เมืองสิบสองนักษัตร
: สถานที่ตั้งเมืองและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
: สถานที่ตั้งเมืองและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์
พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร
บทนำ
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระนิพพานโสตรได้สะท้อนให้เห็นว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์ของรัฐพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ได้เป็นที่มาของการสถาปนาระบบเมืองขึ้นของรัฐที่เรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตร ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชเป็นผู้ปกครองรัฐนครศรีธรรมราชอย่างยาวนานได้สถาปนาขึ้นในระหว่างประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของเมืองเหล่านั้น เมืองเหล่านั้นมีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์ของรัฐนี้
ในช่วงเวลานี้เมืองนครศรีธรรมราชได้เจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจกล้าแข็งมากที่สุดบนแหลมมลายู สามารถแผ่อำนาจอิทธิพลไปตลอดแหลมมลายู เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ก็ล่มสลายไป อาณาจักรขอมทางเหนือก็หมดอำนาจลงไป เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังผู้คนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าก็ดีขึ้น ศิลปวัฒนธรรมก็เจริญจึงได้จัดการปกครองหัวเมืองขึ้นหัวเมืองหนึ่งที่เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร
การจัดระบบเมืองสิบสองนักษัตรก็เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อรัฐนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะการเข้าไปมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากร ตลอดจนการพัฒนาและการเพิ่มผลผลิตของเมืองเหล่านั้น และการนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ทางการค้าของรัฐนครศรีธรรมราช อย่างกรณีการนำดีบุกจากเมืองที่มีดีบุกมาก เช่น เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง และเมืองตะกั่วถลาง เป็นต้น ตามที่ปรากฏในบันทึกของหวังตาหยวนในปี พ.ศ.1892 ว่าสินค้าของรัฐนครศรีธรรมราชเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทของป่าและของแปลก เพราะเป็นสินค้าที่หามาได้จากบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลแทบจะทั่วทั้งคาบสมุทร เนื่องจากเมืองขึ้นของตนตั้งอยู่ทั่วทั้งคาบสมุทร ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงส่งผลให้การเมืองการปกครองของรัฐนครศรีธรรมราชในช่วงนี้แข็งแกร่งและเกรียงไกลตามไปด้วย
เมืองสิบสองนักษัตร
1. เมืองสายบุรี ปีชวด ถือตราหนู
2. เมืองปัตตานี ปีฉลู ถือตราวัว
3. เมืองกลันตัน ปีขาล ถือตราเสือ
4. เมืองปาหัง ปีเถาะ ถือตรากระต่าย
5. เมืองไทรบุรี ปีมะโรง ถือตรางูใหญ่
6. เมืองพัทลุง ปีมะเส็ง ถือตรางูเล็ก
7. เมืองตรัง ปีมะเมีย ถือตราม้า
8. เมืองชุมพร ปีมะแม ถือตราแพะ
9. เมืองบันไทยสมอ ปีวอก ถือตราลิง
10. เมืองสะอุเลา ปีระกา ถือตราไก่
11. เมืองตะกั่วถลาง ปีจอ ถือตราสุนัข
12. เมืองกระบุรี ปีกุน ถือตราหมู
สถานที่ตั้งเมืองสิบสองนักษัตร
1. เมืองสายบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสายบุรีและฝั่งทะเล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังของพระยาสุริยะสุนทรบวรภักดี (นิอิตัมนาแซ)บริเวณบ้านตะลุบัน ถนนสุริยะ ตรงข้ามกับศาลาเทศบาล ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
เมืองสายบุรีเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 ส่วนเมืองสายบุรีเก่านั้นตั้งอยู่บริเวณรอบวัดถ้ำคูหาภิมุขหรือบริเวณอำเภอเมืองยะลา เมืองนี้เป็นเมืองท่าปากน้ำที่มีการติดต่อค้าขายและคมนาคมกับเมืองอื่นๆ เมืองสายบุรีเป็นเมืองขนาดไม่โตมากนัก มีความอุดมสมบูรณ์ มีอารยะธรรมเก่าแก่ที่มีความสำคัญคู่กับเมืองปัตตานี จัดเป็นเมืองนักษัตรอันดับที่ 1 ของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีชวด ถือตราหนูเป็นตราประจำเมือง และมีวัดสักขี(วัดสุทธิกาวาส) เป็นวัดประจำเมืองสายบุรี
2. เมืองปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณบ้านวัด บ้านประแว และบ้านจาเละ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
เมืองปัตตานีตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำปัตตานี ซึ่งห่างจากทะเลประมาณ 15 กิโลเมตร เมืองนี้ได้ชื่อว่าลังกาสุกะตะวันออก ส่วนชาวเมืองเรียกว่า โกตมะลิฆัย หรือโกตามหาลิฆา หรือโกตามลิไฆย แต่เรียกเพี้ยนออกไป จีนเรียกว่า ลังยาสิ่ว อินเดียเรียกว่า ลิงคาโศกะ
