขาพระสุเมรุ ในป่าหิมพานต์นอกเหนือจากพันธุ์ไม้หอมนานาชนิดแล้ว ในพื้นป่าอันอุดมสมบูรณ์ยังเป็นที่อาศัยของสัตว์แปลกมากมาย ทั้งสัตว์กึ่งเทพ สัตว์กายสิทธิ์ที่เรียกกันว่า สัตว์หิมพานต์
สัตว์หิมพานต์ที่ปรากฏในช่วงเริ่มแรกอาจมีอยู่เพียงไม่กี่ชนิดที่มีให้เห็น เช่น ครุฑ ราชสีห์ ช้างตระกูลต่างๆ นาค หงส์ นกเทศ กินนร กินรี เป็นต้น แต่ในสมัยหลังมีเพิ่มชนิดมากขึ้น แต่อย่างไรก็ตามได้มีการจำแนกสัตว์หิมพานต์แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ ประเภทสัตว์สองเท้า (ทวิบาท) สัตว์สี่เท้า (จตุบาท) และประเภทปลา สัตว์ที่อยู่ในน้ำ
ในกลุ่มสัตว์สี่เท้าเป็นสัตว์ที่อยู่บนบก ส่วนสัตว์สองเท้านั้นเป็นสัตว์ทั้งบนบกและบินได้ จากสามหมวดใหญ่ยังแยกย่อยออกเป็นกลุ่มต่างๆ ได้อีก ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มสิงห์ เต่า ม้า ปลา รวมไปถึงมนุษย์ และเป็นที่รู้จักกันในกลุ่มนี้ได้แก่คนธรรพ์ ซึ่งเป็นนักดนตรีที่ขับกล่อมเทวดา นางฟ้า กับอีกกลุ่มที่เป็น มักลีผล จากคติธรรมคำสอนและจากเนื้อความที่พรรณนามาในหนังสือไตรภูมิกถา ซึ่งเป็นวรรณกรรมชั้นเอกที่เก่าแก่ในพระพุทธศาสนาได้กล่าวถึงลักษณะของป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ และสิ่งมีชีวิตต่างๆ ในการถ่ายทอดสร้างสรรค์เป็นงานศิลป์แทนอักษรนับเป็นความสุดยอดของช่างที่ประดิษฐ์จินตนาการ ลักษณะของป่าหิมพานต์ สัตว์หิมพานต์ และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่มีความหมายความงามและคุณค่าในงานศิลปกรรม ซึ่งสามารถแบ่งสัตว์หิมพานต์ออกได้ ดังนี้
๑. กิเลน แบ่งเป็น กิเลนจีน กิเลนไทย และกิเลนปีก
๒. กวาง แบ่งเป็น มารีศ พานรมฤค และอัปสรสีหะ
๓. สิงห์ แบ่งเป็น บัณฑุราชสีห์ กาฬสีหะ ไกรสรราชสีห์ ติณสีหะ เกสรสิงห์ เหมราช
คชสีห์ ไกรสรจำแลง ไกรสรคาวี ไกรสรนาคา ไกรสรปักษา โลโต พยัคฆ์ไกรสี สางแปรง กสุนไกรสี สิงห์ สิงหคาวี สิงหคักคา สิงหพานร สิงโตจีน สีหรามังกี เทพนรสีห์ ฑิชากรจตุบท โตเทพสิงฆนัด ทักทอ เป็นต้น
๔. ม้า ได้แก่ ดุรงค์ไกสร ดุรงค์ปักษิณ เหมราอัสดร ม้าปัก งายไส สินธพกุญชร สินธนกนธี โตเทพอัสดร อัสดรเหรา อัสดรวิหก
๕. ช้าง แบ่งเป็น เอราวัณ กรินทร์ปักษา วารีกุญชร ช้างเผือก
๖. วัว – ควาย ได้แก่ มังกร วิหก ทรพี - ทรพา
๗. นก ได้แก่ อสูรปักษา อสุรวายุภักษ์ ไก่ นกการเวก ครุฑ หงส์ คชปักษา มยุระคนธรรพ์ มยุระเวนไตย มังกรสกุณี นาคปักษี นาคปักษิณ นกหัสดี นกอินทรีย์ นกเทษศ พยัคฆ์เวนไตย นกสดายุ เสือปีก สกุณเหรา สินธุปักษี สีหสุบรรณ สุบรรณเหรา นกสัมพาที เทพกินนร เทพกินนรี เทพปักษี นกทัณฑิมา
