โชว์ทำโชว์งาน

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ราชวงศ์ตามพรลิงค์กับการพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช

ราชวงศ์ตามพรลิงค์กับการพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช
พุทธศตวรรษที่ 11 – 16


พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์ โบราณคดี ศาสนาและการค้ามาตั้งสมัยโบราณมากที่สุดเมืองหนึ่งในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ดังนั้นเมืองนี้จึงเป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างอินเดียและตะวันออกกลางกับอินโดจีน ตลอดไปถึงประเทศจีน
จากความเป็นศูนย์กลางเช่นนี้ จึงทำให้ชนชาติที่ผ่านดินแดนแห่งนี้ได้บันทึกเรื่องราวต่างๆ ไว้เป็นหลักฐาน จึงเป็นที่รู้จักกันอย่างกว้างขวางเป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1,800 ปีมาแล้ว หลักฐานที่ได้กล่าวถึงนี้ เฉพาะชื่อเมืองที่ได้ปรากฏชื่อที่ต่างกันหลายชื่ออันได้แก่ ตมฺพลิงฺคมฺ(ตัมพะลิงคัม) ตันมาลิง ตามพรลิงค์ ตมะลิงคาม กรุงศรีธรรมาโศก ศรีธรรมราช สิริธรรมนคร โลแค็ก ปาฏลีบุตร ลิงกอร์ ลิกอร์ ละคร และนครศรีธรรมราช เป็นต้น
เมืองนครศรีธรรมราชโบราณได้ปรากฏหลักฐานทางโบราณคดีและเอกสารอื่นๆ ที่ปรากฏอยู่ในขณะนี้ยืนยันได้ว่านครศรีธรรมราชมีกำเนิดมาแล้วตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 มาแล้ว เมืองโบราณแห่งนี้ตั้งอยู่บนสันทรายเก่าที่เรียกว่า หาดทรายแก้ว หาดทรายนี้ได้เกิดขึ้นจากการกระทำของคลื่นลมจากทะเลเมื่อหลายพันปีที่ผ่านมา มีความยาวไปตามทิศเหนือใต้ ประมาณ 100 กิโลเมตร จากอำเภอขนอมถึงอำเภอชะอวด และอำเภอเชียรใหญ่ สันทรายอันเป็นที่ดอนน้ำไม่ท่วม จึงกลายเป็นที่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยหรือเป็นชุมชนเมืองมาแต่โบราณกาล และที่ราบลุ่มระหว่างสันทรายก็จะกลายเป็นที่ทำนาเพาะปลูกอย่างดีอันเป็นรากเหง้าของอารยธรรมแห่งเมืองนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา
ชาวพื้นเมืองในยุคแรกเชื่อกันว่าน่าจะอาศัยอยู่ที่อำเภอลานสกาต่อมาเมื่อแผ่นดินชายฝั่งทะเลได้งอกออกไป ไม่สะดวกในการติดต่อทำการค้า การเดินเรือทะเล จึงได้อพยพออกไปตั้งบ้านเรือนบนที่ดอนสันทรายชายทะเล อันเป็นเหตุให้เกิดชุมชนเมืองขึ้นบนหาดทรายแก้ว เมื่อพวกอินเดียได้เดินทางเข้ามาติดต่อค้าขายกับชนพื้นเมืองและได้นำเอาศาสนา อารยธรรม และเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่ เมืองตามพรลิงค์จึงได้มีกำเนิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 - 8 ในฐานะเมืองท่าที่สำคัญแห่งหนึ่งของดินแดนสุวรรณภูมิ ตามที่ปรากฏในคัมภีร์บาลีมหานิทเทศ