เมืองปัตตานีเป็นเมืองเก่า เมืองทอง เมืองมหานคร และเมืองประวัติศาสตร์ที่มีประวัติความเป็นมานับพันปี เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่สุดและเป็นเมืองใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญรองจากเมืองนครศรีธรรมราช เมืองนี้จึงมีบทบาททางการเมืองมาทุกยุคสมัยเมืองหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เต็มไปด้วยอารยธรรมโบราณ มีทั้งผู้นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ต่อมาภายหลังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ลุ่มแม่น้ำปัตตานีมีที่ราบทำนาได้มากจึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเลี้ยงคนได้มากที่สุด และเป็นเมืองค้าขายนานาชาติที่สำคัญประจำภูมิภาคแหลมมลายูตอนกลาง
เมืองปัตตานีโบราณเป็นรัฐอิสระและต่อมาตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัย เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงก็มาขึ้นกับอาณาจักรตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช โดยการเป็นประเทศราชหรือหัวเมืองขึ้นอันเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมือนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีฉลู ถือตราวัวเป็นตราประจำแผ่นดิน
ในสมัยเมืองปัตตานีถูกรุกรานจากกองทัพมะละกาได้ทำลายพระพุทธรูป เทวรูป และโบราณสถานในเมืองโกตามหาลิฆัยหรือลังกาสุกะไปจนหมดสิ้น พระยาอินทิราหรือสุลต่านอิสมาเอลชาห์ซึ่งเคยนับถือศาสนาพุทธก็ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามตามสุลต่านมัสสุชาฮ์กษัตริย์มะละกา ในสมัยนี้เองพระองค์ได้มีการย้ายพระนครโกตามหาลิฆัยมาสร้างพระนครใหม่ขึ้นที่สันทรายบริเวณตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบานา หมู่บ้านกรือเซะ ในท้องที่อำเภอเมืองปัตตานีปัจจุบัน พระราชทานเมืองว่า ปัตตานีดารัสลามหรือนครแห่งสันติ
3. เมืองกลันตัน ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำกลันตัน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของนครโกตาบารู ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
เมืองกลันตันเป็นเมืองเก่าแก่โบราณเช่นเดียวกับเมืองปัตตานี และเมืองไทรบุรี เมืองนี้ในสมัยโบราณเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แร่ทองคำ เป็นเมืองท่าค้าขาย และเป็นดินแดนที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญบนคาบสมุทรมลายู เมืองกลันตันมีความสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะเป็นเมืองขึ้นสิบสองนักษัตร ทรงกำหนดให้เป็นปีขาล ถือตราเสือเป็นตราประจำเมือง และวัดพิกุลทองวนารามน่าจะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของเมืองกลันตัน
4. เมืองปาหัง ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปาหังหรือโกโลเปก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังเปอร์กัน ซึ่งเป็นวังของพญาเมืองปาหังหรือเจ้าเมืองรัฐปาหัง เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากทะเล 2 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำปาหังประมาณ 2 กิโลเมตร
เมืองปาหังเป็นเมืองเก่าแก่โบราณและเป็นชุมชนตอนล่างของแหลมมลายู เมืองนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองยโฮร์ ทิศตะวันออกติดกับฝั่งทะเล ทิศตะวันตกติดกับรัฐเนกรีเซมบิลัน รัฐสลังงอ และรัฐเประ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับรัฐตรังกานู เมืองปาหังเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สุดและเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีเถาะ ถือตรากระต่ายเป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
5. เมืองไทรบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของรัฐเกดะห์ในปัจจุบัน สถานที่ตั้งเมืองเมืองไทรบุรีน่าจะตั้งอยู่ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอโกตาร์สตาร์ รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย
เมืองไทรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่โบราณคู่กับเมืองปัตตานี ตำนานเมืองไทรบุรีกล่าวว่า ปัตตานีเป็นลังกาสุกะตะวันออก ส่วนเมืองไทรบุรีเป็นลังกาสุกะตะวันตก เจ้าเมืองไทรบุรีคนที่ 1- 6 นับถือศาสนาพุทธ คนที่ 7 เป็นต้นไป นับถือศาสนาอิสลาม เมืองไทรบุรีได้รับอารยธรรมจากอินเดีย เมืองนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด เป็นที่ตั้งหลักแหล่งการค้า มีหน้าที่ส่งเสบียงและภาษีมาบำรุงเมืองหลวง และเป็นเมืองท่าที่สำคัญของคาบสมุทรมลายูในการติดต่อกับจีนและอินเดียโดยผ่านช่องแคบมะละกา ในประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 ได้กลายเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะโรง ถือตรางูใหญ่เป็นตราประจำเมือง และมีวัดลำเด็นเป็นวัดประจำเมืองไทรบุรี
6. เมืองพัทลุง ตั้งอยู่บนสันทรายใหญ่ที่โคกเมืองบางแก้ว หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
เมืองพัทลุงเป็นเมืองเก่าแก่โบราณที่มีความใกล้ชิดกับเมืองนครศรีธรรมราชมากคล้ายกับเป็นเมืองเอกหรือเมืองลูกหลวง นครศรีธรรมราชเป็น “กรุงตามพรลิงค์” พัทลุงเป็น “กรุงพาราณสี”หรือ เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเสมือนเมืองปาตลีบุตร เมืองพัทลุงเป็นเสมือนเมืองพาราณสีหรือเมืองสทิงพาราณสี” และมีเจดีย์พระบรมธาตุเป็นศาสนสถานคู่เมือง เมืองพัทลุงมีพราหมณ์พฤฒิบาศซึ่งทำพิธีเกี่ยวกับเรื่องช้างอาศัยอยู่มาก จึงมีบทบาทหน้าที่เด่นและมีอำนาจมากทางด้านการปกครองและการศาสนา ตำนานนางเลือดขาวได้กล่าวว่า นางเลือดขาวเป็นผู้หญิงมีบุญญาธิการได้สร้างวัด สร้างพระพุทธรูปไว้หลายตำบลและพระยากุมารกับนางเลือดขาวเป็นเจ้าเมืองพัทลุง เมืองพัทลุงเป็นหัวเมืองขึ้นหรือเมืองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะเส็ง ถือตรางูเล็กเป็นตราประจำเมือง และมีวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดประจำเมืองพัทลุง
7. เมืองตรัง ตั้งอยู่ริมฝั่งของแม่น้ำตรัง บริเวณบ้านห้วยยอดกับบ้านลำภูรา ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
เมืองตรังเป็นเมืองหนึ่งที่ไม่ใหญ่โตมากนัก เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญที่สุดของฝั่งทะเลด้านตะวันตก เป็นเมืองท่าเรือ เป็นเมืองหน้าด่าน เพื่อใช้สำหรับการติดต่อกับโลกภายนอก จึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนประตูบ้านประตูเมืองประจำด้านฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของแหลมมลายู เมืองตรังเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชมีหน้าที่คอยดูแลรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า ทรัพยากร และภาษีส่วย ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์เสด็จออกจากเมืองลังกามาขึ้นท่าเรือที่เมืองตรัง และตำนานนางเลือดขาวได้กล่าวว่า นางเลือดขาวผู้มีบุญญาธิการกับพระยากุมารพร้อมด้วยคณะเดินทางไปแสวงบุญยังเกาะลังกาทั้งไปและกลับต้องมาลงเรือและขึ้นเรือที่ท่าเมืองตรัง เมืองตรังเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะเมีย ถือตราม้าเป็นตราประจำเมือง และมีวัดย่านเลือนเป็นวัดประจำเมืองตรัง
8. เมืองชุมพร ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำชุมพร บริเวณบ้านประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
เมืองชุมพรตั้งอยู่เหนือสุด เป็นช่วงต่อแดนระหว่างเมืองประทิวกับเมืองบางสะพาน ซึ่งมีแนวแบ่งเขตตามธรรมชาติ ตามสัญญาระหว่างพระเจ้าอู่ทองกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมืองชุมพรได้ชื่อว่า “เมืองเคราะห์ร้าย” เพราะเป็นเมืองหน้าด่านที่อ่อนแอ น้ำท่วมพร้อมทั้งถูกวาตภัยเป็นประจำ พลเมืองต้องทุกข์ยากในการดำรงชีวิตและจุดที่ตั้งเป็นชุมทางยุทธศาสตร์เมืองหน้าด่านเกิดศึกสงครามทุกครั้งจะถูกโจมตี ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเสมอ จึงถือได้ว่าเมืองชุมพรได้รับความเดือดร้อนแสนเข็ญมากกว่าเมืองอื่นๆบนแหลมมลายู เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะแม ถือตราแพะเป็นตราประจำเมือง และมีวัดประเดิมเป็นวัดประจำเมืองชุมพร
9. เมืองบันไทยสมอ ตั้งอยู่ที่บ้านเวียง ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมืองบันไทยสมอหรือเมืองไชยา ศูนย์กลางเมืองตั้งอยู่ที่ราบลุ่มคลองไชยา ตัวเมืองตั้งอยู่บนสันทรายวางแนวเหนือใต้ ยาวประมาณ 288 เมตร กว้างประมาณ 278 เมตร รูปทรงสี่เหลี่ยม เรียกว่าเมืองพระเวียง เมืองนี้มีวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยศรีวิชัย และมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธนิกายมหายานและนิกายลังกาวงศ์และมีอิทธิพลของขอม มีพื้นที่ทำนาอันอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยมาจนถึงปัจจุบัน เมืองไชยยาเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางการเมือง เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ และเป็นเจ้าแห่งอ่าวบ้านดอนหรืออ่าวไชยา เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมก็มาเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีวอก ถือตราลิงเป็นตราประจำเมือง และมีวัดเวียงเป็นวัดประจำเมืองบันไทยสมอ