๘. ลิง ได้แก่ กบิลปักษา มัจฉานุ
๙. ปลา ได้แก่ เหมวาริน กุญชรวารี มัจฉานาคา มัจฉวาฬ นางเหงือก ปลาควาย ปลาเสือ ศฤงคมัสยา
๑๐. จระเข้ ได้แก่ กุมภีร์ นิมิต เหรา
๑๑. มนุษย์ แบ่งเป็น คนธรรพ์ มักกะลีผล
นอกจากนั้นเป็นประเภท แรด ปู นาค เป็นต้น (ศิวสาร เมฆสัจจากุล ๒๕๕๑ : ๔)
พระบรมธาตุเจดีย์เป็นสัญลักษณ์ของเมืองนครศรีธรรมราช รูปทรงของพระบรมธาตุเจดีย์เดิมนั้นเป็นสถาปัตยกรรมศรีวิชัยแบบอย่างไชยา ต่อมาได้ซ่อมพระบรมธาตุเจดีย์เป็นสถาปัตยกรรมลังกาเป็นทรงโอคว่ำหรือระฆังคว่ำ คนโบราณมีความเชื่อว่าที่ฐานของพระบรมธาตุเจดีย์มีสระน้ำ พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าบรรจุผอบทอง ประดิษฐานอยู่ภายใน ขันทองคำซึ่งลอยอยู่ในสระน้ำนั้น
วิหารพระม้าตั้งอยู่ทางทิศเหนือติดกับองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ผู้สร้างวิหารหลังนี้เป็นเศรษฐีชาวลังกาซึ่งเป็นผู้มีศรัทธาอย่างแรงกล้า เมื่อสร้างวิหารสำเร็จแล้วก็ได้ปั้นรูปพระพุทธรูป พระสาวก พระสิทธัตถะ พระนางพิมพา พระราหุล นายฉันนะ เทวดา มาร พรหม ท้าว จตุโลกบาลทั้งสี่ ท้าวจตุคาม (ขัตุคาม) ท้าวรามเทพ และสัตว์หิมพานต์
ภายในวิหารนี้ท่านเศรษฐีได้จำลองให้เป็นสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิก ตามคติความเชื่อของพราหมณ์ว่าเขาพระสุเมรุเป็นภูเขาหลังคาโลก เป็นจุดศูนย์ของจักรวาล พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชก็เป็นเสาหลักของโลก และเป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนาเช่นเดียวกัน สวรรค์ชั้นนี้เป็นที่อยู่ของท้าวจตุโลกบาลทั้งสี่ คือ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลรักษาทิศทั้งสี่และพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
พราหมณ์มีความเชื่อว่าพระอิศวรเป็นผู้สร้างเขาพระสุเมรุให้เป็นที่สถิตของทวยเทพมีท้าวจตุมหาราชและบริวาร เหนือภูเขาพระสุเมรุเป็นที่ตั้งของสวรรค์ชั้นจตุมหาราชิก ดาวดึงส์ ยามะ ดุสิต นิมมานรดี และปรนิมมิตวสวัตดี ส่วนป่าหิมพานต์นั้นตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาพระสุเมรุด้านทิศตะวันออกที่เต็มไปด้วยพรรณไม้หอมนานาชนิด เป็นพื้นป่าอันอุดมสมบูรณ์เป็นที่อาศัยของสัตว์หิมพานต์