รัฐตามพรลิงค์ได้ถือกำเนิดขึ้นประมาณพุทธศตวรรษที่ 6 - 12 และได้เจริญรุ่งเรืองกลายเป็นนครรัฐ ซึ่งปกครองโดยกษัตริย์ราชวงศ์ตามพรลิงค์ กษัตริย์ในราชวงศ์นี้ทรงยอมรับนับถือและส่งเสริมศาสนาพราหมณ์เป็นสำคัญ จึงขนานนามเมืองตามศาสนาที่ประชาชนเคารพนับถือว่า ตามพรลิงค์ แปลว่า ลิงค์ทองแดง อันหมายถึง พระอิศวรหรือสัญลักษณ์ของพระอิศวร และที่มีชาวอินเดียเข้ามาตั้งถิ่นฐานแต่งงานกับชาวพื้นเมืองจำนวนมาก รัฐตามพรลิงค์เริ่มมีบทบาททางการเมือง การปกครอง และการค้าทางทะเลอย่างกว้างขวาง ในฐานะเมืองท่าใหญ่จึงได้ปรากฏชื่อในจดหมายเหตุจีนเสมอ ซึ่งเรียกรัฐตามพรลิงค์ว่า อาณาจักรตานหลิวเหมยบ้าง ตานหมาลิ่งบ้าง ได้ส่งคณะทูตไปเจริญสัมพันธไมตรีทางการค้ากับเมืองจีนหลายครั้ง ทางฝ่ายจีนก็ได้ส่งเรือสำเภาติดต่อค้าขายกับรัฐตามพรลิงค์เสมอเช่นกัน

รัฐการค้าตามพรลิงค์
เหตุผลสำคัญที่ทำให้เมืองตามพรลิงค์มีบทบาทสำคัญยิ่งในประวัติศาสตร์การเมือง การปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมมาแต่โบราณ คือ
1. ความอุดมสมบูรณ์ทางสินแร่ เครื่องเทศ ของป่า และรัตนชาตินานาชนิด จึงกลายเป็นศูนย์กลางของการติดต่อค้าขายมาแต่โบราณ สินค้าที่ชาวต่างชาติต้องการมีทั้งประเภทสินค้าที่จำเป็นและสินค้าฟุ่มเฟือย สินค้าที่สำคัญที่กล่าวไว้ในคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ในจดหมายเหตุจีน และบันทึกของชาวอาหรับว่า ที่ชนต่างชาติต้องการจากบริเวณนี้มากเป็นพิเศษ คือ
ประเภทเครื่องเทศ ได้แก่ กระวาน (ลูกเอ็น) ก้านพลู การบูร มะพร้าว แก่นจันทร์ กฤษณา พริกไทย ดีปลี ไม้หอม ยางไม้หอม ขิง ข่า ลูกจันทร์ มหาหิงคุ์ น้ำมันหอม กำยาน และเครื่องเทศหรือเครื่องปรุงอาหาร
ประเภทของมีค่า ได้แก่ หินที่มีค่าหายาก เช่น หินแก้ว ไข่มุก พลอย หินมีลาย สีย้อมผ้า เป็นต้น
ประเภทผลิตผลจากป่าและสัตว์ ได้แก่ งาช้าง เขาสัตว์ หนังสัตว์ สมุนไพร สัตว์ป่า และปลาน้ำจืด เป็นต้น
ประเภทโลหะ ได้แก่ ทองคำ เงิน ดีบุก ตะกั่ว และพลวง เป็นต้น
2. เป็นตำแหน่งที่ตั้งเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินเรือนานาชาติ โดยเฉพาะในการเดินทางติดต่อกันระหว่างจีน อินเดีย และประเทศต่างๆ ในอ่าวเปอร์เซีย ซึ่งแหลมมาลายูตอนเหนือเป็นจุดศูนย์กลางที่สำคัญที่สุดในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการแลกเปลี่ยนศิลปวัฒนธรรม เมืองตามพรลิงค์จึงเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ มีเศรษฐกิจที่มั่นคงอยู่ตลอดประวัติศาสตร์ทางการค้าไม่ว่าจะเป็นจีน อินเดีย อาหรับ และประเทศต่างๆในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้


ศูนย์กลางความเจริญของรัฐตามพรลิงค์
รัฐตามพรลิงค์ในยุคแรกมีศูนย์กลางความเจริญและชุมชนใหญ่ 3 แห่ง คือ
1. ชุมชนเสาเภา ตั้งอยู่ทางเหนือสุดของแนวสันทรายชายทะเล คือ อาณาบริเวณที่เป็นเขตอำเภอสิชล มีศูนย์กลางความเจริญอยู่บริเวณตำบลเสาเภาและบริเวณใกล้เคียง คือ เป็นชุมชนที่อยู่บริเวณที่ราบลุ่มคลองท่าเรือรี คลองท่าทน มีซากเทวสถานที่มีอายุประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-14 และหลังจากนั้นอยู่กระจายอย่างหนาแน่น และนอกจากที่ตำบลเสาเภาแล้วในตำบลสิชล ตำบลฉลองก็มีมากไม่แพ้กัน แต่โบราณสถานที่มีขนาดใหญ่ที่สุด คือ เทวาลัยบนเขาคา
