โชว์ทำโชว์งาน

วันจันทร์ที่ 1 สิงหาคม พ.ศ. 2554

ตำนานพระทันตธาตุเมืองนครศรีธรรมราช

บทความเรื่อง
ตำนานพระทันตธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต)

พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชหรือพระธาตุยอดทองตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารหรือที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า “ในพระ” ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ อันเปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวปักษ์ใต้ทั้งหมด ในชั่วชีวิตสักครั้งหนึ่งขอให้ได้มีโอกาสไปนมัสการองค์พระบรมธาตุก็ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่แล้ว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคนภาคกลางที่ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้ไปทำบุญไหว้พระพุทธบาทสักครั้งในชีวิตถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ สมัยที่ต้องเดินเท้ารอนแรมอันแสนลำบาก แต่หัวใจเปี่ยมด้วยแรงศรัทธาเป็นล้นพ้นมีแก้วแหวนเงินทองติดตัวไปก็ถอดถวายแด่องค์พระบรมธาตุด้วยหัวใจที่เปี่ยมสุข
ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลานำมาจากกรุงลังกามาประดิษฐานไว้ที่หาดทรายแก้วแห่งนี้ เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของมหาชนทั่วไป พระทันตธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้มีเรื่องปรากฏอยู่ในตำนานพระเขี้ยวแก้วและคัมภีร์ชินกาลมาลินีว่าเมื่อครั้งถวายพระเพลิงพุทธสรีระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มกุฏพันธนเจดีย์ แคว้นมัลละในครั้งนั้น เขมภิกษุซึ่งเป็นพระสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารูปหนึ่งได้นำพระทันตธาตุออกมาจากจิตกาธานในขณะที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็นำไปมอบให้พระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์แคว้นกลิงคราษฎร์ได้นำพระทันตธาตุไปประดิษฐาน ณ เมืองทันตบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นกลิงคราษฎร์ในเวลานั้นและน่าจะประดิษฐานพระทันตธาตุที่เมืองทันตบุรีสืบมาเป็นเวลาประมาณ 100 กว่าปี
ครั้นเมื่อถึงสมัยของพระเจ้าคูหาสิวะ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันครองกรุงลังกา ประมาณปี พ.ศ.841- 869 พระเจ้าคูหาสิวะได้ให้พระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์เมืองปาตลิบุตรอัญเชิญพระทันตธาตุไปประดิษฐานในกรุงปาตลิบุตร เพราะว่าเมืองปาตลิบุตรเป็นเมืองใหญ่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมืองนี้ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำคงทางตอนเหนือของแคว้นกลิงคราษฎร์ เพื่อให้ชาวเมืองปาตลิบุตรที่เลื่อมใสศรัทธาได้สักการบูชาพระทันตธาตุชั่วขณะระยะเวลาหนึ่ง
พระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์เมืองปาตลิบุตรถูกพวกนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวศยะ (ไวษณพนิกาย) พวกหนึ่งทูลยุยงให้นำพระทันตธาตุออกมาทดลองความศักดิ์สิทธิ์ด้วยวิธีการต่างๆ อันเป็นวิธีการที่ดูถูกเหยียดหยาม แต่ตามตำนานว่าพระทันตธาตุเกิดปาฎิหาริย์ชวนให้เลื่อมใสเป็นอัศจรรย์ยิ่งขึ้นทุกที และผลจากการทดลองครั้งนี้เองจึงทำให้พระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระองค์จึงทรงขับไล่พวกเดียรถีย์ที่เป็นตัวการ ยุยงและบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาออกไปจากเมืองปาตลิบุตร พวกเดียรถีย์เมื่อถูกขับไล่ออกจากเมืองปาตลิบุตรก็ไปประจบประแจงพระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์เมืองขันธบุรีทูลยุยงให้ไปโจมตีเมืองปาตลิบุตรเพื่อชิงพระทันตธาตุมาทำลายเสีย แต่การยกทัพไปโจมตีเมืองปาตลิบุตรของพระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์ครั้งนี้ถูกกองทัพของพระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์ตีแตกและพ่ายแพ้กลับไป พระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในที่สนามรบ ต่อจากนั้นไม่นานพระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์ก็คืนพระทันตธาตุให้แก่พระเจ้าคูหาสิวะนำกลับไปประดิษฐานในเมืองทันตบุรีตามเดิม
เมื่อพระเจ้าคูหาสิวะนำพระทันตธาตุกลับไปประดิษฐาน ณ กรุงทันตบุรีไม่นานนัก ท้าวอังกุลราชพระนัดดาของพระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์เมืองขันธบุรีสืบต่อมาจากพระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์ก็รวบรวมกำลังยกทัพมาตีเมืองทันตบุรีเป็นศึกใหญ่ พระเจ้าคูหาสิวะมีพระทัยปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไม่ให้พระทันตธาตุตกไปอยู่ในมือข้าศึก เพราะทรงทราบดีว่าข้าศึกเป็นคนนอกศาสนามีความต้องการพระทันตธาตุไปทำลาย แต่เมื่อประมาณดูกำลังของข้าศึกแล้วทรงเห็นว่าไม่สามารถจะสู้กับกองกำลังของข้าศึกได้ พระเจ้าคูหาสิวะจึงมอบพระทันตธาตุให้แก่เจ้าชายทันตกุมารซึ่งเป็นราชบุตรเขยและเป็นราชบุตรของพระเจ้าอุชเชนิราชมีศักดิ์เป็นพระนัดดาของพระองค์และเจ้าหญิงเหมมาลาราชธิดา พระองค์ทรงรับสั่งว่าให้ทั้งสองพระองค์ช่วยกันนำพระทันตธาตุหลบหนีออกจากเมืองทันตบุรีไปถวายให้ถึงพระหัตถ์ของพระเจ้ากรุงลังกาให้จงได้
ครั้นเมื่อกรุงทันตบุรีแตก พระเจ้าคูหาสิวะสิ้นพระชนม์ในสนามรบ เจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาจึงนำพาพระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วหลบหนีลงเรือสำเภาหนีข้าศึกไปลังกา แต่เรือสำเภาโดยสารถูกพายุพัดมาทางฝั่งตะวันตกของแผ่นดินรูปด้ามขวานแห่งสุวรรณทวีป คือ ดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยและในที่สุดเรือสำเภาแตกก็จมลง คลื่นซัดเจ้าชายและเจ้าหญิงรอดพระชนม์มาขึ้นฝั่งบนแผ่นดินส่วนนี้ทั้งสองพระองค์ เจ้าหญิงเหมมาลาทรงนำพระทันตธาตุซุกไว้ในมุ่นมวยผมมาตลอดเวลา ทั้งสองพระองค์ได้เดินทางมาจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกบุกป่าเดินทางข้ามแผ่นดินมาทางทิศตะวันออกจนบรรลุถึงฝั่งทะเลตรงกับหาดทรายแก้ว จึงได้ฝังซ่อนพระทันตธาตุไว้เกือบใจกลางของหาดทรายและทำสัญลักษณ์ไว้แล้วข้ามกลับไปอยู่ในหมู่บ้านริมฝั่งแผ่นดินใหญ่ โดยปิดบังฐานะอันแท้จริงของตนเองอย่างเข้มงวดอยู่หลายเดือนเพื่อรอโอกาสที่จะเดินทางกลับไปลังกาให้ปลอดภัย
ครั้นในเวลาต่อมาเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาได้พบกับพระภิกษุอรัญวาสีรูปหนึ่ง ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชชื่อว่ามหาเถรพรหมเทพ ตามตำนานกล่าวว่ามหาพรหมเทพเป็นพระอรหันต์ท่องธุดงค์มาจากอินเดีย เจ้าชายและเจ้าหญิงเลื่อมใสพระอรหันต์รูปนี้มากจึงได้เปิดเผยฐานะอันแท้จริงของตัวเองและเล่าเรื่องแต่หนหลังให้มหาเถรพรหมเทพทราบโดยตลอด พระอรหันต์รูปนี้ได้ช่วยเหลือเจ้าชายและเจ้าหญิงนำพระทันตธาตุเดินทางบกไปยังท่าเรือเมืองตรังฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตก ซึ่งในขณะนั้นเป็นท่าเรือที่สำคัญที่มีเรือขนาดใหญ่ไปมาค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ ในฝั่งทะเลทางทิศตะวันตก เช่น ลังกา อินเดีย และอาหรับ เมื่อสืบทราบได้ความว่าเหตุการณ์ที่เมืองทันตบุรีสงบลงแล้ว มหาเถรพรหมเทพก็ได้นำเจ้าชายและเจ้าหญิงพร้อมกับพระทันตุธาตุโดยสารเรือสำเภาค้าขายลำหนึ่งออกจากท่าเรือเมืองตรังไปยังลังกาโดยปลอดภัย
เมื่อเจ้าชายทันตกุมารกับเจ้าหญิงเหมมาลาเดินทางมาถึงเมืองลังกาก็เข้าเฝ้าพระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันกษัตริย์กรุงลังกา ถวายพระทันตธาตุและกราบทูลเรื่องราวแต่หนหลัง พระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันทรงรับพระทันตธาตุด้วยความโสมนัสปราโมทย์ จัดพิธีสมโภชเป็นการใหญ่และประดิษฐานพระทันตธาตุไว้ในกรุงลังกาเมื่อประมาณปีพ.ศ.854 พระองค์ทรงพระราชดำริว่าหาดทรายแก้วซึ่งเป็นที่ฝั่งพระทันตธาตุชั่วระยะเวลาหนึ่งนั้นเป็นมงคลภูมิ ทั้งในเวลานั้นก็มีคนไปพำนักอยู่อาศัยแล้วต่อไปในภายหน้าคงจะเป็นเมืองใหญ่ที่มั่นคง สมควรที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้ให้เป็นที่สักการบูชาของมหาชนสืบไป
พระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันทรงจัดตั้งคณะธรรมทูตขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งนำโดยเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลา เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับไปฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยฝังซ่อนพระทันตธาตุ คณะธรรมทูตได้อัญเชิญพระบรมสารริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวนหนึ่งมุ่งหน้าไปสู่หาดทรายแก้ว โดยการเดินทางด้วยเรือสำเภามาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเมืองตรังแล้วยกขบวนเดินบกจนมาถึงหาดทรายแก้ว จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุผอบแก้วลงฝังไว้ ณ ที่ร่องรอยเดิมที่เจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาเคยฝังพระทันตธาตุ โดยใช้ขันทองรองรับผอบอีกครั้งหนึ่งแล้วก่อพระเจดีย์องค์เล็กๆ ครอบไว้เพื่อเป็นเครื่องหมาย อธิษฐานเสี่ยงทายเอาพุทธบารมีผูกด้วยตาภาพยนตร์ขึ้นรักษา และพระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนหนึ่งได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ทันตบุรี แคว้นกลิงคราษฎร์ พระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันทรงมีพระราชสารให้คณะธรรมทูตถือไปถวายกษัตริย์พระองค์ใหม่ของเมืองทันตบุรี เพื่อขอให้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้แทนพระทันตธาตุ ณ ที่ประดิษฐานเดิมและทรงขอร้องไม่ให้ทำอันตรายเจ้าชายและเจ้าหญิงเชื้อสายกษัตริย์เก่า
หาดทรายแก้วบริเวณฝังซ่อนพระทันตธาตุเดิมยังคงว่างเปล่า แต่ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ของหาดทรายรวมทั้งแผ่นดินใหญ่ น่าจะมีผู้คนตั้งหลักแหล่งอาศัยประปรายแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานจากหลายแหล่งว่าแผ่นดินส่วนนี้เป็นแหล่งชุมชนเรือสำเภานานาชาติหรือท่าเรือที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งและดินแดนแห่งนี้เคยมีพระภิกษุอรัญวาสีจากดินแดนอื่นท่องธุดงค์ผ่านมามิได้ขาด ประกอบกับคณะธรรมทูตจากลังกาที่มีเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลานำพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ ณ หาดทรายแก้วพร้อมทั้งก่อพระเจดีย์องค์เล็กๆ ครอบไว้ ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้เริ่มปักหลักลงแล้ว ณ หาดทรายแก้วตั้งแต่ครั้งนั้นมา อย่างไรก็ตามในระยะนั้นชุมชนแห่งนี้ยังไม่ได้ตั้งเป็นเมืองและไม่มีกษัตริย์ปกครอง

สรุป
พระบรมธาตุเจดีย์หรือพระธาตุยอดทองเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวปักษ์ใต้ พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเจ้าชายทันตกุมารกับเจ้าหญิงเหมมาลาได้นำมาจากลังกา เพื่อให้มหาชนได้สักการบูชา พระทันตธาตุและพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้มีปรากฏอยู่ในตำนานพระเขี้ยวแก้วและคัมภีร์ชินกาลมาลินีว่าเขมภิกขุได้นำออกมาจากจิตกาธานในขณะที่ถวายพระเพลิงแล้วนำไปถวายพระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์แคว้นกลิงคราษฎร์นำไปประดิษฐานที่เมืองทันตบุรี
ครั้นเมื่อเกิดศึกสงครามแย่งชิงพระทันตธาตุ พระเจ้าคูหาสิวะได้มอบพระทันตธาตุให้กับเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลานำไปถวายให้กับพระเจ้ากรุงลังกา แต่เรือสำเภาถูกพายุพัดอับปางลงกลางทะเล คลื่นซัดเจ้าชายและเจ้าหญิงมาขึ้นฝั่งตะวันตกของภาคใต้ทั้งสองพระองค์เดินทางข้ามบกมาถึงฝั่งตะวันออกและได้ฝังซ่อนพระทันตธาตุไว้บนหาดทรายแก้ว
เจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาได้พบกับพระมหาเถรพรหมเทพ พระอรหันต์องค์นี้ได้ช่วยเหลือให้เจ้าชายและเจ้าหญิงได้เดินทางนำพระทันตธาตุไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา และจัดพิธีสมโภชพระทันตธาตุเป็นการใหญ่ กษัตริย์กรุงลังกาได้จัดตั้งคณะธรรมทูตขึ้นคณะหนึ่งด้วยการนำของเจ้าชายทันตกุมารกับเจ้าหญิงเหมมาลา นำพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ากลับไปประดิษฐานบนหาดทรายแก้วและก่อเจดีย์ครอบไว้ คณะธรรมทูตก็ได้นำพระทันตธาตุอีกส่วนหนึ่งไปประดิษฐานที่เมืองทันตบุรี แคว้น กลิงคราษฎร์ไว้แทนพระทันตธาตุเดิม
หาดทรายแก้วสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งนั้นก็ได้กลายมาเป็นแหล่งชุมชน เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ ท่าเรือสำเภานานาชาติ และเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาที่ได้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบันนี้