10. เมืองสะอุเลา ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าทองอุแทหรือท่าทองอุทัย ตำบลท่าทองอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมืองสะอุเลาเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองท่าทองเป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ตัวเมืองตั้งอยู่ในลุ่มน้ำท่าทอง มีการติดต่อและมีความสัมพันธ์กับเมืองคีรีรัฐนิคม มีพื้นที่ทำนาปลูกข้าวกว้างขวางโดยรวมเอาทั้งสิชลและขนอม ตลอดชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีระกา ถือตราไก่เป็นตราประจำเมือง และมีวัดประดู่ (วัดอุทยาราม) เป็นวัดประจำเมืองสะอุเลา
11. เมืองตะกั่วถลาง ตั้งอยู่ที่บ้านดอนและบ้านตะเคียน ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
เมืองตะกั่วถลางเดิมน่าจะอยู่ที่ตะกั่วป่าและตะกั่วทุ่ง ซึ่งหลักฐานนี้ชี้ชัดว่าเมืองถลางจะต้องมีทรัพยากรแร่ดีบุกเป็นสินค้าหลัก เมืองถลางจึงขยายตัวมาจากเมืองตะกั่วทุ่งและตะกั่วป่า สาเหตุเพราะต้องการลงไปขุดหาแร่ เนื่องจากแร่ต่างๆบนบกขุดหากันมานานจึงหายากขึ้น บนเกาะถลางมีแร่ดีบุกมากและเป็นแหล่งแร่ใหม่ซึ่งตลาดต้องการ จึงได้อพยพคนลงไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและขุดหาแร่ เป็นการขยายชุมชนออกไป เมืองตะกั่วถลางเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีจอ ถือตราสุนัขเป็นตราประจำเมือง และมีวัดพระนางสร้างเป็นวัดคู่เมืองตะกั่วถลาง
12. เมืองกระบุรี ตั้งอยู่บ้านนาน้อย ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
เมืองกระบุรีเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดและตรงส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู เป็นเมืองสุดท้ายที่มีขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นเมืองท่าและควบคุมเส้นทางเดินบกข้ามแหลมมลายูสู่ชุมพร เมืองนี้จึงไม่ค่อยมีบทบาทและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากนัก มีผู้คนอาศัยอยู่น้อย ที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณต้นน้ำกระบุรีหรือบริเวณปากน้ำจั่น มีภูเขาล้อมรอบเกือบทุกด้าน เมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งเมืองกระบุรีขึ้นเป็นเมืองสิบสองนักษัตร เพื่อป้องกันผลประโยชน์และดูแลรัฐนครศรีธรรมราช ทรงกำหนดให้เป็นปีกุน ถือตราสุกร(หมู) เป็นตราประจำเมือง และมีวัดจันทารามเป็นวัดประจำเมืองกระบุรี
ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองสิบสองนักษัตร โดยการยกฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และมีความพร้อมขึ้นเป็นเมืองในปีนักษัตรตามลำดับเมืองและปีนักษัตรนั้นๆ ส่วนการใช้รูปสัตว์ในปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้เลียนแบบจากวิธีการของพราหมณ์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบพุทธ โดยให้มีความหมายว่าจักรราศีทั้งหมดหมุนรอบแกนของจักรวาล คือ องค์ศรีธรรมาโศกราชที่เป็นประมุขของรัฐ พระองค์ทรงใช้ตราประจำเมืองหรือประจำพระองค์เป็นรูปดอกบัว ซึ่งเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์
หน้าที่ของเมืองสิบสองนักษัตร
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า พระอินทร์ได้ส่งพระวิษณุกรรม์ลงมาช่วยเหลือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ทรงตั้งเมืองสิบสองนักษัตรขึ้น เพื่อให้มาก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์และวิหารต่างๆ แต่ต้องประสบปัญหา คือ ไข้ห่า ผู้คนล้มตาย เมืองร้างอยู่เป็นเวลานาน พระนิพพานโสตรได้กล่าวว่าเมื่อกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์เสร็จแล้ว ทรงเปิดโอกาสให้เมืองสิบสองนักษัตรเป็นผู้รับผิดชอบหรือทำหน้าที่สร้างสรรค์และทะนุบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ได้ส่งผลให้หัวเมืองน้อยใหญ่ในรัฐได้มีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดกับศูนย์รวมแห่งความศักดิ์ จึงส่งผลให้ระบบความเชื่อเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้และพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในรัฐนี้และเป็นระบบความเชื่อที่มีการสืบต่อมาอย่างยาวนาน ดังที่ปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนในปลายของคาบสมุทรมลายูยังคงเดินทางมาจารึกแสวงบุญ ณ ศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้สืบต่อกันมาตราบจนทั่งปัจจุบันนี้