2. ชุมชนโมคลาน ตั้งถัดมาทางใต้ในเขตท้องที่อำเภอท่าศาลามีคลองโมคลาน(คลองปากพยิง) เป็นคลองสำคัญประจำชุมชน ที่เรือสำเภาขนาดใหญ่สามารถเล่นเข้าไปได้สะดวก วัดโมคลาน ตำบลโมคลาน เป็นศูนย์กลางที่สำคัญเก่าแก่ที่สุด ชุมชนแห่งนี้มีพื้นที่ทำนาเพาะปลูกอันอุดมสมบูรณ์กระจายไปถึงตำบลไทรบุรี ตำบลทราย และตำบลอื่นๆ จึงเป็นเหตุให้ได้พบกับโบราณสถาน โบราณวัตถุ เช่น ซากเทวาลัย ชิ้นส่วนของพระพุทธรูป เทวรูป ศิวลึงค์ เป็นต้น ซึ่งมีอายุมาตั้งแต่สมัยตามพรลิงค์ถึงสมัยลพบุรีกระจายอยู่ทั่วไปทุกตำบล ตลอดจนกลองมโหระทึกรุ่นเก่าที่ได้พบในเขตนี้ด้วย
3. ชุมชนท่าเรือ ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของแนวสันทรายชายทะเลอ่าวไทย คือ อาณาบริเวณที่เป็นอำเภอเมืองนครศรีธรรมราชเนื่องจากเป็นพื้นที่มีชัยภูมิที่เหมาะสม คือ มีคลองท่าเรือเป็นคลองสายหลักประจำชุมชน เรือสำเภาสามารถแล่นเข้าไปได้สะดวกถึงสันทรายที่ตั้งชุมชน และสามารถแล่นผ่านเข้าไปถึงเขตใน คือ อำเภอลานสกาอีกทั้งบริเวณโดยรอบเป็นที่ราบลุ่มทำนาเพาะปลูกจำนวนมากหรือมีมากกว่าชุมชนอื่น เพราะมีพื้นที่ราบชายฝั่งกว้างใหญ่กว่า 2 แห่งแรกมาก และมีคลองไหลผ่านหลายสาย เช่น คลองท่าแพ (คลองปากพูน) คลองปากพญา(คลองท่าวัง) คลองปากนคร(คลองท่าเรือ) เป็นต้น จึงเป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์มาก ศูนย์กลางชุมชนเริ่มแรกอยู่บริเวณบ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ และโบราณสถานที่สำคัญที่สุดน่าจะอยู่ที่วัดโพธิ์ (ร้าง) ต่อมาจึงได้ขยับขึ้นไปทางเหนือเล็กน้อย มาตั้งเมืองใหม่เรียกว่าเมืองพระเวียง เป็นเมืองชนิดมีกำแพงและ คูเมืองอย่างมั่นคงแข็งแรง

กษัตริย์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์
กษัตริย์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์ทรงใช้ปรัชญาความคิดทางจิตวิญญาณอันเป็นหัวใจสำหรับการทรงให้เหตุผลสนับสนุนหรือพิสูจน์พระองค์เอง และทรงใช้เป็นเครื่องมือในการสร้างความแข็งแกร่งให้อำนาจแห่งความเป็นกษัตริย์ของพระองค์ที่สำคัญ 2 ประการ คือ
ประการแรก ความคิดรวบยอดเกี่ยวกับการที่ทรงเป็นพระศิวะหรือพระอิศวรแห่ง ตามพรลิงค์ อันเป็นปรัชญาความคิดเกี่ยวกับเทพ-กษัตริย์ (God-King) กษัตริย์ทรงได้รับการเคารพเชื่อถือว่าทรงเป็นอวตารปางหนึ่งของพระศิวะ และปรัชญาความคิดเกี่ยวกับเทพ - กษัตริย์ในองค์เดียวกันอันเป็นศูนย์กลางสัจธรรมทั้งมวลของวิถีชีวิตในรัฐตามพรลิงค์
ประการที่สอง ปรัชญาความคิดของศาสนาพราหมณ์เกี่ยวกับจักรวาลวิทยาของโลก (World Cosmology) อันเป็นสถานที่ซึ่งภูขาอันลี้ลับเป็นที่สถิตของเหล่าเทพเจ้า และตั้งอยู่จุดกึ่งกลางของจักรวาล ภูเขาแห่งนี้อันเป็นจุดบรรจบของพื้นโลกกับสวรรค์