เอกสารอ้างอิง
ดิเรก พรตตะเสน, “พุทธศาสนาในนครศรีธรรมราช” ในรายงานสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช,
(กรุงเทพมหานคร : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, 2521.
พุทธศาสนสุภาษิต
อนิจฺจา อทฺธุวา กามา พหุทุกฺขา มหาวิสา
อโยคุโฬว สนฺตตฺโต อฆมูลา ทุกฺขปฺผลา
กามทั้งหลาย ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก
มีพิษมาก ดังก้อนเหล็กที่ร้อนจัด เป็นต้นเหตุ (เค้า)
แห่งความคับแค้น มีผลเป็นทุกข์
ขุ.เถรี ๒๖/๕๐๓

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

นางเลือดขาว : ตำนานผู้หญิงที่มีบุญญาธิการ

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต)
บทนำ
ตำนานนางเลือดขาวหรือเพลานางเลือดขาวเดิมเป็นตำนานมุขปาฐะที่เล่าสืบทอดต่อๆ กันมา จนต่อมานักปราชญ์หรือผู้รู้ในท้องถิ่นจึงได้คิดรวบรวมจารลงบนกระดาษเพลา (เพลา คือ ตำรา ตำนาน และพระราชกำหนดที่ได้แต่งขึ้นหรือตราไว้เป็นหลักฐานสำคัญเขียนลงสมุดข่อยเป็นหนังสือคู่วัดหรือคู่บ้านคู่เมือง) แต่อย่างไรก็ตามเนื่องจากตำนานนางเลือดขาวแพร่กระจายอย่างกว้างขวางในท้องถิ่นภาคใต้ ตลอดแหลมมลายูในรูปคำบอกเล่าที่มีความแตกต่างและเหมือนกันในบางท้องถิ่น จากการศึกษาและสำรวจข้อมูลภาคสนามของชัยวุฒิ พิยะกูล พบว่าตำนานนางเลือดขาวมีแพร่กระจายอยู่ในจังหวัดชุมพร นครศรีธรรมราช ตรัง สงขลา พัทลุง ภูเก็ต และรัฐทางตอนเหนือของประเทศมาเลเซีย ซึ่งผู้คนได้เล่าสืบทอดกันมายาวนานจนกลายเป็นตำนานประจำถิ่น
ตำนานนางเลือดขาว (พัทลุง) สะท้อนให้เห็นตำนานท้องถิ่นบริเวณลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา และบริเวณใกล้เคียงที่เกี่ยวกับเมืองสทิงพระและเมืองพัทลุง อันเป็นหลักฐานทางด้านการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี พระพุทธศาสนา และศิลปวัฒนธรรม ตลอดจนแนวคิดที่เกี่ยวกับความบริสุทธิ์ ความซื่อสัตย์ ความกตัญญู และความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนา อันเป็นสัญลักษณ์ของสตรีที่ดีและสตรีที่เป็นผู้นำของชุมชน
ประวัตินางเลือดขาว (ตำนานนางเลือดขาว)
ในอดีตกาลพระพุทธศาสนาล่วงแล้ว ๒๗๓ ปี ณ ชมพูทวีป ประเทศอินเดีย เมื่อพระเจ้าพินธุสารเสด็จสวรรคตโอรสของพระองค์เกิดการแก่งแย่งราชสมบัติมีการรบราฆ่าฟันกันในหมู่พระราชวงศ์ ในที่สุดอโศกกุมารมีชัยได้ราชสมบัติครอบครองเมืองปาฎลีบุตรแห่งแคว้นมคธ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชเสด็จขึ้นครองราชสมบัติแล้วได้ทรงขยายแสนยานุภาพของอาณาจักรมคธให้แผ่ไพศาล โดยการทำสงครามปราบปรามแคว้นต่างๆ ไว้ในอำนาจ สงครามครั้งสำคัญ คือสงครามปราบแคว้นกลิงคราษฎร์ ในสงครามครั้งนั้นได้มีการรบราฆ่าฟันผู้คนล้มตายลงเป็นจำนวนมากมายทำให้ผู้คนที่ได้รับความเดือดร้อนจากผลของสงครามพากันลงเรืออพยพออกนอกอาณาจักรผ่านทะเลอันดามัน แล้วแยกย้ายกันขึ้นฝั่งทางด้านฝั่งทิศตะวันตกของภาคใต้ประเทศไทย ได้มีชาวอินเดียบางส่วนขึ้นฝั่งที่ “ท่าประตูทะเล” หรือ “ท่าประตูเล” (อำเภอปะเหลียน จังหวัดตรัง) แล้วเดินข้ามแดนทางช่องเขาบรรทัดผ่านเมืองตระแล้วแยกย้ายเป็น ๒ สาย คือ
สายที่ ๑ เดินทางแยกไปทางทิศใต้จนถึงเขาปัจจันตระ (เขาจันทน์) แล้วล่องเรือลงตามลุ่มน้ำ ฝาละมีมาขึ้นฝั่งเข้าอาศัยอยู่ที่ “หน้าท่าทิดครู” (บ้านท่าทิดครู ตำบลหารเทา อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง)
สายที่ ๒ เดินทางแยกไปทางทิศเหนือเลียบเชิงเขาจนถึงบ้านโหมด เข้าอาศัยอยู่ในถ้ำไม้ไผ่ตง
และถ้ำไม้ไผ่เสรียงเรียกสถานที่นั้นว่า “ที่โมชฬะ” หรือ “ที่ปราโมทย์” ต่อมาเพี้ยนเป็น “ตะโหมด” (อำเภอตะโหมด จังหวัดพัทลุง)
ในครั้งนั้นยังมีตายายสองผัวเมีย คือ ตาสามโมกับยายเพชร อยู่ที่ตำบลปละท่า ทิศตะวันตกของทะเลสาบสงขลา คือ บ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน จังหวัดพัทลุง ตาสามโมเป็นหมอสดำหรือหมอช้างขวา เป็นผู้ที่มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกหัดสำหรับส่งให้เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี ปีละ ๑ เชือก เรียกสถานที่นั้นว่า “ที่คช” หรือ “ที่ส่วยช้าง” มีอาณาเขตถึงบ้านท่ามะเดื่อ ตำบลท่ามะเดื่อ อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
ครั้งหนึ่งตายายทั้งสองได้เดินทางไปจับช้างป่า จนถึงถิ่นปราโมทย์พบชาวอินเดียที่ถ้ำไม้ไผ่ตงได้รู้จักสนิทสนมกันเป็นอย่างดี ชาวอินเดียได้ยกบุตรีให้ตายายคนหนึ่ง ตายายทั้งสองได้รับไว้เป็นบุตรบุญธรรม นำมาเลี้ยงไว้ที่บ้านพระเกิดให้ชื่อว่า “นางเลือดขาว” เพราะเป็นผู้ที่มีผิวกายขาวกว่าชาวพื้นเมือง อยู่ต่อมาไม่นานตายายทั้งสองมาคิดคำนึงว่าควรจะหาบุตรชายชาวอินเดียไว้สักคนหนึ่ง เพื่อเป็นคู่ครองของนางเลือดขาวในเวลาต่อไป จึงเดินทางไปขอบุตรชายชาวอินเดียที่อาศัยอยู่ที่ถ้ำไม้ไผ่เสรียง ไว้เป็นบุตรบุญธรรมให้ชื่อว่า “กุมาร”หรือ“เจ้าหน่อ”
วันหนึ่งช้างพังตลับของตาสามโมได้หายไปจากบ้านถึง ๑๕ วัน ตาสามโมจึงออกเดินทางติดตามช้างไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านพระเกิด จนถึงคลองบางแก้วก็ไปพบช้างพังนอนทับขุมทรัพย์ไว้ ตาสามโมจึงนำทรัพย์บางส่วนและช้างกลับบ้านพระเกิด ปรึกษากับยายเพชรเพื่อสะดวกต่อการรักษาทรัพย์สมบัติเห็นควรที่จะย้ายบ้านไปอยู่ที่บางแก้ว แต่ยังไม่ได้ดำเนินการโยกย้ายในทันที อยู่ต่อมาอีกหลายปีจนกระทั่งบุตรทั้งสองมีอายุได้ ๑๙ ปี ตายายทั้งสองจึงจัดพิธีให้นางเลือดขาวกับกุมารแต่งงานเป็นสามีภรรยาแล้วจึงโยกย้ายจากบ้านพระเกิดไปยังบางแก้วโดยนางเลือดขาวกับกุมารขี่ช้างพังตลับ มีควาญช้างชื่อนายแก่นคง ตาสามโมกับยายเพชรขี่ช้างพลายคชวิชัย มีควาญช้างชื่อหมอสีเทพ ออกเดินทางไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือจนถึงบางแก้ว จึงตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้ๆ กับขุมทรัพย์ อยู่ต่อมาไม่นานตาสามโมกับยายเพชรก็ถึงแก่กรรม กุมารกับนางเลือดขาวได้ทำการฌาปนกิจศพเสร็จแล้ว นำอัฐิไปฝังไว้ในถ้ำคูหาสวรรค์และได้สร้างรูปพระฤาษีตาไฟไว้เป็นอนุสรณ์รูปหนึ่ง แล้วจึงเดินทางกลับบ้านบางแก้ว
หลังจากตายายทั้งสองถึงแก่กรรมแล้ว กุมารกับนางเลือดขาวได้รับมรดกเป็นนายกองช้าง เลี้ยงช้างส่งให้เจ้าพระยากรุงทองต่อไป ต่อมาทั้งสองได้ปรึกษาตกลงกันว่าควรนำทรัพย์สมบัติมาสร้างบุญกุศลขึ้นในพระพุทธศาสนาเพื่ออุทิศให้ตายายทั้งสองที่ล่วงลับไปแล้ว ทั้งสองจึงได้นำบริวารทำการถากถางป่าบริเวณริมคลองบางแก้ว สร้างเป็นกุฏิ วิหาร อุโบสถ พระธรรมศาลา พระพุทธรูปเสร็จแล้วเจ้าพระยากรุงทองได้เดินทางมาร่วมกันสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ขึ้นที่วัดเขียนบางแก้ว ตั้งแต่นั้นมาเรียกสถานที่นั้นว่า “ที่วัด” มีอาณาเขตถึงบ้านดอนจิงจาย อำเภอเขาชัยสน
ต่อมาเจ้าพระยากรุงทอง นางเลือดขาวกับกุมารได้สร้างถนนจากบ้านบางแก้วถึงบ้านสทังและได้สร้างวัดสทังใหญ่ขึ้น ๑ วัด มีพระมหาธาตุเจดีย์ อุโบสถ วิหาร และพระพุทธรูป เมื่อเสร็จแล้วได้สร้างวัดสทิงพระขึ้นทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลามีพระพุทธไสยาสน์ พระมหาธาตุเจดีย์ ได้ทำการฉลองพร้อมกันทั้ง ๓ อาราม ได้จารึกลงในแผ่นทองคำให้ชื่อว่า “เพลานางเลือดขาว” หรือ “เพลาวัดบางแก้ว” หรือ “เพลาเมืองสทิงพระ” ตรงกับวันพฤหัสบดี เดือน ๘ ขึ้น ๕ ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ. ๑๔๘๒
จำเดิมแต่นั้นมาที่บ้านบางแก้วก็กลายเป็นชุมชนใหญ่ที่มีพ่อค้าวาณิชเดินทางมาค้าขาย กุมารกับนางเลือดขาวจึงสร้างเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง ทางทิศเหนือของวัดเขียนบางแก้ว ทั้งสองได้ปกครองเมืองพัทลุง คนทั่วไปจึงเรียกว่า “เจ้าพระยากุมาร”
ต่อมาประมาณปีพ.ศ. ๑๔๙๓ เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวทราบข่าวมาว่า เจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราช เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชจะส่งทูตไปสืบค้นหาพระบรมสารีริกธาตุที่เกาะลังกา ทูตจากเมืองนครศรีธรรมราชขี่ช้างไปทางห้วยยอดเมืองตรังแล้วลงเรือที่แม่น้ำตรังไปยังท่าเรือกันตัง เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวจึง ขี่ช้างจากบางแก้วไปจนถึงสถานที่แห่งหนึ่งได้พบหมีร้องอยู่จึงเรียกที่นั้นว่า “บ้านทะหมีร่ำ” (ทะคือ พบ,ร่ำ คือ ร้อง) คือ บ้านท่ามิหรำ อำเภอเมืองพัทลุงในปัจจุบัน เมื่อถึงเมืองตรังเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาว ได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งชื่อว่า “วัดพระงาม” แล้วไปลงเรือทูตเมืองนครศรีธรรมราชที่ท่าเรือกันตัง แล่นเรือไปเกาะลังกา
ตอนขากลับจากเกาะลังกา เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวและทูตเมืองนครศรีธรรมราช ได้นำพระบรมสารีริกธาตุกับพระพุทธสิหิงค์มาด้วย ขึ้นฝั่งที่ปากน้ำเมืองตรัง เดินทางไปพักแรมค้างคืน ณ สถานที่แห่งหนึ่งเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้สร้างวัดขึ้นวัดหนึ่งให้ชื่อว่า “วัดพระศรีสรรเพชญ์พระพุทธสิหิงค์” และยังได้จำลองรูปพระพุทธสิหิงค์ไว้ที่วัด ๑ องค์ ก่อนออกเดินทางกลับเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวยังได้ไปสร้างพระนอนไว้ที่วัดถ้ำพระพุทธ ตำบลหนองบัว อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง ๑ องค์ แล้วจึงออกเดินทางกลับบางแก้ว เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้นำพระบรมสารีริกธาตุบรรจุไว้ในพระเจดีย์วัดเขียนบางแก้ว และยังได้สร้างวัดขึ้นที่ชายหาดปากบางบางแก้ว ก่อพระพุทธไสยาสน์ พระเจดีย์ อุโบสถ วิหาร ให้ชื่อว่าวัดพระนอนหรือวัดพระพุทธไสยาสน์ ทำการฉลองพร้อมกับวัดพระพุทธสิหิงค์หรือวัดหิงค์ที่เมืองตรัง เมื่อวันอาทิตย์ เดือน ๖ แรม ๔ ค่ำ ปีกุน เอกศก พ.ศ. ๑๔๙๖
ครั้งหนึ่งเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวเดินทางเที่ยวไปถึงเมืองนครศรีธรรมราช ได้พักอยู่ที่บ้านหนองหงส์ อำเภอทุ่งสงเป็นเวลา ๑ คืน แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองนครศรีธรรมราช ได้เข้าไปบูชาพระอัฐิธาตุของเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชองค์ก่อน ได้สร้างสาธารณประโยชน์ไว้หลายตำบล เช่น ขุดสระน้ำที่วัดเขาขุนพนม ๑ แห่ง เป็นต้น