สรุป
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐนครศรีธรรมราช ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชได้สถาปนาเมืองสิบสองนักษัตรขึ้นมาปกครองรัฐนี้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 เพราะในช่วงระยะเวลานี้เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังคนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าก็ดีขึ้น และศิลปวัฒนธรรมก็เจริญ เมืองสิบสองนักษัตรจึงมีหน้าที่ในการสร้างสรรค์และบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และการนำทรัพยากรมาเป็นสินค้าออกของรัฐอีกด้วย
เมืองสิบสองนักษัตรของรัฐนครศรีธรรมราชได้แก่ เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันไทยสมอ เมืองสะอุเลา เมืองตะกั่วถลาง และเมืองกระบุรี
เมืองสายบุรีตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำสายบุรี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมืองปัตตานีตั้งอยู่บริเวณบ้านวัด บ้านประแว และบ้านจาเละ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมืองกลันตันตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำกลันตัน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของนครโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมืองปาหังตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปาหัง (โกโลเปก) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังเปอร์กัน รัฐปาหัง ประเทศมาเลเซีย เมืองไทรบุรีตั้งอยู่ฝั่งทะเลทิศตะวันตก ปัจจุบันอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอโกตาร์สตาร์ รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย เมืองพัทลุงตั้งอยู่บนสันทรายใหญ่ที่โคกเมือง ตำบลจองถนน อำเภอ เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เมืองตรังตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำตรัง ที่บ้านห้วยยอด และบ้านลำภูรา ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เมืองชุมพรตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำชุมพร บริเวณบ้านประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เมืองบันไทยสมอตั้งอยู่ที่บ้านเวียง ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองสะอุเลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าทองอุแท ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองตะกั่วถลางตั้งอยู่ที่บ้านดอน และบ้านตะเคียน อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และเมืองกระบุรีตั้งอยู่ที่บ้านนาน้อย ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองสิบสองนักษัตรขึ้น โดยการยกฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ ทางยุทธศาสตร์ และความพร้อมของเมืองขึ้นตามลำดับก่อนหลัง โดยการใช้รูปสัตว์ในปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชใช้ตรารูปดอกบัวเป็นตราประจำเมือง เมื่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสำเร็จแล้ว ทรงเปิดโอกาสให้เมืองสิบสองนักษัตรเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสรรค์และทะนุบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์ จึงส่งผลให้เจ้าเมืองน้อยใหญ่ได้มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกัน มีระบบความเชื่อเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์ และพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ดังที่พุทธศาสนิกชนได้เดินทางมาแสวงบุญ ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จนถึงปัจจุบันนี้
เอกสารอ้างอิง
พระปราโมทย์ กลิ่นละมัย. การศึกษาบทบาททางการปกครองของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช : กรณีศึกษาจาก “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช”. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตร
มหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2550.
พุทธศาสนสุภาษิต
อุฏฺฐานกาลมฺหิ อนุฏฺฐหาโน ยุวา พลี อาลสิยํ อุเปโต
สํสนฺนสงฺกปฺปมโน กุสีโต ปญฺญาย มคฺคํ อลโส น วินฺทติ
บุคคลยังหนุ่มแน่นมีกำลัง (แต่) ไม่ขยันในกาลที่ควรขยัน เข้าถึงความเป็นผู้เกียจคร้าน
มีใจประกอบด้วยความดำริอันจมแล้ว ขี้เกียจ เกียจคร้าน ย่อมไม่ประสบทางด้วยปัญญา