การปกครองของราชวงศ์ตามพรลิงค์
การปกครองของราชวงศ์ตามพรลิงค์ ศิลาจารึกหลักที่ 28 (ศิลาจารึกวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร) ได้แสดงให้เห็นว่า ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-12 ผู้ปกครองรัฐตามพรลิงค์ได้รับการสถาปนาจากคณะพราหมณ์ของคณะพระอคัสตยะให้กลายเป็นพระศิวะหรือพระอิศวรแห่ง ตามพรลิงค์จึงเป็นการชี้ให้เห็นว่า เทพ - กษัตริย์ของรัฐตามพรลิงค์ทรงเป็นผู้นำทางการปกครองและผู้นำทางศาสนาของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย
รัฐตามพรลิงค์มีศูนย์กลางของรัฐตั้งอยู่บนสันทรายเก่าหรือหาดทรายแก้วเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นเมืองที่เทพ - กษัตริย์ประทับอยู่จึงเป็นเมืองที่มีฐานะเป็นตีรถะ(สถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่จะไปแสวงบุญหรือประตูสวรรค์กับพื้นโลกหรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่มีพลังอำนาจและความบริสุทธิ์) ที่สำคัญของศาสนาพรหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย จึงมีเทวาลัย (สถานที่ประทับของ เทพเจ้า) ที่ศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่หนาแน่นบนสันทรายเก่าหรือหาดทรายแก้ว เมืองตามพรลิงค์จึงมีมัณฑละหรือแผนผังของจักรวาลตั้งอยู่เป็นจำนวนมาก จึงชี้ให้เห็นว่าที่ตั้งเมืองนี้มีสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์กว่าบริเวณอื่นๆภายในรัฐตามพรลิงค์แห่งนี้
การรวมกลุ่มของมัณฑละเล็กๆ เป็นมัณฑละใหญ่เป็นระบบการปกครองของราชวงศ์ตามพรลิงค์โดยการกระจายอำนาจเทพ - กษัตริย์ของรัฐตามพรลิงค์ลงมาสู่ผู้ปกครองที่เป็นศูนย์กลางของมัณฑละแต่ละกลุ่ม หัวหน้าผู้ปกครองมัณฑละเหล่านั้นจะกระจายอำนาจนั้นลงไป สู่มัณฑละเล็กๆที่อยู่รายรอบศูนย์กลางของกลุ่มอีกทอดหนึ่ง และหัวหน้าผู้ปกครองของมัณฑละเล็กๆ แต่ละแห่งกระจายอำนาจนั้นไปสู่ชุมชนที่อยู่รายรอบมัณฑละนั้น เช่น กลุ่มมัณฑละบนหาดทรายแก้ว อำเภอเมือง กลุ่มมัณฑละคลองท้อน (หุบเขาช่องคอย) อำเภอจุฬาภรณ์ กลุ่มมัณฑละบ้านโมคลาน (วัดโมคลาน) อำเภอท่าศาลา กลุ่มมัณฑละคลองกลาย (บ้านทุ่งพัน) อำเภอท่าศาลา กลุ่มมัณฑละคลองท่าทน (เขาคา) อำเภอสิชล กลุ่มมัณฑละคลองท่าควาย (บ้านท่าควาย) อำเภอสิชล กลุ่มมัณฑละคลองท่าเรือรี(วัดนาขอม)(ร้าง) อำเภอสิชล จังหวัดนครศรีธรรมราช กลุ่มมัณฑละ แม่น้ำตาปี (เขาศรีวิชัย) อำเภอพุนพิน กลุ่มมัณฑละคลองท่าชนะ (วัดพระพิฆเณศวรว์)(ร้าง) อำเภอท่าชนะ จังหวัดสุราษฏร์ธานี กลุมมัณฑละทะเลสาบสงขลา (เขาคูหา) อำเภอสทิงพระ จังหวัดสงขลา และกลุ่มมัณฑละแม่น้ำตะกั่วป่า (เกาะคอเขา) อำเภอคุระบุรี และอำเภอตะกั่วป่าจังหวัดพังงา

อาณาเขตของรัฐตามพรลิงค์