ครั้งนั้นข่าวความงามของนางเลือดขาวร่ำลือเข้าไปถึงกรุงสุโขทัย พระเจ้ากรุงสุโขทัยได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์ คุมขบวนเรือนางสนมออกไปรับนางเลือดขาวถึงเมืองนครศรีธรรมราช เพื่อจะทรงนำไปชุบเลี้ยงเป็นพระมเหสี ส่วนเจ้าพระยากุมารก็เดินทางกลับมาอยู่บ้านพระเกิด
ครั้งนั้นนางเลือดขาวเข้าไปถึงกรุงสุโขทัย ได้เข้าเฝ้าพระเจ้ากรุงสุโขทัยแต่พระองค์มิได้ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระมเหสีหรือนางสนม ด้วยนางนั้นมีสามีและมีครรภ์ติดมาแต่สามีเดิมเพียงแต่โปรดเกล้าฯ ให้อาศัยอยู่ในกรุงสุโขทัย จนนางคลอดบุตรเป็นชาย พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงขอบุตรนั้นเลี้ยงไว้ ฝ่ายนางเลือดขาวทูลลากลับเมืองพัทลุง ครั้งนั้นโปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์นำนางเลือดขาวไปส่งถึงเมืองพัทลุง โดยขบวนเรือแล่นเข้าทางแม่น้ำปากพนัง นางเลือดขาวได้ พักอาศัยอยู่บริเวณบ้านค็องหลายวัน ได้สร้างวัดขึ้นใกล้กับคลองค็อง เรียกชื่อว่า“วัดแม่อยู่หัวเลือดขาว”(ตำบลแม่อยู่หัว อำเภอเชียรใหญ่ จังหวัดนครศรีธรรมราช) แล้วเดินทางต่อไปจนถึงเมืองพัทลุง หลังจากนางเลือดขาวกลับจากกรุงสุโขทัยแล้วคนทั่วไปมักจะเรียกนางว่า “เจ้าแม่อยู่หัวเลือดขาว” หรือบางครั้งจะเรียกว่า “นางพระยาเลือดขาว” หรือ “พระนางเลือดขาว” ด้วยเข้าใจผิดว่านางเป็นพระมเหสีของพระเจ้าแผ่นดิน
ครั้นเวลาล่วงมาหลายปี นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้เดินทางท่องเที่ยวไปยังเมืองสทิงพาราณสีโดยทางเรือ ขึ้นฝั่งที่บ้านท่าทอง (ท่าคุระ) ได้สร้างวัดท่าคุระหรือวัดเจ้าแม่อยู่หัวหรือวัดท่าทองขึ้นวัดหนึ่ง และยังได้สร้างพระพุทธรูปไว้ที่วัด ๑ องค์ด้วย เรียกว่า “รูปเจ้าแม่อยู่หัว” แล้วจึงเดินทางต่อไปสร้างวัดนามีชัย (วัดสนามชัย) วัดเจ้าแม่ (วัดชะเมา) วัดเจดีย์งาม วัดเถรการาม วัดเหล่านี้ปัจจุบันอยู่ในอำเภอสทิงพระ และอำเภอระโนด จังหวัดสงขลา หลังจากนั้นจึงเดินทางกลับเมืองพัทลุง
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวได้ปกครองเมืองพัทลุงเรื่อยมาจนแก่ชรา ประชาชนจึงร่วมกันจัดงานทำบุญรดน้ำแก่นางเลือดขาว โดยจัดขบวนแห่จากเมืองพัทลุงผ่านแหลมจองถนนไปตามเส้นทางเลียบฝั่งทะเลสาบจนถึงบ้านพระเกิด ถนนสายนี้ชาวบ้านเรียกว่า “ทางพระ”หรือ“ถนนพระ” หรือ “ถนนนางเลือดขาว” เส้นทางสายนี้สิ้นสุดที่บ้านหัวถนน ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน ประชาชนได้ร่วมกันรดน้ำแก่นางเลือดขาว สถานที่นั้นจึงเรียกว่า “ทุ่งเบญจา”
เมื่อเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวแก่ชราภาพมากแล้วทางฝ่ายกรุงสุโขทัยได้ส่งบุตรของนางออกมาเป็นคหบดีปกครองอยู่ที่บ้านพระเกิด ชาวบ้านทั่วไปเรียกว่า “เจ้าฟ้าคอลาย” ด้วยเข้าใจว่าเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าแผ่นดิน และตามร่างกายได้สักลวดลายเลขยันต์ตามคตินิยมของชาวเมืองเหนือจึงเรียกว่า “เจ้าฟ้าคอลาย”
เจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวมีอายุได้ประมาณ ๗๐ ปีเศษก็ถึงแก่กรรม ฝ่ายเจ้าฟ้าคอลายผู้เป็นบุตรได้จัดการทำพิธีศพบิดามารดา โดยจัดขบวนแห่ศพจากเมืองพัทลุงไปตามถนนนางเลือดขาว นำศพมาพัก ณ สถานที่แห่งหนึ่ง ต่อมาเรียกสถานที่แห่งนั้นว่า “ที่ศพนางเลือดขาว” (อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน)ในขณะที่พักศพอยู่นั้นก็ได้นำไม้คานหามปักลงในบริเวณใกล้ๆ ต่อมาคานหามงอกงามขึ้นเป็นกอไม้ไผ่ปรากฏอยู่จนทุกวันนี้ประชาชนที่พากันมาในขบวนแห่ได้นำฆ้องใบหนึ่งไปแขวนไว้ที่กิ่งมะม่วง เพื่อตีบอกเวลาให้ประชาชนมารวมกันแล้วแห่ศพต่อไป สถานที่นั้นต่อมาเรียกว่า “มะม่วงแขวนฆ้อง” (ปัจจุบันอยู่ทางทิศใต้ของบ้านบางม่วง ตำบลฝาละมี) จนถึงบ้านพระเกิดได้ทำการฌาปนกิจศพภายในวัดพระเกิด
ฝ่ายเจ้าฟ้าคอลายเมื่อจัดการฌาปนกิจศพบิดามารดาเสร็จแล้ว นำอัฐิไปไว้ที่บ้านบางแก้ว โปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าคอลายเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ตั้งเมืองที่โคกเมืองบางแก้ว ต่อมาเจ้าฟ้าคอลายได้สร้างพระพุทธรูป ๒ องค์ไว้ที่ริมทะเลสาบทางทิศตะวันตกของเมืองให้ชื่อว่า “พระพุทธรูปสองพี่น้อง” เพื่ออุทิศเป็นกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่บิดามารดาผู้ล่วงลับไปแล้ว และยังได้นำพวกแขกชีหรือพวกคุลาให้มาสร้างพระพุทธรูปศิลาขนาดใหญ่ขึ้น ๑ องค์ เรียกว่า “พระคุลา” หรือ “พระแก้วคุลา” เจ้าฟ้าคอลายได้ปกครองเมืองพัทลุงมาจนถึงแก่อนิจกรรม
การสร้างเมืองพัทลุง
ตำนานนางเลือดขาวได้ชี้ให้เห็นถึงการก่อตั้งและพัฒนาการของเมืองสทิงพระและเมืองพัทลุง เมืองทั้งสองนี้มีประวัติความเป็นมาที่สัมพันธ์กันอย่างใกล้ชิด โดยมีเมืองสทิงพระหรือเมืองสทิงพาราณสีเป็นเมืองสำคัญที่เกิดขึ้นก่อนทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา เป็นเมืองที่แสดงให้เห็นว่าได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียและจีนมาตั้งแต่พุทธศตวรรษที่ ๑๒ - ๑๕ และเจริญรุ่งเรืองพัฒนาขึ้นเป็นเมือง สทิงพระอย่างแท้จริงประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๕ - ๑๙ มีฐานะเป็นเมืองท่าค้าขายกับนานาชาติ และเป็นเมืองศูนย์กลางการปกครองที่มีอำนาจเหนือชุมชนต่างๆ รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา โดยมีเจ้าเมืองที่สำคัญได้แก่ เจ้าพระยากรุงสทิงพาราณสีหรือเจ้าพระยากรุงทอง ทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลาบริเวณบ้านพระเกิด ตำบลฝาละมี อำเภอปากพะยูน เป็นที่ส่วยช้างของเมืองสทิงพระ มีตาสามโมกับยายเพชรสองผัวเมียเป็นหมอสดำ หมอเฒ่านายกองช้าง จับช้างส่งให้เจ้าพระยากรุงทองทุกปี
ต่อมาประมาณพุทธศตวรรษที่ ๑๙ เมืองสทิงพระเสื่อมอำนาจลง เนื่องจากเป็นเมืองขนาดเล็ก ตั้งอยู่ใกล้ทะเลอ่าวไทยมากเกินไปกับโจรสลัดมาเลย์จากชวา สุมาตรา ยกกำลังเข้าปล้นสะดมทำลายเมืองหลายครั้ง จึงทำให้เมืองสทิงพระเสื่อมลงอย่างรวดเร็ว ขณะเดียวกันทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา เมื่อตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรม ตำแหน่งนายกองช้างจึงตกแก่บุตรบุญธรรม คือกุมารกับนางเลือดขาว ทั้งสองคนได้อพยพสมัครพรรคพวกจากชุมชนบ้านพระเกิดไปตั้งเมืองที่บ้านบางแก้ว พร้อมกับการสร้างพระวิหารและพระพุทธรูปขึ้นที่วัดเขียน วัดสทัง และวัดสทิงพระ ขณะเดียวกันเจ้าพระยากรุงทองได้สร้างพระมหาธาตุขึ้นที่วัดทั้งสาม เสร็จแล้วได้ตั้งเมืองพัทลุงขึ้นที่บางแก้ว ใกล้กับวัดเขียนบางแก้วตรงบริเวณที่เรียกว่า "โคกเมือง" โดยอยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองนครศรีธรรมราช ในฐานะเมืองหนึ่งในเมือง ๑๒ นักษัตร เป็นเมืองปีมะเส็ง เมื่ออำนาจของกรุงศรีอยุธยาแผ่มาถึงภาคใต้ ได้รวมเอาเมืองนครศรีธรรมราชและยกเป็นหัวเมืองเอกของกรุงศรีอยุธยา ปกครองดูแลหัวเมืองภาคใต้ทั้งหมดจึงได้ยกเมืองพัทลุงขึ้นเป็นเมืองตรีและขึ้นตรงต่อกรุงศรีอยุธยา แต่ก็ยังอยู่ภายใต้การควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช ซึ่งเป็นช่วงที่มีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจากเมืองสทิงพระไปอยู่ที่เมืองพัทลุง จึงทำให้เมืองสทิงพระลดความสำคัญลงเป็นเมืองบริวารของเมืองพัทลุงตลอดสมัยกรุงศรีอยุธยา แต่อย่างไรก็ตามเมืองสทิงพระก็มีเจ้าเมืองปกครองต่อๆ มาอีกหลายคน เช่น พระยาธรรมรังคัล และพระยาอู่ทอง เป็นต้น ต่อมาเมื่อเมืองพัทลุงที่บางแก้วย้ายศูนย์กลางการปกครองไปอยู่ที่อื่น อันเนื่องมาจากการรุกรานหรือปล้นสะดมทำลายเมืองของโจรสลัดมาเลย์พวก "อาแจะอารู"
ประมาณพุทธศตวรรษที่ ๒๐ - ๒๒ ทำให้บริเวณเมืองพัทลุงที่บางแก้วลดความสำคัญลงไป จัดเป็นบริเวณหนึ่งที่เรียกว่า "ที่วัด" อยู่ภายใต้การดูแลของพระนนปลัดเมืองพัทลุง แต่ยังคงเป็นศูนย์กลางการปกครองทางพระพุทธศาสนาบริเวณฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา ขณะเดียวกันในบริเวณชุมชนบ้านพระเกิดก็ได้จัดเป็น "ที่คช" หรือที่ส่วยช้างมีอาณาเขตกว้างขวางทิศเหนือจดบ้านท่ามะเดื่อ และทิศใต้จดแม่น้ำจะนะ มีขุนคชราชาหรือหลวงคชราชาเป็นผู้ปกครองดูแล และเป็นนายกองช้างที่ต้องจับช้างส่งส่วยให้กรุงศรีอยุธยา ๕ ปี ต่อ ๑ เชือก
วัฒนธรรมด้านการเมืองการปกครอง
วัฒนธรรมด้านการเมืองการปกครองชี้ให้เห็นว่าในสมัยแรกเริ่มประวัติศาสตร์ เมืองสทิงพระหรือเมืองสทิงพาราณสีเป็นเมืองที่มีความเจริญรุ่งเรือง โดยอิงอยู่กับอำนาจรัฐหรืออาณาจักรศรีวิชัยและตามพรลิงค์ แต่เป็นเมืองที่มีอิสระในการปกครองชุมชนต่างๆ รอบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีเจ้าพระยากรุงทองเป็นเจ้าเมืองสทิงพาราณสี ต่อมาเมื่อเกิดเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมืองบางแก้วมีเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวผู้สืบตระกูลจากตาสามโมกับยายเพชรเป็นผู้นำชุมชน ความเจริญและศูนย์อำนาจในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาจึงได้เปลี่ยนจากเมืองสทิงพระไปอยู่ที่เมืองพัทลุง ขณะเดียวกันเมืองพัทลุงก็ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา โดยการควบคุมดูแลของเมืองนครศรีธรรมราช พระมหากษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาซึ่งสันนิษฐานว่าน่าจะตรงกับสมัยสมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ (พ.ศ. ๑๙๙๑ - ๒๐๓๑) จึงโปรดเกล้าฯ ให้รับตัวนางเลือดขาวเข้าไปกรุงศรีอยุธยาเพื่อทรงชุบเลี้ยงเป็นนางสนม แต่เมื่อทรงทราบว่านางมีครรภ์กับสามีเดิมแล้วก็ไม่ทรงยกเป็น นางสนม เมื่อนางคลอดบุตรเป็นชาย พระมหากษัตริย์ทรงขอไว้และเมื่อเติบโตขึ้นก็ได้รับราชการในเมืองหลวงในทำนองตัวประกัน เมื่อนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารถึงแก่กรรม ทางกรุงศรีอยุธยาก็โปรดเกล้าฯ ให้บุตรของนางเป็นเจ้าเมืองพระเกิดและหลังจากนั้นได้มีการแต่งตั้งคนจากราชธานีออกมาเป็นเจ้าเมืองพัทลุง ซึ่งเป็นนโยบายของกรุงศรีอยุธยาที่พยายามแต่งตั้งคนจากราชธานีมาเป็นเจ้าเมือง เพื่อควบคุมหัวเมืองต่างๆ โดยเฉพาะเมืองพัทลุงเป็นเมืองชายแดนหรือชายขอบทางทิศใต้ของกรุงศรีอยุธยา ในขณะเดียวกันเมืองพัทลุงก็มีอำนาจในการปกครองควบคุมดูแลหัวเมืองเล็กๆ ในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาซึ่งปรากฏว่ามีถึง ๘ หัวเมือง จนกระทั่งสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นเมืองพัทลุงมีเมืองบริวาร ๗ หัวเมือง