สัตว์หิมพานต์ในช่วงแรกมีไม่กี่ชนิด เช่น ครุฑ ราชสีห์ ช้าง นาค หงส์ นกเทศ กินนร กินนรี เป็นต้น ต่อมาในระยะหลังได้เพิ่มชนิดมากขึ้น เช่น กิเลน กวาง สิงห์ ม้า ช้าง วัว – ควาย นก ลิง ปลา จระเข้ แรด ปู นาค และมนุษย์ อย่างไรก็ตามสัตว์หิมพานต์จำแนกออกเป็น ๓ กลุ่มใหญ่ คือ ประเภทสัตว์สองเท้า ประเภทสัตว์สี่เท้า และประเภทปลา

ปีนักษัตรกับความเชื่อของคนเมืองนครศรีธรรมราช

ปีนักษัตรกับความเชื่อของคนเมืองนครศรีธรรมราช

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

คติความเชื่อเรื่องปีนักษัตรอันเป็นชื่อเรียกกรอบเวลา ซึ่งกำหนดให้มี ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ โดยกำหนดให้สัตว์เป็นเครื่องหมายประจำปีนั้นๆ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชคงจะได้รับมาจากจีน แต่ได้ผ่านมาทางเขมรก่อน เนื่องจากในสมัยโบราณศิลปวัฒนธรรมของขอมหรือเขมรโบราณได้เจริญรุ่งเรืองมาก และได้แผ่ปกคลุมแหลมมลายูหรือรัฐนครศรีธรรมราชโบราณ ศิลปวัฒนธรรมของขอมจึงมีอิทธิพลและมีความเกี่ยวข้องกันกับประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราชอยู่หลายเรื่องด้วยกัน ชาวเมืองนครศรีธรรมราชจึงเรียกปีนักษัตรตามภาษาเขมร การนำเอาปีนักษัตรมาใช้เป็นตราแผ่นดินของพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งรัฐนครศรีธรรมราชในครั้งที่พระองค์ทรงสถาปนาเมืองบริวารขึ้น ๑๒ เมือง และมีตราเป็นเครื่องหมายหรือสัญลักษณ์ประจำเมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร

การกำเนิดปีนักษัตร
การกำเนิดคติโบราณเรื่องปีนักษัตร นักวิชาการมีความเชื่อว่าน่าจะมีแหล่งกำเนิดมา ๒ ทาง คือ
๑. เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจากแนวความคิดของพวกกรีก และตุรกี ซึ่งมีความเจริญในหลายด้านมาก่อน แนวความคิดนี้ได้แพร่ไปยังจีนและอินเดีย
๒.เชื่อว่าต้นกำเนิดมาจากนักปราชญ์ชาวจีน ตามหลักฐานของจีนซึ่งเป็นชาติเก่าแก่โบราณและเจริญรุ่งเรืองมาก่อน ชาวจีนจึงรู้จักคิดชื่อปีกับตัวอักษรประกอบชื่อปี ซึ่งได้นำมาใช้ตั้งแต่ต้นพุทธศักราช และมีผู้คิดประดิษฐ์เพิ่มเติมจนมีสัตว์เป็นชื่อประจำปี
อินเดียไม่มีปีสิบสองนักษัตร มีแต่ ๑๒ ราศีหรือจักรราศี อันหมายถึงวงโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ที่สมมติขึ้นทางโหราศาสตร์ประกอบด้วยราศี หรือหมายถึงทางโคจรรอบดวงอาทิตย์ของดาวพระเคราะห์ แบ่งออกเป็น ๑๒ ส่วน หรือ ๑๒ ราศี ส่วนในตำราโหราศาสตร์ของจีน ชาวจีนสังเกตพบว่าเหตุการณ์บนโลกมักมีแนวโน้มเป็นไปตามวิถีระบบของวงโคจร ๑๒ ปี และคนเกิดปีเดียวกันมักจะมีอุปนิสัยพื้นฐานบางอย่างคล้ายคลึงกัน เมื่อสิ่งเหล่านี้ได้รับการบันทึกจึงได้ตั้งชื่อเรียกกำกับแต่ละปี โดยใช้สัตว์ที่มีลักษณะเด่นใกล้เคียงกันกับ