การสถาปนารัฐตามพรลิงค์ลงบนหาดทรายแก้วอันเป็นรัฐแห่งศาสนาพราหมณ์ลัทธิไศวนิกาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11-16 โดยใช้มัณฑละบนหาดทรายแก้ว (ปัจจุบันเป็นสถานที่ตั้งมณฑปที่ประดิษฐานพระพุทธบาทจำลอง) เป็นศูนย์กลางแห่งรัฐที่ใช้ในการปกครองของราชวงศ์ตามพรลิงค์ รัฐตามพรลิงค์มีอาณาเขตกว้างไกล อาณาเขตด้านทิศเหนือมีมัณฑละอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอาณาเขตเพียงแค่เทวาลัยในวัดประเดิม (วัดสุทธาวาสธาราม) อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร ทางด้านทิศใต้มีระบบมัณฑละอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอาณาเขตบริเวณลุ่มทะเลสาบสงขลา ทางด้านทิศตะวันตกมีระบบมัณฑละอันศักดิ์สิทธิ์ที่มีอาณาเขตจนถึงเทวาลัยในเกาะคอเขา อำเภอคุระบุรี จังหวัดพังงา
เมื่อปลายพุทธศตวรรษที่ 16 และต้นพุทธศตวรรษที่ 17 ศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกายในรัฐตามพรลิงค์ได้ค่อยๆ ร่วงโรยลง ในขณะเดียวกันที่พระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ได้ค่อยๆ มีบทบาทเพิ่มมากขึ้น พระพุทธศาสนาลัทธิลังกาวงศ์จึงได้ค่อยๆ เข้ามาแทนความสำคัญของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย การเปลี่ยนแปลงดังกล่าวจึงเป็นไปอย่างผสมกลมกลืนในลักษณะค่อยเป็นค่อยไป และพัฒนาไปอย่างต่อเนื่องยาวนานที่ปราศจากความขัดแย้ง ในขณะเดียวกันพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์ได้สถาปนาขึ้นบนหาดทรายแก้วในประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยได้ใช้ศูนย์กลางแห่งรัฐทางด้านทิศใต้ของเทวาลัย (พระพุทธบาทจำลอง) ณ วัดพระเดิม (ร้าง) เพียงเล็กน้อย ศูนย์กลางแห่งรัฐพระพุทธศาสนา ลัทธิลังกาวงศ์อยู่ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ซึ่งตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลง จึงได้มีการสือต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช และเป็นรัฐนครศรีธรรมราชในเวลาต่อมา

สรุป
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่มีความสำคัญทางประวัติศาสนา โบราณคดี ศาสนาและการค้าในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ อันเป็นศูนย์กลางการติดต่อระหว่างอินเดีย อินโดจีน ตะวันออกกลาง และจีน เป็นระยะเวลาไม่น้อยกว่า 1,500 ปีมาแล้ว ดังที่ปรากฏชื่อเมืองตามหลักฐานต่างๆ เช่น ตมฺพลิงคมฺ ตันมาลิง ตามพรลิงค์ เป็นต้น
เมืองนครศรีธรรมราชได้กำเนิดมาตั้งแต่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 7 มาแล้ว เมืองนี้ตั้งอยู่บนสันทรายเก่าหรือหาดทรายแก้ว อันมีความยาวไปตามทิศเหนือใต้ประมาณ 100 กิโลเมตร สันทรายจึงเป็นที่ตั้งบ้านเรือนเป็นชุมชนเมืองมาแต่โบราณ ชาวพื้นเมืองในยุคแรกน่าจะอาศัยอยู่ที่อำเภอลานสกาต่อมาได้อพยพมาอาศัยอยู่บนหาดทรายแก้ว และมีการติดต่อค้าขายกับอินเดีย พวกอินเดียจึงนำเอาศาสนา วัฒนธรรม และเทคโนโลยีเข้ามาเผยแพร่ เมืองตามพรลิงค์จึงได้เกิดขึ้นและมีความเจริญรุ่งเรืองจนกลายเป็นนครรัฐหรือรัฐตามพรลิงค์ มีการปกครองโดยกษัตริย์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์ รัฐตามพรลิงค์จึงมีบทบาททางการเมือง การปกครอง และการค้าทางทะเลอย่างกว้างขวาง และเป็นเมืองท่าใหญ่และสำคัญอีกเมืองหนึ่ง