วัฒนธรรมด้านพระพุทธศาสนา
วัฒนธรรมด้านพระพุทธศาสนาในภาคใต้สมัยกรุงศรีอยุธยา คณะสงฆ์หัวเมืองภาคใต้ขึ้นกับพระวันรัตนเจ้าคณะคามวาสีฝ่ายขวาหรือคณะป่าแก้วอยู่วัดป่าแก้วหรือวัดเจ้าพระยาไทย (วัดใหญ่ไชยมงคล) ในกรุงศรีอยุธยา การปกครองคณะสงฆ์ในเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองพัทลุง เมืองไชยา มีลักษณะพิเศษกว่าหัวเมืองอื่นในภาคใต้ คือ แบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ ได้แก่ คณะป่าแก้วหรือคณะลังกาป่าแก้ว คณะลังการาม คณะลังกาชาติ และคณะลังกาเดิม มีตำแหน่งพระครู ๔ รูป ได้แก่ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาชาติ และพระครูกาเดิม คำว่า "กา" มาจากคำว่าลังกา หัวเมืองพัทลุงได้นำแบบอย่างการปกครองคณะสงฆ์มาใช้ตามแบบเมืองนครศรีธรรมราช แต่ตำนานนางเลือดขาวและเอกสารกัลปนาวัดหัวเมืองพัทลุงหลายฉบับพบว่า ในสมัยกรุงศรีอยุธยาหัวเมืองพัทลุงหรือลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์เพียง ๒ คณะเท่านั้นคือ คณะป่าแก้วตั้งศูนย์กลางที่วัดเขียนบางแก้ว และวัดสทังทางฝั่งตะวันตกของทะเลสาบสงขลา และคณะลังกาชาติหรือคณะกาชาติ ตั้งศูนย์กลางที่วัดพะโคะหรือวัดราษฎร์ประดิษฐ์ทางฝั่งตะวันออกของทะเลสาบสงขลา ส่วนสมณศักดิ์ของพระครูกาทั้ง ๔ รูป ไม่ปรากฏหลักฐานว่ามีใช้มาแล้วในหัวเมืองพัทลุง แต่น่าจะเป็นสมณศักดิ์ที่เกิดขึ้นในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ หลังจากนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้ถึงแก่กรรมแล้ว วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระ คณะสามป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงตกอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเป็นอย่างมาก ซึ่งน่าจะเนื่องมาจากการทำลายของพวกสลัดมาเลย์ที่เรียกว่า"อาแจะอารู"
ต่อมาเจ้าอินทร์บุตรปะขาวสนกับนางเป้าชาวบ้านสทัง ได้บูรณะซ่อมแซมวัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระ แล้วเดินทางไปอุปสมบทที่เมืองนครศรีธรรมราช และได้เดินทางโดยสารเรือสำเภาเข้าไปกรุงศรีอยุธยา พระสามีอินทร์เอากระบวนวัดที่ได้บูรณะขึ้นกราบบังคมทูลพระมหากษัตริย์ ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระมหาจักรพรรดิ (พ.ศ. ๒๐๙๑ - ๒๑๑๑) พระสามีอินทร์มีความดีความชอบ โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระครูอินทรเมาลีฯ เจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง และได้ถวายข้าพระโยมสงฆ์เชิงกุฏิศีลบาลทานพระกัลปนาที่ภูมิทาน และเรือสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองออกมาช่วยพระครูอินทเมาลีฯ บูรณะวัดวาอารามในเมืองพัทลุงและได้ยกวัดในแขวงเมืองนครศรีธรรมราช เมืองตรัง และเมืองพัทลุงขึ้นกับคณะป่าแก้ว จำนวน ๒๙๘ วัด วัดเขียนบางแก้ว และวัดสทัง คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง จึงเป็นศูนย์กลางที่สำคัญทางด้านการปกครองคณะสงฆ์ในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา มีการจัดรูปแบบการปกครองคณะสงฆ์ มีพระครูอินทเมาลีฯ เป็นเจ้าคณะ พระครูอันดับ ๖ รูป ได้แก่ พระครูปลัด พระครูรอง พระครูสมุห์ พระครูวินัยธร พระครูอนุโลม และพระครูบาสิกา ส่วนหมู่ข้าพระโยมสงฆ์เชิงกุฏิศีลบาลทานพระกัลปนา มีสิทธิพิเศษกว่าบุคคลทั่วไปไม่ต้องเสียส่วยสาอากร ไม่ต้องถูกเกณฑ์แรงงานจากภาครัฐ มีคดีความแพ่งอาญาทางวัดจะเป็นผู้ตัดสินกันเอง ถ้าพระจะต้องทำเรือกสวนไร่นาบนที่ดินกัลปนาหรือทำงานวัด เพื่อบำรุงรักษาวัดวาอารามไม่ให้ชำรุดทรุดโทรม โดยจัดรูปแบบการปกครองเป็นกรมวัด มีพระครูเจ้าคณะเป็นหัวหน้า มีขุนหมื่น สมุห์บัญชี นายประเพณีปกครองดูแลข้าพระโยมสงฆ์ ให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย และการพระบรมราชูทิศเพื่อกัลปนา ข้าพระโยมสงฆ์เชิงกุฏิศีลบาลทานพระกัลปนา วัตถุสิ่งของที่ภูมิทานให้แก่วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง คณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงเป็นจำนวนมากมายทำให้สถาบันสงฆ์มีบทบาทสำคัญยิ่งในการจรรโลงพระพุทธศาสนาในแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ทำให้เกิดการขยายตัวของกลุ่มชนจากเล็กเป็นชุมชนใหญ่ มีการถ่วงดุลอำนาจระหว่างสถาบันสงฆ์กับบ้านเมืองในท้องถิ่น และทำให้สถาบันสงฆ์เป็นผู้นำทางวัฒนธรรมที่แท้จริงของชุมชน
วัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับช้าง
ตำนานนางเลือดขาวได้ให้ความรู้เรื่องวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับช้าง ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับมนุษย์อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาด้านฝั่งตะวันตกที่บ้านพระเกิดเมืองพัทลุง เป็นแหล่งจับช้างหรือที่ส่วยช้าง โดยมีตาสามโมกับยายเพชรเป็นหมอสดำหมอเฒ่านายกองช้าง และนายสีเทพกับนายแก่นมั่นคงเป็นหมอช้าง ได้เลี้ยงช้างที่สำคัญไว้ ๒ เชือก คือ ช้างพลายคชวิไชยมณฑล และช้าง พังตลับ มีหน้าที่จับช้างส่งส่วยให้เจ้าพระยากรุงสทิงพระทุกปี ต่อมาเมื่อตายายถึงแก่กรรมมรดกก็ตกแก่นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมาร ในสมัยนั้นมีการส่งส่วยช้างให้แก่กรุงศรีอยุธยาปีละ ๑ เชือก และเรียกบริเวณนี้ว่าที่คชอยู่ในความควบคุมของขุนคชราชา และในสมัยกรุงศรีอยุธยาตอนปลายหัวเมืองพัทลุงได้เปลี่ยนแปลงการส่งส่วยช้างเป็น ๕ ปี ต่อ ๑ เชือก และตำนานนางเลือดขาวยังได้ระบุว่าเมืองพัทลุงได้เกิดช้างเผือกขึ้น แต่ไม่ทราบรายละเอียดอย่างอื่นที่พอจะสืบค้นได้ และด้วยเหตุที่เป็นเมืองจับช้างส่งส่วยมาแต่โบราณ จึงมีผู้สันนิษฐานว่าชื่อเดิมของเมืองพัทลุงน่าจะมาจากคำว่า "ตะลุง" ซึ่งเป็นชื่อหลักไม้หรือเสาไม้ล่ามช้าง
วัฒนธรรมด้านความเชื่อ
ตำนานนางเลือดขาวชี้ให้เห็นถึงวัฒนธรรมด้านความเชื่ออย่างหลากหลายของกลุ่มชนในภาคใต้ โดยเฉพาะกลุ่มชนแถบลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาในสมัยกรุงศรีอยุธยา ความเชื่อที่มีลักษณะเด่นๆ อาทิ ความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างวัด ความเชื่อเกี่ยวกับพระบรมสารีริกธาตุ และการสร้างพระมหาธาตุเจดีย์ ความเชื่อเกี่ยวกับการเก็บอัฐิ ความเชื่อเกี่ยวกับพระพุทธสิหิงค์ ความเชื่อเกี่ยวกับอุปปาติกะ ความเชื่อเกี่ยวกับขุมทรัพย์แผ่นดิน และความเชื่อทางไสยศาสตร์ ความเชื่อเหล่านี้มีการสืบทอดและมีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวใต้ทั้งอดีตและปัจจุบัน
บทสรุป
ตำนานนางเลือดขาวเป็นตำนานมุขปาฐะที่แพร่กระจายอยู่ในท้องถิ่นภาคใต้ และตอนเหนือของมาเลย์เชีย ตำนานนางเลือดขาว (พัทลุง) สะท้อนให้เห็นสังคมวัฒนธรรมลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาอันเป็นหลักฐานในการศึกษาประวัติศาสตร์ โบราณคดี พระพุทธศาสนา ศิลปวัฒนธรรม และแนวคิดที่เกี่ยวกับสตรีที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนาการเป็นผู้นำที่ดี
เมื่อพระเจ้าพินธุสารสวรรคต พระเจ้าอโศกมหาราชขึ้นครองราชย์สมบัติได้ทรงขยายอาณาจักรมคธให้กว้างใหญ่ไพศาลด้วยการทำสงครามปราบแคว้นกลิงคราษฎร์ จึงทำให้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก ผลของสงครามทำให้คนพากันอพยพลงเรือมาขึ้นฝังอันดามันที่ท่าประตูเล (ตรัง) แล้วเดินข้ามเขาบรรทัดผ่านเมืองตระจึงแยกออกเป็น ๒ สาย คือ สายแรกเดินทางมาอาศัยที่บ้านท่าทิดครู และสายที่สองเข้าอาศัยที่ตะโหมด (พัทลุง)
ครั้งนั้นตาสามโมกับยายเพชรอาศัยอยู่ที่บ้านพระเกิดเป็นหมอช้างขวา มีหน้าที่จับช้างป่ามาฝึกหัดแล้วส่งให้เจ้าพระยากรุงทองเจ้าเมืองสทิงพาราณสี วันหนึ่งตายายได้เดินทางไปจับช้างป่าถึงที่ถ้ำ ไผ่ตง ชาวอินเดียยกบุตรีให้เป็นบุตรบุญธรรมของตายายและให้ชื่อว่า นางเลือดขาว ต่อมาตายายเดินทางไปขอบุตรชาวอินเดียที่ถ้ำไผ่เสรียงไว้เป็นบุตรบุญธรรมและเป็นคู่ครองกับนางเลือดขาวชื่อว่ากุมาร
วันหนึ่งตาสามโมได้ออกเดินตามหาช้างถึงคลองบางแก้วพบช้างนอนทับขุมทรัพย์ จึงปรึกษายายเพชร และจัดพิธีแต่งงานให้นางเลือดขาวกับกุมารแล้วย้ายจากบ้านพระเกิดมาอยู่ที่บางแก้ว ซึ่งตั้งบ้านเรือนใกล้กับขุมทรัพย์ เมื่อตายายถึงแก่กรรมนางเลือดขาวกับกุมารรับมรดกเป็นนายกองช้าง เลี้ยงช้างส่งเจ้าพระยากรุงทอง และนำทรัพย์สมบัติมาสร้างบุญในพระพุทธศาสนา เช่น สร้างกุฏิ วิหาร ธรรมศาลา พระพุทธรูป อุโบสถที่วัดเขียนบางแก้ว และวัดอื่นๆ ตั้งแต่นั้นมาบ้านบางแก้วก็กลายเป็นชุมชนใหญ่มีพ่อค้าวานิชเดินทางมาค้าขาย และนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้สร้างเมืองพัทลุงขึ้นที่โคกเมือง
นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้เดินทางไปสืบค้นหาพระบรมสารีริกธาตุที่เกาะลังกากับเรือทูตของเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชเจ้าเมืองนครศรีธรรมราช และได้นำพระบรมสารีริกธาตุกับพระพุทธสิหิงค์มาขึ้นฝั่งที่เมืองตรัง นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารได้นำพระบรมสารีริกธาตุมาบรรจุไว้ในเจดีย์วัดเขียนบางแก้วแล้วเดินทางไปบูชาอัฐิของเจ้าพระยาศรีธรรมาโศกราชองค์ก่อน
พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงทราบข่าวของนางเลือดขาวจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาพิษณุโลกกับนางทองจันทร์ไปรับนางเลือดขาวมากรุงสุโขทัย เพื่อจะชุบเลี้ยงให้เป็นนางสนม แต่ด้วยนางมีครรภ์ติดมาจึงโปรดเกล้าฯ ให้อาศัยจนคลอดบุตร พระเจ้ากรุงสุโขทัยทรงขอบุตรเลี้ยงไว้และให้พระยาพิษณุโลกพร้อมด้วยคณะไปส่งนางเลือดขาวที่เมืองพัทลุง
เมื่อเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวแก่ชราลง กรุงสุโขทัยได้ส่งบุตรของนางออกมาปกครองเมืองพระเกิด ต่อมาเจ้าพระยากุมารกับนางเลือดขาวถึงแก่กรรม เจ้าฟ้าคอลายจัดทำพิธีศพและนำอัฐิไปไว้ที่บ้านบางแก้ว เจ้าฟ้าคอลายได้สร้างพระพุทธรูปสองพี่น้องเพื่ออุทิศเป็นกุศลและเป็นอนุสรณ์แก่บิดามารดาที่ล่วงไป จึงโปรดเกล้าฯ ให้เจ้าฟ้าคอลายเป็นเจ้าเมืองพัทลุงที่โคกเมืองบางแก้ว
ตำนานนางเลือดขาวได้สะท้อนให้เห็นพัฒนาการของเมืองสทิงพระ และเมืองพัทลุงที่เป็นศูนย์อำนาจทางการเมือง การปกครอง และพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ตลอดจนถึงสังคมวัฒนธรรมของชุมชนภาคใต้ในสมัยอยุธยาที่ได้สืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน
เจ้าพระยากรุงทองเป็นเจ้าเมืองเมืองสทิงพระ เมืองนี้ศูนย์กลางการปกครองและเป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญของลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันออกซึ่งได้รับวัฒนธรรมจากอินเดียและจีน ส่วนทางฝั่งตะวันตกบริเวณบ้านพระเกิดเป็นที่ส่งส่วยช้างของเมืองสทิงพระ โดยมีตาสามโมกับยายเพชร เป็นหมอสดำจับช้างส่งให้เจ้าพระยากรุงทองเมืองสทิงพาราณสีทุกปี ต่อมาเมืองสทิงพระเสื่อมอำนาจลงและตาสามโมกับยายเพชรถึงแก่กรรม เจ้ากุมารกับนางเลือดขาวได้อพยพสมัครพรรคพวกไปตั้งเมืองใหม่ที่โคกเมือง บางแก้ว สร้างวิหารและพระพุทธรูปที่วัดเขียน วัดสทัง และวัดสทิงพระ เจ้าพระยากรุงสทิงพาราณสีได้สร้างพระมหาธาตุขึ้นที่วัดทั้งสามแล้วตั้งเมืองพัทลุงขึ้นที่บางแก้ว ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของเมืองนครศรีธรรมราชและกรุงศรีอยุธยา ต่อมามีการเปลี่ยนแปลงศูนย์อำนาจจากเมืองสทิงพระมาอยู่ที่เมืองพัทลุง และย้ายจากศูนย์กลางเมืองพัทลุงไปอยู่ที่อื่น บริเวณเมืองพัทลุงก็กลายมาเป็นที่วัดและเป็นศูนย์กลางการปกครองทางพระพุทธศาสนาลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ส่วนบริเวณชุมชนบ้านพระเกิดก็เป็นที่ส่งส่วยช้างให้กรุงศรีอยุธยา
สมัยเริ่มประวัติศาสตร์เจ้าพระยากรุงทองเป็นเจ้าเมืองสทิงพระ เมืองสทิงพระมีความเจริญรุ่งเรืองซึ่งอิงอยู่กับอำนาจของศรีวิชัยและตามพรลิงค์ เมื่อเจ้าพระยากุมารนางเลือดขาวสร้างเมืองพัทลุงที่บางแก้วศูนย์อำนาจก็ย้ายมาอยู่ที่พัทลุง ขณะเดียวกันเมืองพัทลุงก็ขึ้นกับกรุงศรีอยุธยา กษัตริย์แห่งกรุงศรีอยุธยาได้โปรดเกล้าฯ ให้รับตัวนางเลือดขาวมาเป็นนางสนม เมื่อทรงทราบว่านางมีครรภ์ก็ไม่ยกเป็นนางสนม แต่รับบุตรชายไว้ทรงอุปถัมภ์ เมื่อนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารถึงแก่กรรมก็ส่งบุตรของนางมาเป็นเจ้าเมืองพระเกิด เพื่อควบคุมหัวเมืองต่างๆ
สมัยอยุธยาคณะสงฆ์หัวเมืองภาคใต้ขึ้นกับพระวันรัตนเจ้าคณะคามวาสีฝ่ายขวาหรือคณะป่าแก้วอยู่วัดป่าแก้วหรือวัดใหญ่ไชยมงคลกรุงศรีอยุธยา การปกครองคณะสงฆ์เมืองนครศรีธรรมราช พัทลุง และไชยา มีลักษณะพิเศษกว่าหัวเมืองอื่นๆ ในภาคใต้คือแบ่งคณะสงฆ์ออกเป็น ๔ คณะ ได้แก่ คณะลังกาป่าแก้ว คณะลังการาม คณะลังกาชาติ และคณะลังกาเดิม มีตำแหน่งพระครู ๔ รูป ได้แก่ พระครูกาแก้ว พระครูการาม พระครูกาชาติ และพระครูกาเดิม แต่การปกครองสงฆ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาที่ปรากฏในตำนานนางเลือดขาวมี ๒ คณะ คือ คณะป่าแก้วมีศูนย์กลางอยู่ที่วัดเขียนบางแก้วและวัดสทัง และคณะลังกาชาติศูนย์กลางตั้งอยู่ที่วัดพะโคะ ส่วนสมณศักดิ์ของพระครูกาทั้ง ๔ ไม่ปรากฏหลักฐานที่ใช้ในเมืองพัทลุง แต่น่าจะเป็นสมณศักดิ์ที่ใช้ในกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อนางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารถึงแก่กรรม วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระ คณะสามป่าแก้วหัวเมืองพัทลุงชำรุดทรุดโทรม เจ้าอินทร์บุตรปะขาวสนกับนางเป้าชาวบ้านสทังได้บูรณะซ่อมแซมวัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และวัดสทิงพระแล้วไปอุปสมบทที่เมืองนครศรีธรรมราช พระสามีอินทร์เดินทางไปกราบทูลกษัตริย์กรุงศรีอยุธยาเกี่ยวกับการบูรณะวัดดังกล่าว ทรงโปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระครูอินทเมาลี เป็นเจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง และถวายคนรับใช้พระสงฆ์กับที่กัลปนา เรือสำเภา ๓ ลำ บรรทุกอิฐปูนรักทองมาช่วยพระครูอินทเมาลีบูรณะวัด และยกวัดในเมืองนครศรีธรรมราช ตรัง และพัทลุงขึ้นกับคณะป่าแก้ว วัดเขียนบางแก้ว และวัดสทัง ให้เป็นศูนย์กลางการปกครองคณะสงฆ์ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา ซึ่งมีพระครูอินทเมาลีเป็นเจ้าคณะป่าแก้วหัวเมืองพัทลุง ส่วนข้ารับใช้พระสงฆ์มีสิทธิพิเศษ เช่น ไม่ต้องเสียภาษี ไม่ต้องถูกเกณฑ์ทหาร มีคดีความวัดเป็นผู้ตัดสินเอง เป็นต้น วัตถุสิ่งของที่เกิดขึ้นจากที่กัลปนาให้แก่วัดเขียนบางแก้ว วัดสทัง และคณะสงฆ์ป่าแก้วจำนวนมากมาย จึงทำให้สถาบันสงฆ์มีบทบาทสำคัญในการบำรุงพระพุทธศาสนาในลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลา พระสงฆ์จึงเป็นผู้นำทางวัฒนธรรมของชุมชน
ช้างเป็นสัตว์ที่มีความผูกพันกับมนุษย์อย่างใกล้ชิด ลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาฝั่งตะวันตกบริเวณบ้านพระเกิดหรือที่คชอันเป็นที่จับช้างให้แก่เจ้าพระยากรุงทองของตาสามโมกับยายเพชร เมื่อตายายถึงแก่กรรมมรดกก็ตกแก่นางเลือดขาวกับเจ้าพระยากุมารที่จะต้องส่งส่วยช้างให้กรุงศรีอยุธยา กลุ่มชนลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลามีความเชื่อเกี่ยวกับการสร้างวัด บรมสารีริกธาตุ พระมหาธาตุเจดีย์ พระพุทธสิหิงค์ และไสยศาสตร์ จึงเป็นความเชื่อที่มีอิทธิพลต่อวิถีชีวิตของชาวภาคใต้มาจนถึงปัจจุบัน