คุณสมบัติของคนในแต่ละปีมากที่สุดมาเป็นสัญลักษณ์ ตามกระบวนการคัดสรรตามธรรมชาติที่ทำให้คนแตกต่างกันไป ดังนั้น คนจีนโบราณจึงแบ่งคนออกเป็น ๑๒ กลุ่ม ตามเวลาเกิดโดยใช้หลักสถิติ และใช้สัตว์ที่สัมผัสใกล้ชิดกับคนมากที่สุด ๑๒ ชนิดมาเป็นชื่อปีนักษัตร และใช้เป็นตำราพยากรณ์ทำนายทายทักลักษณะดีชั่วและความสุขทุกข์ของมนุษย์

คติความเชื่อเกี่ยวกับปีสิบสองนักษัตร
ปีชวดมีตราหนูเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองสายบุรี คนจีนถือว่าหนูเป็นสัตว์ตัวแรกที่เริ่มต้นวงจรสิบสองนักษัตร ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ในสมัยโบราณ สำหรับปีนี้คือ จื่อ แปลว่า เด็กทารก เป็นเครื่องหมายแสดงถึงการเริ่มต้น ซึ่งบอกให้รู้ถึงการเกิดของวันใหม่เป็นช่วงเวลา ฤกษ์งามยามดี หนูจึงเป็นตัวเงินตัวทอง หนูจะเข้ามาเยี่ยมเฉพาะบ้านที่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ หนูจึงเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์นำโชค
ปีฉลูมีตราวัวเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองปัตตานี วัวเป็นสัญลักษณ์แทนการเกษตรกรรม ซึ่งแสดงถึงการมีโชคเกี่ยวกับผลผลิตทางด้านเกษตรอันอุดมสมบูรณ์ คนเกิดปีวัวจึงเป็นคนซื่อสัตย์ จงรักภักดี มั่นคง แน่วแน่ รักใครแล้วรักจริง ปฏิบัติตนเสมอต้นเสมอปลาย วัวจึงเป็นสัญลักษณ์ของความขยันหมั่นเพียร และมีมานะอดทน
ปีขาลมีตราเสือเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองกลันตัน เสือเป็นเจ้าแห่งสัตว์ทั้งปวง มีรูปร่างโดดเด่น มีพลังอันแข็งแกร่ง ดุดัน ก้าวร้าว ทำสงคราม ใช้รูปเสือขับไล่ผีและโรคภัยไข้เจ็บ เทพเจ้าเสือ (เทวดาขี่เสือ) ถือเป็นเทพแห่งความมั่นคง เสือจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความมั่นคง
ปีเถาะมีตรากระต่ายเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองปาหัง กระต่ายบนดวงจันทร์กับคางคกสามขา ถือเป็นสัตว์มีความเป็นอมตะ กระต่ายมีสูตรลับในการปรุงน้ำทิพย์อมฤต อันเป็นยาอายุวัฒนะ ผู้ที่มีความรู้เรื่องยาสมุนไพรและวิธีการรักษาโรค จึงมักจะนำเอากระต่ายมาปรุงเป็นยาอายุวัฒนะ กระต่ายจึงเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นอมตะ