เมืองตามพรลิงค์มีความเจริญรุ่งเรืองและมีบทบาทสำคัญในทางประวัติศาสตร์การเมืองการปกครอง เศรษฐกิจ และสังคมมาแต่โบราณ 2 ประการ คือ ความอุดมสมบูรณ์ทางสินแร่ เครื่องเทศของป่า รัตนชาตินานาชนิดและเป็นจุดศูนย์กลางของการเดินเรือนานาชาติ การซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้า และการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม
รัฐตามพรลิงค์ในยุคแรกมีศูนย์กลางความเจริญและชุมชนใหญ่ 3 แห่ง คือ ชุมชนเสาเภาและบริเวณใกล้เคียง ตำบลเสาเภา ตำบลสิชล และอำเภอท่าศาลา ตำบลฉลอง อำเภอสิชล ชุมชนโมคลาน วัดโมคลานเป็นศูนย์กลางชุมชน และชุมชนท่าเรือ บ้านท่าเรือ ตำบลท่าเรือ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช
กษัตริย์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์ทรงใช้ปรัชญาความคิดทางจิตวิญญาณเพื่อสร้างความแข็งแกร่งในการเป็นกษัตริย์ 2 ประการ คือ แนวคิดเกี่ยวกับเทพ – กษัตริย์ (God – King) ในองค์เดียวกันอันเป็นอวตารปางหนึ่งของพระศิวะ และแนวคิดเกี่ยวกับจักรวาลวิทยาของโลก (World Cosmology) สถานที่สถิตของเทพเจ้าอันเป็นจุดจบพื้นโลกกับสวรรค์
ราชวงศ์ตามพรลิงค์ได้สถาปนารัฐตามพรลิงค์ลงบนหาดทรายแก้วเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 การปกครองของราชวงศ์นี้ ปกครองด้วยระบบจักรวาลวิทยาของโลก ศูนย์กลางการปกครองตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว กษัตริย์ผู้ปกครองเป็นทั้งเทพทั้งกษัตริย์ในองค์เดียวกัน เมืองตามพรลิงค์จึงมีฐานะเป็นตีรถะ มีเทวาลัย และมัณฑละบนหาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นลักษณะของสภาพภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ มีการปกครองด้วยระบบมัณฑละแบบกระจายอำนาจจากเทพ–กษัตริย์สู่ผู้ปกครองที่ศูนย์กลางมัณฑละแต่ละกลุ่ม หัวหน้าผู้ปกครองมัณฑละสู่มัณฑละเล็กๆ สู่ชุมชนที่อยู่สายรอบมัณฑละนั้น เช่น มัณฑละบนหาดทรายแก้วมัณฑละคลองท้อน เป็นต้น รัฐตามพรลิงค์มีอาณาเขตทิศเหนือจดเทวาลัยวัดประเดิม ทิศใต้มัณฑละลุ่มทะเลสาบสงขลา ทิศตะวันตกจดเทวาลัยเกาะคอเขา เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลง จึงมีการสืบต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชและเป็นรัฐนครศรธรรมราชในเวลาต่อมา
พุทธสุภาษิต
อกตํ ทุกฺกตํ เสยฺโย ปจฺฉา ตปฺปติ ทุกฺกตํ
กตญฺจ สุกตํ เสยฺโย ยํ กตฺวา นานุตปฺปติ
กรรมชั่วไม่ทำเสียดีกว่า, (เพราะ) กรรมชั่ว ย่อมเผาผลาญในภายหลัง,
ส่วนบุคคลทำกรรมใดแล้ว ไม่ตามเดือดร้อน, กรรมนั้นเป็นกรรมดีอันบุคคลทำแล้ว
ดีกว่า

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น