เอกสารอ้างอิง
ชัยวุฒิ พิยะกูล. เพลานางเลือดขาว. สงขลา : สถาบันทักษิณคดีศึกษา มหาวิทยาลัยทักษิณ, ๒๕๔๕.

ตำนานอโศกมหาราช : กษัตริย์ที่พระพุทธศาสนาไม่เคยลืม

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต)
บทนำ
พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ที่ได้เดินตามรอยบาทพระศาสดา ทรงนำพระธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ บริหารบ้านเมือง เผยแผ่ และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกมหาราชก็เป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ได้เดินตามรอยพระพุทธเจ้า ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นกษัตริย์นักเผยแผ่ เป็นกษัตริย์นักปกครองโดยธรรม จึงทำให้บ้านเมืองอยู่สงบร่มเย็นตลอดมา พระองค์ทรงมีพระราชจริยวัตรที่ดีงามและเป็นแบบอย่างอันดีให้กับกษัตริย์ในสมัยต่อๆ มา
กำเนิดพระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงถือกำเนิดในตระกูลอโศก กษัตริย์ในราชวงศ์เมารยะ (อโศก แปลว่า จิตไม่โศก หมายถึง จิตที่บรรลุนิพพาน อันเป็นจิตของพระอรหันต์) พระเจ้าอโศกมหาราชมีชื่อเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้าปิยทัสสี พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพินธุสารกับพระนางศิริธรรมาครองราชย์สมบัติ ณ นครปาฏลิบุตร มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ สุมนะ อโศกราชกุมาร และติสสะ เมื่อพระนางศิริธรรมาทรงพระครรภ์พระนางนึกปรารถนาจักเหยียบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ปรารถนาจะเสวยดวงดาวและรากดินภายใต้ปฐพี ชรสารนาดาบสพยากรณ์ว่าในอนาคตพระโอรสจะได้เป็นบรมกษัตริย์ที่ประเสริฐในชมพูทวีปและมีกษัตริย์ในนครน้อยใหญ่มาเป็นข้าทูลละอองในพระบาท พระโอรสจะได้ฆ่าเสียซึ่งราชวงศ์วโรรสอันต่างมารดากันมี ๙๙ องค์ในนครนั้น พระโอรสจะได้ทำลายลัทธิแห่งเดียรถีย์ ๙๖ จำพวก และจะได้บำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป และพระราชโอรสจักมีพระราชอาณาจักรแผ่ไปภายใต้แผ่นดินและอากาศเบื้องบนได้โยชน์หนึ่ง
พระเจ้าอโศกมหาราชขณะที่ทรงพระเยาว์เป็นกษัตริย์ที่ดุร้าย มีผู้คนขนานพระนามว่า จัณฑาโศก (แปลว่า พระเจ้าอโศกผู้ดุร้าย) พระองค์ทรงออกศึกตั้งแต่มีพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา ศึกครั้งนั้นเจ้าชายอโศกนำกองทัพไปตีนครตักกสิลาซึ่งเป็นกบฏแข็งเมืองได้สำเร็จ พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิทิสา มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายมหินทและเจ้าหญิงสังฆมิตตา เมื่อพระเจ้าพินทุสารสวรรคตเจ้าชายอโศกได้ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมา
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการทำสงคราม
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำสงครามตั้งแต่วัยเยาว์ศึกใหญ่ที่พระองค์ทรงกระทำและทรงมีชัยชนะโดยเด็ดขาด คือ การทำศึกกับนักรบชาวกลิงคะ แคว้นกลิงคะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของชมพูทวีป (อินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราชทำข้าศึกอยู่นานถึง ๗ - ๘ ปี ในการทำศึกครั้งนั้นทหารชาวกลิงคะถูกจับเป็นเชลยถึง ๑๕๐,๐๐๐ คน และที่เสียชีวิตจำนวนมากเท่าๆ กัน พระองค์ทรงได้พบเห็นประชาชน ทหารบาดเจ็บล้มตายทุพพลภาพ และประชาชนต้องพลัดพรากที่อยู่ ลูกขาดพ่อ ภรรยาขาดสามี บ้านเรือนทรัพย์สินก็พังพินาศย่อยยับ เพราะพิษภัยสงคราม จึงทำให้พระองค์เกิดธรรมสังเวชหันมานับถือพระพุทธศาสนา และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาบริหารบ้านเมืองแทนการทำสงคราม เรียกว่า ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการนับถือพระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักฐานที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. การทำสงครามกับแคว้นกลิงคะ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงได้ทอดพระเนตรเห็นผู้คนล้มตาย บาดเจ็บ และถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก พระองค์จึงทรงสลดพระทัยแล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงเปลี่ยนนโยบายใหม่จากการชนะกันด้วยสงครามมาสู่การชนะด้วยธรรม คือธรรมวิชัย
๒. พระเจ้าอโศกมหาราชเคยเลื่อมใสนับถือพวกพราหมณ์ตาปะขาวและปริพาชกในลัทธิปาสัณฑะมาก่อนถึง ๓ ปี ในปีที่ ๔ พระองค์ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา เพราะทรงเลื่อมใสในสามเณรนิโครธ ผู้มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อยและสำรวมอินทรีย์ ซึ่งต่างจากพวกพราหมณ์ตาปะขาวและปริพาชกในลัทธิปาสัณฑะที่ไม่สำรวมอินทรีย์ และไม่มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย
๓. คัมภีร์ทิวยาวทานะ นิกายมหายานกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเลื่อมใสนับถือพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อว่า พระพาลปุณฑิตะ พระอรหันต์รูปนี้ถูกเจ้าหน้าที่จับร่างโยนลงในบ่อกองไฟที่ลุกโชติช่วง แต่เกิดอัศจรรย์ร่างของพระอรหันต์กลับมีดอกบัวขนาดใหญ่ผุดขึ้นมารองรับ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทอดพระเนตรเห็นก็เกิดความเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนาและเปลี่ยนพฤติกรรมของพระองค์ จากกษัตริย์ที่ดุร้ายกลับเป็นกษัตริย์ที่มีแต่ความเมตตากรุณา
พระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อพระองค์ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามากมาย เช่น สร้างสถูปเจดีย์จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ประดิษฐานไว้ ณ สถานที่ต่างๆพร้อมกับการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระองค์ทรงมีธรรมสัญจร เสด็จถวายนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ องค์ และทรงพระราชทานทองคำแก่ประชาชนในคราวเสด็จนมัสการสังเวชนียสถานเหล่านั้นอีกด้วย
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการกำจัดเดียรถีย์ออกจากพระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนับถือลัทธิพาเหียรปาสัณฑะมาเป็นเวลา ๓ ปี ในปีที่ ๔ จึงทรงได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงรับสั่งให้นายช่างสร้างมหาวิหารชื่อว่าอโศการาม ทรงตั้งภัตไว้เพื่อถวายภิกษุหกแสนกว่ารูป และทรงรับสั่งให้สร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง ประดับด้วยพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ไว้ในพระนคร ๘๔,๐๐๐ แห่งทั่วชมพูทวีป
เมื่อพวกเดียรถีย์ทั้งหลายเสื่อมจากลาภสักการะที่เคยได้รับจากพระเจ้าอโศกมหาราช จึงปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อลาภสักการะ เที่ยวประกาศลัทธิของตนว่า “นี้คือธรรมนี้คือวินัย” บางพวกประกาศว่า “พวกเราจักทำลายศาสนาของพระสมณโคตรมะให้สิ้นซาก” ปลอมนุ่งผ้ากาสายะ เที่ยวไปในวิหาร เข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรมต่างๆ ภิกษุฝ่ายธรรมวาทีวินัยวาทีไม่ยอมร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมกับเดียรถีย์ปลอมบวชนานถึง ๗ ปี พระภิกษุสงฆ์ได้ทูลให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบ พระองค์ตรัสสั่งอำมาตย์คนหนึ่งให้ไปพระวิหาร เพื่อระงับอธิกรณ์นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถสังฆกรรม แต่อำมาตย์ผู้รับสั่งไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไรที่สามารถจะระงับอธิกรณ์ได้ จึงปรึกษาอำมาตย์ทั้งหลาย พวกอำมาตย์ได้เสนอแนะว่า อธิกรณ์นี้จะระงับไปด้วยดี ควรจะปฏิบัติดุจราชบุรุษปราบปรามปัจจันตชนบท คือต้องมาปราบโจรข้อนี้ฉันใด ภิกษุใดไม่ยอมทำอุโบสถสังฆกรรมพระราชาจักมีพระประสงค์ให้ฆ่าภิกษุนั้นๆ เสีย เมื่อนิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายทำอุโบสถสังฆกรรม พระภิกษุทั้งหลายไม่ขอทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกับเดียรถีย์ปลอมบวช อำมาตย์จึงใช้ดาบตัดศีรษะตั้งแต่พระเถระลงไปถึงพระติสสเถระ อำมาตย์จำพระติสสะได้ว่าเป็นพระกนิษฐภาดา (พระน้องชายร่วมมารดา) ของพระเจ้าอโศกมหาราช จึงไม่อาจใช้ดาบตัดศีรษะ รีบออกจากพระวิหารไปทูลเหตุการณ์ที่ตนได้กระทำลงไปให้ทรงทราบ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบก็ตกพระทัยและเร่าร้อนพระทัยที่เกิดจากการกระทำของอำมาตย์ พระองค์รีบเร่งเสด็จไปวิหาร ตรัสถามพระเถระทั้งหลายอันมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระว่าการกระทำเช่นนี้บาปกรรมนี้จะพึงได้แก่ใคร พระเถระถวายพระพรว่าถ้าพระองค์ไม่มีความคิดเช่นนั้น บาปกรรมจะไม่มีแก่พระองค์เลย
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงหายจากความสงสัย ทรงพำนักอยู่ในพระราชอุทยานศึกษาพระธรรมวินัยกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ๗ วัน ต่อจากนั้นทรงประกาศให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดมาประชุม ณ วัดอโศการาม เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชออกจากพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระทูลยืนยันกับพระเจ้าอโศกมหาราชว่าบัดนี้พระศาสนาบริสุทธิ์ พระองค์ทรงตรัสอาราธนาให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายทำอุโบสถสังฆกรรม และทรงมีบัญชาให้ราชบุรุษถวายการอารักขาแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแล้วเสด็จกลับไปยังพระนคร พระภิกษุสงฆ์พร้อมเพรียงกันประชุมทำอุโบสถสังฆกรรมเป็นสันนิบาตสืบต่อมา
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการทำสังคายนาพระธรรมวินัย
พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๗๑ – ๓๑๒) ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์วันละจำนวนมาก อุปถัมภ์บำรุงภิกษุสงฆ์ทั้ง ๑๘ นิกาย และทรงงดการอุปถัมภ์พวกเดียรถีย์ที่เคยอุปถัมภ์มาก่อน จึงทำให้พวกเดียรถีย์พากันปลอมบวชเพื่อหวังลาภสักการะ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบเรื่องเหล่านั้นจึงทรงปรึกษากับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระชำระมลทินในพระพุทธศาสนาให้หมดไป พระภิกษุสงฆ์จึงทำอุโบสถกรรมร่วมกัน พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานประชุมได้วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นว่า ร้ายแรงพอที่จะทำให้พระศาสนาเสื่อมสูญได้ เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงแสดงกถาวัตถุปกรณ์ โดยนำสูตรจำนวน ๑,๐๐๐ สูตร ของฝ่ายสกวาที ๕๐๐ สูตร และของฝ่ายปรวาที ๕๐๐ สูตร มาจำแนกตามนัยและมาติกาของกถาต่างๆ ตามที่พระพุทธเจ้าวางไว้ จากนั้นได้คัดเลือกพระเถระผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจำนวน ๑,๐๐๐ รูป เพื่อประชุมทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓
การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๒๓๔ ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระปรารภนักบวชนอกศาสนาที่ปลอมบวชเพื่อหวังลาภสักการะเป็นเหตุให้พระภิกษุสงฆ์ไม่ทำอุโบสถกรรมถึง ๗ ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนและกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นออกจากพระธรรมวินัย ณ วัดอโศการาม นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้อุปัชถัมภ์ ประชุมสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงสำเร็จ เมื่อทำสังคายนาสำเร็จแล้วพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระและพระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาถึง ๙ สายในดินแดนต่างๆ ทั้งเอเชีย ยุโรป และอัฟกานิสถาน พระพุทธศาสนาจึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการทำสังคมสงเคราะห์
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารบ้านเมืองให้สงบสุขและช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ผู้คนทั้งหลายในสมัยนั้นนิยมบูชายัญ มีการฆ่าคน แพะ โค สุกร ไก่ เป็นต้น นำมาเป็นเครื่องเซ่น เครื่องสังเวยเทพเจ้า เพื่อให้ดลบันดาลสิ่งที่ตนประสงค์ให้สัมฤทธิ์ผลสมปรารถนา พระองค์ทรงสลดสังเวชพระราชหฤทัยจากการทำสงครามทำลายชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงบัญญัติกฎหมายบ้านเมืองว่า ต่อไปนี้ห้ามประชาชนไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือทำทารุณกรรมผู้คน สัตว์และสิ่งมีชีวิต ห้ามแสดงมหรสพที่เป็นอบายมุข ที่ไม่เป็นการสร้างสรรค์สังคม เพราะพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อสรรพสัตว์และมนุษย์เป็นอย่างมากที่ถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนและอดอยากยากไร้ ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลรักษาคนและสัตว์ ปลูกพืชใช้ประกอบยาสมุนไพร ปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นริมทาง ขุดบ่อน้ำสำหรับคนและสัตว์ ให้ข้าราชการดูแลสุขทุกข์และสอนศีลธรรมแก่ประชาชน ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน คนยากจนอนาถา คนชรา ผู้สูงอายุ และสมณพราหมณ์ และให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องประหารชีวิตหรือผู้ถูกคุมขังและจองจำ เป็นต้น
พระองค์ทรงสั่งสอนและส่งเสริมให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติในคุณธรรมความดีด้วยการเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ และครูอาจารย์ ให้เอื้อเฟื้อเจือจานแก่ญาติและเพื่อนสนิทมิตรสหาย ตลอดจนบำรุงสมณพราหมณ์ ไม่ให้ฆ่าสัตว์และเบียดเบียนสัตว์ ให้ประหยัดและเก็บออมทรัพย์สิน และทรงให้พระราชวงศ์ พระราชโอรส พระธิดา พระนัดดา ประพฤติอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
นอกจากนั้นพระองค์ทรงสั่งสอนให้ข้าราชการประพฤติอยู่ในจริยธรรมและคุณความดี ให้พสกนิกรเข้าเฝ้าฯ ร้องทุกข์ เข้าเฝ้าฯ ถวายฎีกาในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ทรงบำเพ็ญตนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนและประโยชน์เกื้อกูลแก่ราษฎร ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎร พระราชทานจตุปัจจัยไทยทานแก่สมณพราหมณ์ และพระราชทานสิ่งของให้แก่เด็ก คนชรา ผู้สูงอายุ และทรงสอนให้ประชาชนพลเมืองทำสิ่งที่เป็นธรรมมงคลจะได้อานิสงส์ผลบุญไม่มีที่สิ้นสุดทั้งโลกนี้และโลกหน้า เป็นต้น

พระเจ้าอโศกมหาราชกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสก เลิกทำสงครามนอกดินแดนนอกประเทศ เว้นแต่สงครามป้องกันดินแดน นับตั้งแต่พระองค์ทรงหันหลังให้สงครามหันหน้าเข้าหาพระพุทธศาสนา ได้ทรงทุ่มเทพระกำลังพระวรกายและพระสติปัญญาในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ประชาชน และพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นแผ่นดินธรรม ส่วนพระองค์ทรงเป็นธัมมิกราชา (พระราชาผู้ทรงธรรม) และทรงตั้งพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่ในการประกาศพระพุทธศาสนาว่า
๑. ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและให้แผ่ไพศาลไปในโลก
๒. ทรงมีพระราชปณิธานว่า จะทรงปกครองพลเมืองด้วยธรรมวิชัย คือ การเอาชนะด้วยธรรม
๓. ทรงส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเชีย ยุโรป และอัฟกานิสถาน
การส่งสมณทูตในครั้งนั้นพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้พิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ตั้งมั่นในชมพูทวีป แต่จะไปตั้งมั่นในนานาประเทศ จึงได้ขอความอุปถัมถ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชจัดส่งสมณทูตไปประกาศพระศาสนา ๙ สาย คือ
สายที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระไปแคว้นกัสมีระและแคว้นคันธาระ ได้แก่ ดินแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และบางส่วนของประเทศอัฟกานิสถาน
สายที่ ๒ พระมหาเทวเถระไปแคว้นมหิสมณฑล ได้แก่ แคว้นไมซอร์หรือมานธาดา และบริเวณลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ทางภาคใต้ของอินเดีย
สายที่ ๓ พระรักขิตเถระไปวนวาสีประเทศ ได้แก่ แคว้นกนราเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย
สายที่ ๔ พระธรรมรักขิตเถระไปอปรันตปชนบท ได้แก่ ดินแดนแถบชายทะเลเหนือเมืองบอมเบย์ในประเทศอินเดีย
สายที่ ๕ พระมหาธรรมรักขิตเถระไปแคว้นมหาราษฏร์ ได้แก่ ดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบอมเบย์ในประเทศอินเดีย
สายที่ ๖ พระมหารักขิตเถระไปโยนกประเทศ ได้แก่ แคว้นของฝรั่งชาติกรีกในทวีปเอเชียกลางเหนือประเทศอิหร่านขึ้นไปจนถึงเตอรกีสถาน
สายที่ ๗ พระมัชฌิมเถระไปดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย
สายที่ ๘ พระโสณเถระและพระอุตตรเถระไปดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ ดินแดนแถบประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
สายที่ ๙ พระมหินทเถระ พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชไปลังกาทวีป คือ ประเทศศรีลังกา
นครศรีธรรมราชได้รับพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาทครั้งแรกจากการส่งพระสมณทูตสายพระโสณเถระและพระอุตตรเถระที่ได้ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิหรือแหลมทอง ส่วนครั้งหลังได้รับพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์จากสมณทูตสายพระมหินทเถระ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เกาะลังกา ตามที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในคราวนั้น
บทสรุป
พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่อดีต กษัตริย์หลายพระองค์ทรงได้เดินตามรอยบาทพระศาสดา พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ได้เดินตามรอยบาทพระศาสดา พระองค์ทรงถือกำเนิดในตระกูลอโศก ราชวงศ์เมารยะ ทรงมีชื่ออีกพระนามว่า พระเจ้าปิยทัสสี เป็นพระโอรสของพระเจ้าพินธุสารกับพระนางศิริธรรมา ครองนครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ครั้นเมื่อพระนางศิริธรรมาทรงพระครรภ์พระนางปรารถนาจะเหยียบดวงพระอาทิตย์และดวงจันทร์ ชรสารนาดาบสพยากรณ์ว่าในอนาคตพระโอรสจะได้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีปและจะเป็นผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ขณะที่ทรงพระเยาว์พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมีพระนามว่า จัณฑาโศก เพราะพระองค์ทรงออกศึกตั้งแต่พระชนมายุ ๑๘ พรรษาและทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิทิสา มีพระโอรสและพระธิดา ๒ องค์ คือ เจ้าชายมหินทและเจ้าหญิงสังฆมิตตา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำสงครามตั้งแต่วัยเยาว์ศึกที่พระองค์ทรงกระทำและมีชัยชนะ คือ การนำทัพไปปราบกบฏที่นครตักกสิลาและการทำสงครามกับนักรบชาวกลิงคะ การทำศึกกลิงคะ๗-๘ปี ทหารกลิงคะเสียชีวิตถูกจับเป็นเชลย และบ้านเรือนทรัพย์สินพังพินาศ พระองค์ทรงเสียพระทัยที่ผู้คนล้มตายหลายแสนคน ทรงเลิกทำสงครามและหันมานัยถือพระพุทธศาสนาและปกครองแผ่นดินโดยธรรม
สาเหตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา คือ พระองค์ทรงสลดพระทัยในสงครามกลิงคะ ทรงเลื่อมใสในสามเณรนิโครธที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อยและเลื่อมใสในความอัศจรรย์ของพระอรหันต์องค์หนึ่ง เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย เช่น สร้างวัดอโศการาม สร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ในสถานที่ต่างๆ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา พวกเดียรถีย์ขาดลาภสักการะ จึงได้ปลอมบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเพื่อลาภสักการะ นุ่งห่มผ้ากาสายะ เข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรม จึงทำให้พระภิกษุสงฆ์ไม่ทำอุโบสถสังฆกรรม ๗ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบ ตรัสสั่งอำมาตย์ให้ไประงับอธิกรณ์ แต่อำมาตย์ไม่รู้วิธีปฏิบัติ จึงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถสังฆกรรม เมื่อพระภิกษุสงฆ์ไม่ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกับเดียรถีย์ อำมาตย์จึงใช้ดาบตัดศีรษะพระภิกษุเหล่านั้นเสีย พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบก็ตกพระทัยจึงเสด็จไปวิหารตรัสถามพระเถระว่าบาปกรรมครั้งนี้จะพึงได้แก่ใคร พระเถระถวายพระพรว่าบาปกรรมนี้จักไม่มีแก่พระองค์ ต่อจากนั้นพระองค์ทรงศึกษาพระธรรมวินัยกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระและประชุมสงฆ์ ณ วัดอโศการาม เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชจากพระพุทธศาสนา อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ให้ทำอุโบสถสังฆกรรมและถวายการอารักขาแก่พระสงฆ์เหล่านั้น
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนำหลักธรรมมาบริหารบ้านเมืองและสงเคราะห์ประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ทรงบัญญัติกฎหมายบ้านเมืองห้ามมิให้ฆ่าคนฆ่าสัตว์ ห้ามมีมหรสพที่ส่งเสริมอบายมุข จัดตั้งโรงพยาบาลรักษาคนและรักษาสัตว์ ปลูกพืชสมุนไพร ขุดบ่อน้ำ ปลูกต้นไม้ ช่วยเหลือคนใช้แรงงาน คนยากจน คนชรา และสมณพราหมณ์ พระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษ ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่ข้าราชการและประชาชน เปิดโอกาสให้พสกนิกรเข้าเฝ้าร้องทุกข์ ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูล เสด็จเยี่ยมราษฎร และสมณพราหมณ์ และทรงสั่งสอนให้ประชาชนทำการมงคลเพื่อประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้พิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ร้ายแรงพอที่จะทำให้พระศาสนาเสื่อมสูญ จึงได้ป้องกันมิให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในอนาคต จากนั้นได้คัดเลือกพระเถระผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจำนวน ๑,๐๐๐ รูป เพื่อประชุมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓ ณ วัดอโศกการาม โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานและพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำ ๙ เดือนจึงสำเร็จและได้ส่งพระสมณทูตไปประกาศพระศาสนา ๙ สายในดินแดนต่างๆ นครศรีธรรมราชก็ได้รับพระพุทธศาสนาสายพระโสณเถระและอุตตรเถระที่พระเจ้าอโศกมหาราชจัดส่งสมณทูตมาในครั้งนั้น