ปีมะโรงมีตรามังกรหรืองูใหญ่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองไทรบุรี มังกรเป็นสัญลักษณ์ที่เกี่ยวข้องกับน้ำและอุทกภัย มังกรหรือพญานาค จึงมีความเกี่ยวข้องกันกับการหลั่งของสายฝนจากฟากฟ้า สัญลักษณ์ของพละกำลังแห่งการมีชีวิตอยู่ แห่งอำนาจ และความเจริญมั่นคง มังกรจึงเป็นสัญลักษณ์แห่งความอุดมสมบูรณ์
ปีมะเส็งมีตรางูหรืองูเล็กเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองพัทลุง งูเป็นผู้เฝ้าดูแลทรัพย์สมบัติที่ดี งูเป็นสัญลักษณ์แห่งความลับ ยอกย้อน ซ่อนเงื่อน ผู้ใดฆ่างูที่เข้ามาในบ้านอาจต้องพบกับโชคร้าย เพราะงู คือ ผู้นำโชคลาภก้อนใหญ่มาให้ งูจึงเป็นสัญลักษณ์ของผู้นำโชคก้อนใหญ่และการรักษาทรัพย์
ปีมะเมียมีตราม้าเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองตรัง ตามแผนภูมิโหราศาสตร์ ม้าอยู่ตำแหน่งที่ตรงข้ามกับหนูพอดี และตามหลักแล้ว หนูจะต้องเป็นฝ่ายผู้ผลิตหรือผู้สร้าง แต่ม้าจะเป็นฝ่ายผู้บริโภค เป็นตัวแทนของตัณหา ความปรารถนา และทะเยอทะยาน ม้าที่แข็งแรงจึงเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงถึงการปกครองที่มั่นคง ปลอดภัย และสงบเรียบร้อย ม้าช่วยกระตุ้นให้เกิดความสนใจในการ แสวงหาประสบการณ์นอกบ้าน
ปีมะแมมีตราแพะหรือแกะเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองชุมพร แพะตามโหราศาสตร์จีนถือเป็นลักษณะสำคัญที่ก่อให้เกิดหลักการแห่งความเป็น “หยิน” (เพศหญิง) ดังนั้น แพะเป็นสัญลักษณ์ของสัตว์ที่มีความเป็น “เพศสตรีมากที่สุด” ในจำนวนสัตว์ทั้ง ๑๒ ตัว แพะเป็นผู้ตามที่ดีมากกว่าการเป็นผู้นำ แพะเป็นสหายคู่หูกับม้า (หยินกับหยาง) เป็นผู้บริโภคมากกว่าผู้ผลิตที่ดี แพะจึงเป็นสัญลักษณ์ของเพศสตรีและผู้บริโภค
ปีวอกมีตราลิงเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองบันไทยสมอ ลิงมีสัญลักษณ์เป็น “หยาง” (เพศชาย) คู่กับไก่ซึ่งเป็น “หยิน” (เพศหญิง) ลิงมีความสามารถพิเศษหลายอย่างอยู่ในตัว การใช้ลิงให้เกิดประโยชน์มีคุณค่าจริงๆ ก็ต่อเมื่อต้องอยู่ภายใต้การควบคุมจากผู้มีคุณธรรมสูงส่งเท่านั้นที่มีอำนาจบังคับลิงได้ และคนจะต้องเหนือกว่าลิง ลิงจึงเป็นสัญลักษณ์ของเพศชายที่มีความสามรรถพิเศษ
ปีระกามีตราไก่เป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองสะอุเลา ไก่มีสัญลักษณ์เป็น “หยิน” (เพศหญิง) แต่ไม่มีลักษณะของความอ่อนแอให้เห็นเลย ไก่จึงเป็นศูนย์รวมการกระทำที่เฉียบขาด และมีพฤติกรรมที่เข้มแข็ง ไก่มีตาสว่างในเวลาค่ำคืน คุณสมบัติในตัวไก่มีทั้งการตัดสินใจแน่วแน่ หยิ่งผยอง เชื่อมั่นในตัวเอง ไก่จึงเป็นสัญลักษณ์ของความตื่นตัวตลอดเวลา
ปีจอมีตราหมาหรือสุนัขเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองตะกั่วถลาง หมาเป็นผู้คุ้มครองและระวังรักษาทรัพย์สมบัติ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดที่สุดกับม้าและเสือ ซึ่งต่างก็มีคุณสมบัติเป็น “หยาง” (เพศชาย) เต็มตัว หมาเป็นเครื่องหมายที่แสดงความสร้างสรรค์ จึงมีคุณสมบัติผู้ดูแลคุ้มครองป้องกันตัว และหมายถึงความมั่นคงปลอดภัยด้วย หมาจึงเป็นสัญลักษณ์ของเพศชาย เป็นผู้คุ้มครองและรักษาทรัพย์ที่ดี
ปีกุนมีตราหมูหรือสุกรเป็นสัญลักษณ์ประจำเมืองกระบุรี ปีกุนเป็นปีสุดท้ายของระบบวิถีปีสิบสองนักษัตร หมูเป็นสัญลักษณ์แทนเครื่องหมาย “บ้าน” หมูจึงเป็นสัญลักษณ์เกี่ยวข้องกับการนอนหลับพักผ่อน อันหมายถึง ความสงบ ความสำเร็จ ความพอใจ ในสิ่งที่ทำสำเร็จลงไป

สรุป
คติความเชื่อเกี่ยวกับปีนักษัตรอันเป็นกรอบของเวลา กำหนดให้ ๑๒ ปี เป็น ๑ รอบ และมีสัตว์เป็นเครื่องหมายประจำปี พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชรับมาจากจีนผ่านมาทางเขมรในครั้งที่สถาปนาเมืองขึ้น ๑๒ เมือง จึงใช้ปีนักษัตรเป็นสัญลักษณ์ประจำเมือง เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร
การกำเนิดปีนักษัตรมีที่มา ๒ ทาง คือ เกิดจากแนวความคิดของกรีกหรือตุรกี และเกิดจากแนวความคิดของนักปราชญ์จีน ตามตำราโหราศาสตร์ของอินเดียไม่มีปีสิบสองนักษัตร มีแต่ ๑๒ ราศี หรือจักรราศี อันเป็นวงโคจรของดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ และดาวเคราะห์ ส่วนในตำราโหราศาสตร์ของจีนพบว่าคนจีนโบราณแบ่งคนออก ๑๒ กลุ่ม ตามเวลาเกิดโดยใช้สถิติ และใช้สัตว์ที่มีความใกล้ชิดกับคนมากที่สุด ๑๒ ชนิดมาเป็นชื่อปีนักษัตรไว้ทำนายชีวิตมนุษย์
คนจีนมีความเชื่อเกี่ยวกับปีนักษัตรว่า หนูเป็นสัตว์นำโชค วัวเป็นสัตว์ที่มีความขยันหมั่นเพียร และมีความมานะอดทน เสือเป็นสัตว์ที่มีความแข็งแกร่ง และมั่นคง กระต่ายเป็นสัตว์ที่ความเป็นอมตะ มังกรเป็นสัตว์แห่งความอุดมสมบูรณ์ งูเป็นสัตว์นำโชคและสัตว์รักษาทรัพย์ ม้าเป็นสัตว์บริโภคที่ดี มีความมั่นคง ปลอดภัย และเรียบร้อย แพะเป็นสัตว์เพศสตรีและเป็นผู้ตามที่ดี ลิงเป็นสัตว์ที่มีความสามารถพิเศษ ไก่เป็นสัตว์ที่มีความตื่นตัวอยู่ตลอดเวลาและมีความเชื่อมั่นในตัวเอง สุนัขเป็นสัตว์ที่คุ้มครองป้องกันและรักษาทรัพย์สมบัติได้ดี และสุกรเป็นสัตว์ที่บอกถึงการพักผ่อน ความสงบ ความพอใจ และความสำเร็จ