เอกสารอ้างอิง
พระจำปี ธีรปญฺโญ (ยาวโนภาส), พระเจ้าอโศกมหาราชในฐานะนักธรรมมาธิปไตย, วิทยานิพนธ์
ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.
พระอาทิตย์ อคฺคจิตฺโต (มาตรา), ศึกษาพระจริยวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราช, วิทยานิพนธ์
ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม ๓๗, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

เมืองสิบสองนักษัตร

เมืองสิบสองนักษัตร
: สถานที่ตั้งเมืองและข้อเท็จจริงทางประวัติศาสตร์

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระนิพพานโสตรได้สะท้อนให้เห็นว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์ของรัฐพระพุทธศาสนาแห่งนี้ ได้เป็นที่มาของการสถาปนาระบบเมืองขึ้นของรัฐที่เรียกว่าเมืองสิบสองนักษัตร ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชเป็นผู้ปกครองรัฐนครศรีธรรมราชอย่างยาวนานได้สถาปนาขึ้นในระหว่างประมาณพุทธศตวรรษที่ 17-18 โดยให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของเมืองเหล่านั้น เมืองเหล่านั้นมีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์ของรัฐนี้
ในช่วงเวลานี้เมืองนครศรีธรรมราชได้เจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจกล้าแข็งมากที่สุดบนแหลมมลายู สามารถแผ่อำนาจอิทธิพลไปตลอดแหลมมลายู เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ก็ล่มสลายไป อาณาจักรขอมทางเหนือก็หมดอำนาจลงไป เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังผู้คนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าก็ดีขึ้น ศิลปวัฒนธรรมก็เจริญจึงได้จัดการปกครองหัวเมืองขึ้นหัวเมืองหนึ่งที่เรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร
การจัดระบบเมืองสิบสองนักษัตรก็เพื่อประโยชน์โดยตรงต่อรัฐนครศรีธรรมราช โดยเฉพาะการเข้าไปมีอำนาจในการบริหารจัดการทรัพยากร ตลอดจนการพัฒนาและการเพิ่มผลผลิตของเมืองเหล่านั้น และการนำทรัพยากรเหล่านั้นมาใช้ประโยชน์ทางการค้าของรัฐนครศรีธรรมราช อย่างกรณีการนำดีบุกจากเมืองที่มีดีบุกมาก เช่น เมืองไทรบุรี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง และเมืองตะกั่วถลาง เป็นต้น ตามที่ปรากฏในบันทึกของหวังตาหยวนในปี พ.ศ.1892 ว่าสินค้าของรัฐนครศรีธรรมราชเป็นผลิตภัณฑ์ประเภทของป่าและของแปลก เพราะเป็นสินค้าที่หามาได้จากบริเวณอันกว้างใหญ่ไพศาลแทบจะทั่วทั้งคาบสมุทร เนื่องจากเมืองขึ้นของตนตั้งอยู่ทั่วทั้งคาบสมุทร ความเจริญทางด้านเศรษฐกิจเช่นนี้ จึงส่งผลให้การเมืองการปกครองของรัฐนครศรีธรรมราชในช่วงนี้แข็งแกร่งและเกรียงไกลตามไปด้วย

เมืองสิบสองนักษัตร
1. เมืองสายบุรี ปีชวด ถือตราหนู
2. เมืองปัตตานี ปีฉลู ถือตราวัว
3. เมืองกลันตัน ปีขาล ถือตราเสือ
4. เมืองปาหัง ปีเถาะ ถือตรากระต่าย
5. เมืองไทรบุรี ปีมะโรง ถือตรางูใหญ่
6. เมืองพัทลุง ปีมะเส็ง ถือตรางูเล็ก
7. เมืองตรัง ปีมะเมีย ถือตราม้า
8. เมืองชุมพร ปีมะแม ถือตราแพะ
9. เมืองบันไทยสมอ ปีวอก ถือตราลิง
10. เมืองสะอุเลา ปีระกา ถือตราไก่
11. เมืองตะกั่วถลาง ปีจอ ถือตราสุนัข
12. เมืองกระบุรี ปีกุน ถือตราหมู

สถานที่ตั้งเมืองสิบสองนักษัตร
1. เมืองสายบุรี ตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของแม่น้ำสายบุรีและฝั่งทะเล ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังของพระยาสุริยะสุนทรบวรภักดี (นิอิตัมนาแซ)บริเวณบ้านตะลุบัน ถนนสุริยะ ตรงข้ามกับศาลาเทศบาล ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี
เมืองสายบุรีเป็นเมืองที่ตั้งขึ้นใหม่ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 - 18 ส่วนเมืองสายบุรีเก่านั้นตั้งอยู่บริเวณรอบวัดถ้ำคูหาภิมุขหรือบริเวณอำเภอเมืองยะลา เมืองนี้เป็นเมืองท่าปากน้ำที่มีการติดต่อค้าขายและคมนาคมกับเมืองอื่นๆ เมืองสายบุรีเป็นเมืองขนาดไม่โตมากนัก มีความอุดมสมบูรณ์ มีอารยะธรรมเก่าแก่ที่มีความสำคัญคู่กับเมืองปัตตานี จัดเป็นเมืองนักษัตรอันดับที่ 1 ของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีชวด ถือตราหนูเป็นตราประจำเมือง และมีวัดสักขี(วัดสุทธิกาวาส) เป็นวัดประจำเมืองสายบุรี
2. เมืองปัตตานี ตั้งอยู่บริเวณบ้านวัด บ้านประแว และบ้านจาเละ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี
เมืองปัตตานีตั้งอยู่ในลุ่มแม่น้ำปัตตานี ซึ่งห่างจากทะเลประมาณ 15 กิโลเมตร เมืองนี้ได้ชื่อว่าลังกาสุกะตะวันออก ส่วนชาวเมืองเรียกว่า โกตมะลิฆัย หรือโกตามหาลิฆา หรือโกตามลิไฆย แต่เรียกเพี้ยนออกไป จีนเรียกว่า ลังยาสิ่ว อินเดียเรียกว่า ลิงคาโศกะ
เมืองปัตตานีเป็นเมืองเก่า เมืองทอง เมืองมหานคร และเมืองประวัติศาสตร์ที่มีประวัติความเป็นมานับพันปี เป็นเมืองโบราณเก่าแก่ที่สุดและเป็นเมืองใหญ่ที่มีบทบาทสำคัญรองจากเมืองนครศรีธรรมราช เมืองนี้จึงมีบทบาททางการเมืองมาทุกยุคสมัยเมืองหนึ่งในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ที่เต็มไปด้วยอารยธรรมโบราณ มีทั้งผู้นับถือศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ ต่อมาภายหลังเปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลาม ลุ่มแม่น้ำปัตตานีมีที่ราบทำนาได้มากจึงเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่มีความอุดมสมบูรณ์ สามารถเลี้ยงคนได้มากที่สุด และเป็นเมืองค้าขายนานาชาติที่สำคัญประจำภูมิภาคแหลมมลายูตอนกลาง
เมืองปัตตานีโบราณเป็นรัฐอิสระและต่อมาตกอยู่ในอิทธิพลของอาณาจักรศรีวิชัย เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมอำนาจลงก็มาขึ้นกับอาณาจักรตามพรลิงค์หรือนครศรีธรรมราช โดยการเป็นประเทศราชหรือหัวเมืองขึ้นอันเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมือนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีฉลู ถือตราวัวเป็นตราประจำแผ่นดิน
ในสมัยเมืองปัตตานีถูกรุกรานจากกองทัพมะละกาได้ทำลายพระพุทธรูป เทวรูป และโบราณสถานในเมืองโกตามหาลิฆัยหรือลังกาสุกะไปจนหมดสิ้น พระยาอินทิราหรือสุลต่านอิสมาเอลชาห์ซึ่งเคยนับถือศาสนาพุทธก็ได้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาอิสลามตามสุลต่านมัสสุชาฮ์กษัตริย์มะละกา ในสมัยนี้เองพระองค์ได้มีการย้ายพระนครโกตามหาลิฆัยมาสร้างพระนครใหม่ขึ้นที่สันทรายบริเวณตำบลตันหยงลุโละ ตำบลบานา หมู่บ้านกรือเซะ ในท้องที่อำเภอเมืองปัตตานีปัจจุบัน พระราชทานเมืองว่า ปัตตานีดารัสลามหรือนครแห่งสันติ
3. เมืองกลันตัน ตั้งอยู่ฝั่งซ้ายแม่น้ำกลันตัน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของนครโกตาบารู ซึ่งเป็นเมืองหลวงและเป็นเมืองใหญ่เมืองหนึ่งของรัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย
เมืองกลันตันเป็นเมืองเก่าแก่โบราณเช่นเดียวกับเมืองปัตตานี และเมืองไทรบุรี เมืองนี้ในสมัยโบราณเป็นดินแดนที่มีความอุดมสมบูรณ์ด้วยทรัพยากรธรรมชาติ เช่น ป่าไม้ แร่ทองคำ เป็นเมืองท่าค้าขาย และเป็นดินแดนที่มีมรดกทางวัฒนธรรมที่สำคัญบนคาบสมุทรมลายู เมืองกลันตันมีความสัมพันธ์กับเมืองนครศรีธรรมราชในฐานะเป็นเมืองขึ้นสิบสองนักษัตร ทรงกำหนดให้เป็นปีขาล ถือตราเสือเป็นตราประจำเมือง และวัดพิกุลทองวนารามน่าจะเป็นวัดคู่บ้านคู่เมืองของเมืองกลันตัน
4. เมืองปาหัง ตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปาหังหรือโกโลเปก ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังเปอร์กัน ซึ่งเป็นวังของพญาเมืองปาหังหรือเจ้าเมืองรัฐปาหัง เมืองนี้ตั้งอยู่ห่างจากทะเล 2 กิโลเมตร และห่างจากแม่น้ำปาหังประมาณ 2 กิโลเมตร
เมืองปาหังเป็นเมืองเก่าแก่โบราณและเป็นชุมชนตอนล่างของแหลมมลายู เมืองนี้ตั้งอยู่ทางทิศเหนือของเมืองยโฮร์ ทิศตะวันออกติดกับฝั่งทะเล ทิศตะวันตกติดกับรัฐเนกรีเซมบิลัน รัฐสลังงอ และรัฐเประ และทิศตะวันตกเฉียงเหนือติดกับรัฐตรังกานู เมืองปาหังเป็นเมืองที่มีขนาดใหญ่และมีทรัพยากรอุดมสมบูรณ์ที่สุดและเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีเถาะ ถือตรากระต่ายเป็นตราประจำเมือง ปัจจุบันเป็นรัฐหนึ่งของประเทศมาเลเซีย
5. เมืองไทรบุรี ตั้งอยู่ริมฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตกของรัฐเกดะห์ในปัจจุบัน สถานที่ตั้งเมืองเมืองไทรบุรีน่าจะตั้งอยู่ที่บริเวณที่ว่าการอำเภอโกตาร์สตาร์ รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย
เมืองไทรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่โบราณคู่กับเมืองปัตตานี ตำนานเมืองไทรบุรีกล่าวว่า ปัตตานีเป็นลังกาสุกะตะวันออก ส่วนเมืองไทรบุรีเป็นลังกาสุกะตะวันตก เจ้าเมืองไทรบุรีคนที่ 1- 6 นับถือศาสนาพุทธ คนที่ 7 เป็นต้นไป นับถือศาสนาอิสลาม เมืองไทรบุรีได้รับอารยธรรมจากอินเดีย เมืองนี้มีลักษณะพิเศษคือ มีพื้นที่ปลูกข้าวมากที่สุด เป็นที่ตั้งหลักแหล่งการค้า มีหน้าที่ส่งเสบียงและภาษีมาบำรุงเมืองหลวง และเป็นเมืองท่าที่สำคัญของคาบสมุทรมลายูในการติดต่อกับจีนและอินเดียโดยผ่านช่องแคบมะละกา ในประมาณพุทธศตวรรษที่ 18-19 ได้กลายเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะโรง ถือตรางูใหญ่เป็นตราประจำเมือง และมีวัดลำเด็นเป็นวัดประจำเมืองไทรบุรี
6. เมืองพัทลุง ตั้งอยู่บนสันทรายใหญ่ที่โคกเมืองบางแก้ว หมู่ที่ 4 ตำบลจองถนน อำเภอเขาชัยสน จังหวัดพัทลุง
เมืองพัทลุงเป็นเมืองเก่าแก่โบราณที่มีความใกล้ชิดกับเมืองนครศรีธรรมราชมากคล้ายกับเป็นเมืองเอกหรือเมืองลูกหลวง นครศรีธรรมราชเป็น “กรุงตามพรลิงค์” พัทลุงเป็น “กรุงพาราณสี”หรือ เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเสมือนเมืองปาตลีบุตร เมืองพัทลุงเป็นเสมือนเมืองพาราณสีหรือเมืองสทิงพาราณสี” และมีเจดีย์พระบรมธาตุเป็นศาสนสถานคู่เมือง เมืองพัทลุงมีพราหมณ์พฤฒิบาศซึ่งทำพิธีเกี่ยวกับเรื่องช้างอาศัยอยู่มาก จึงมีบทบาทหน้าที่เด่นและมีอำนาจมากทางด้านการปกครองและการศาสนา ตำนานนางเลือดขาวได้กล่าวว่า นางเลือดขาวเป็นผู้หญิงมีบุญญาธิการได้สร้างวัด สร้างพระพุทธรูปไว้หลายตำบลและพระยากุมารกับนางเลือดขาวเป็นเจ้าเมืองพัทลุง เมืองพัทลุงเป็นหัวเมืองขึ้นหรือเมืองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะเส็ง ถือตรางูเล็กเป็นตราประจำเมือง และมีวัดเขียนบางแก้วเป็นวัดประจำเมืองพัทลุง
7. เมืองตรัง ตั้งอยู่ริมฝั่งของแม่น้ำตรัง บริเวณบ้านห้วยยอดกับบ้านลำภูรา ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง
เมืองตรังเป็นเมืองหนึ่งที่ไม่ใหญ่โตมากนัก เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญที่สุดของฝั่งทะเลด้านตะวันตก เป็นเมืองท่าเรือ เป็นเมืองหน้าด่าน เพื่อใช้สำหรับการติดต่อกับโลกภายนอก จึงทำหน้าที่เปรียบเสมือนประตูบ้านประตูเมืองประจำด้านฝั่งทะเลทางทิศตะวันตกของแหลมมลายู เมืองตรังเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราชมีหน้าที่คอยดูแลรักษาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจ การค้า ทรัพยากร และภาษีส่วย ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า พระพุทธสิหิงค์เสด็จออกจากเมืองลังกามาขึ้นท่าเรือที่เมืองตรัง และตำนานนางเลือดขาวได้กล่าวว่า นางเลือดขาวผู้มีบุญญาธิการกับพระยากุมารพร้อมด้วยคณะเดินทางไปแสวงบุญยังเกาะลังกาทั้งไปและกลับต้องมาลงเรือและขึ้นเรือที่ท่าเมืองตรัง เมืองตรังเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะเมีย ถือตราม้าเป็นตราประจำเมือง และมีวัดย่านเลือนเป็นวัดประจำเมืองตรัง
8. เมืองชุมพร ตั้งอยู่ริมฝั่งซ้ายของแม่น้ำชุมพร บริเวณบ้านประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
เมืองชุมพรตั้งอยู่เหนือสุด เป็นช่วงต่อแดนระหว่างเมืองประทิวกับเมืองบางสะพาน ซึ่งมีแนวแบ่งเขตตามธรรมชาติ ตามสัญญาระหว่างพระเจ้าอู่ทองกับพระเจ้าศรีธรรมาโศกราช เมืองชุมพรได้ชื่อว่า “เมืองเคราะห์ร้าย” เพราะเป็นเมืองหน้าด่านที่อ่อนแอ น้ำท่วมพร้อมทั้งถูกวาตภัยเป็นประจำ พลเมืองต้องทุกข์ยากในการดำรงชีวิตและจุดที่ตั้งเป็นชุมทางยุทธศาสตร์เมืองหน้าด่านเกิดศึกสงครามทุกครั้งจะถูกโจมตี ได้รับผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมเสมอ จึงถือได้ว่าเมืองชุมพรได้รับความเดือดร้อนแสนเข็ญมากกว่าเมืองอื่นๆบนแหลมมลายู เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีมะแม ถือตราแพะเป็นตราประจำเมือง และมีวัดประเดิมเป็นวัดประจำเมืองชุมพร
9. เมืองบันไทยสมอ ตั้งอยู่ที่บ้านเวียง ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมืองบันไทยสมอหรือเมืองไชยา ศูนย์กลางเมืองตั้งอยู่ที่ราบลุ่มคลองไชยา ตัวเมืองตั้งอยู่บนสันทรายวางแนวเหนือใต้ ยาวประมาณ 288 เมตร กว้างประมาณ 278 เมตร รูปทรงสี่เหลี่ยม เรียกว่าเมืองพระเวียง เมืองนี้มีวัฒนธรรมเจริญรุ่งเรืองมากในสมัยศรีวิชัย และมีวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธนิกายมหายานและนิกายลังกาวงศ์และมีอิทธิพลของขอม มีพื้นที่ทำนาอันอุดมสมบูรณ์เป็นอู่ข้าวอู่น้ำมาตั้งแต่สมัยศรีวิชัยมาจนถึงปัจจุบัน เมืองไชยยาเป็นเมืองใหญ่ที่มีความสำคัญทางการเมือง เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ และเป็นเจ้าแห่งอ่าวบ้านดอนหรืออ่าวไชยา เมื่ออาณาจักรศรีวิชัยเสื่อมก็มาเป็นเมืองขึ้นของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีวอก ถือตราลิงเป็นตราประจำเมือง และมีวัดเวียงเป็นวัดประจำเมืองบันไทยสมอ
10. เมืองสะอุเลา ตั้งอยู่ริมฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าทองอุแทหรือท่าทองอุทัย ตำบลท่าทองอุแท อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี
เมืองสะอุเลาเป็นเมืองเดียวกันกับเมืองท่าทองเป็นเมืองที่มีอาณาเขตกว้างใหญ่ ตัวเมืองตั้งอยู่ในลุ่มน้ำท่าทอง มีการติดต่อและมีความสัมพันธ์กับเมืองคีรีรัฐนิคม มีพื้นที่ทำนาปลูกข้าวกว้างขวางโดยรวมเอาทั้งสิชลและขนอม ตลอดชายฝั่งทะเลด้านทิศตะวันออก เป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีระกา ถือตราไก่เป็นตราประจำเมือง และมีวัดประดู่ (วัดอุทยาราม) เป็นวัดประจำเมืองสะอุเลา
11. เมืองตะกั่วถลาง ตั้งอยู่ที่บ้านดอนและบ้านตะเคียน ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต
เมืองตะกั่วถลางเดิมน่าจะอยู่ที่ตะกั่วป่าและตะกั่วทุ่ง ซึ่งหลักฐานนี้ชี้ชัดว่าเมืองถลางจะต้องมีทรัพยากรแร่ดีบุกเป็นสินค้าหลัก เมืองถลางจึงขยายตัวมาจากเมืองตะกั่วทุ่งและตะกั่วป่า สาเหตุเพราะต้องการลงไปขุดหาแร่ เนื่องจากแร่ต่างๆบนบกขุดหากันมานานจึงหายากขึ้น บนเกาะถลางมีแร่ดีบุกมากและเป็นแหล่งแร่ใหม่ซึ่งตลาดต้องการ จึงได้อพยพคนลงไปตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยและขุดหาแร่ เป็นการขยายชุมชนออกไป เมืองตะกั่วถลางเป็นเมืองสิบสองนักษัตรของเมืองนครศรีธรรมราช กำหนดให้เป็นปีจอ ถือตราสุนัขเป็นตราประจำเมือง และมีวัดพระนางสร้างเป็นวัดคู่เมืองตะกั่วถลาง
12. เมืองกระบุรี ตั้งอยู่บ้านนาน้อย ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
เมืองกระบุรีเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ทางตอนเหนือสุดและตรงส่วนที่แคบที่สุดของแหลมมลายู เป็นเมืองสุดท้ายที่มีขนาดเล็กที่ทำหน้าที่เป็นเมืองท่าและควบคุมเส้นทางเดินบกข้ามแหลมมลายูสู่ชุมพร เมืองนี้จึงไม่ค่อยมีบทบาทและเรื่องราวทางประวัติศาสตร์มากนัก มีผู้คนอาศัยอยู่น้อย ที่ตั้งเมืองอยู่บริเวณต้นน้ำกระบุรีหรือบริเวณปากน้ำจั่น มีภูเขาล้อมรอบเกือบทุกด้าน เมืองนครศรีธรรมราชได้ตั้งเมืองกระบุรีขึ้นเป็นเมืองสิบสองนักษัตร เพื่อป้องกันผลประโยชน์และดูแลรัฐนครศรีธรรมราช ทรงกำหนดให้เป็นปีกุน ถือตราสุกร(หมู) เป็นตราประจำเมือง และมีวัดจันทารามเป็นวัดประจำเมืองกระบุรี
ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองสิบสองนักษัตร โดยการยกฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และมีความพร้อมขึ้นเป็นเมืองในปีนักษัตรตามลำดับเมืองและปีนักษัตรนั้นๆ ส่วนการใช้รูปสัตว์ในปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้เลียนแบบจากวิธีการของพราหมณ์ในราชวงศ์ตามพรลิงค์มาปรับปรุงเปลี่ยนแปลงให้เป็นแบบพุทธ โดยให้มีความหมายว่าจักรราศีทั้งหมดหมุนรอบแกนของจักรวาล คือ องค์ศรีธรรมาโศกราชที่เป็นประมุขของรัฐ พระองค์ทรงใช้ตราประจำเมืองหรือประจำพระองค์เป็นรูปดอกบัว ซึ่งเป็นดอกไม้ที่เกี่ยวเนื่องกับพระพุทธศาสนามาเป็นสัญลักษณ์แทนพระองค์

หน้าที่ของเมืองสิบสองนักษัตร
ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า พระอินทร์ได้ส่งพระวิษณุกรรม์ลงมาช่วยเหลือพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชในการก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ส่วนพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้ทรงตั้งเมืองสิบสองนักษัตรขึ้น เพื่อให้มาก่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์และวิหารต่างๆ แต่ต้องประสบปัญหา คือ ไข้ห่า ผู้คนล้มตาย เมืองร้างอยู่เป็นเวลานาน พระนิพพานโสตรได้กล่าวว่าเมื่อกษัตริย์เมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างพระบรมธาตุเจดีย์เสร็จแล้ว ทรงเปิดโอกาสให้เมืองสิบสองนักษัตรเป็นผู้รับผิดชอบหรือทำหน้าที่สร้างสรรค์และทะนุบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ได้ส่งผลให้หัวเมืองน้อยใหญ่ในรัฐได้มีความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดกับศูนย์รวมแห่งความศักดิ์ จึงส่งผลให้ระบบความเชื่อเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้และพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้แพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในรัฐนี้และเป็นระบบความเชื่อที่มีการสืบต่อมาอย่างยาวนาน ดังที่ปรากฏว่าพุทธศาสนิกชนในปลายของคาบสมุทรมลายูยังคงเดินทางมาจารึกแสวงบุญ ณ ศาสนสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้สืบต่อกันมาตราบจนทั่งปัจจุบันนี้

สรุป
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐนครศรีธรรมราช ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชได้สถาปนาเมืองสิบสองนักษัตรขึ้นมาปกครองรัฐนี้ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 18 เพราะในช่วงระยะเวลานี้เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังคนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าก็ดีขึ้น และศิลปวัฒนธรรมก็เจริญ เมืองสิบสองนักษัตรจึงมีหน้าที่ในการสร้างสรรค์และบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ และการนำทรัพยากรมาเป็นสินค้าออกของรัฐอีกด้วย
เมืองสิบสองนักษัตรของรัฐนครศรีธรรมราชได้แก่ เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันไทยสมอ เมืองสะอุเลา เมืองตะกั่วถลาง และเมืองกระบุรี
เมืองสายบุรีตั้งอยู่ทิศตะวันตกของแม่น้ำสายบุรี ตำบลตะลุบัน อำเภอสายบุรี จังหวัดปัตตานี เมืองปัตตานีตั้งอยู่บริเวณบ้านวัด บ้านประแว และบ้านจาเละ ตำบลยะรัง อำเภอยะรัง จังหวัดปัตตานี เมืองกลันตันตั้งอยู่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำกลันตัน ปัจจุบันเป็นที่ตั้งของนครโกตาบารู รัฐกลันตัน ประเทศมาเลเซีย เมืองปาหังตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำปาหัง (โกโลเปก) ปัจจุบันเป็นที่ตั้งวังเปอร์กัน รัฐปาหัง ประเทศมาเลเซีย เมืองไทรบุรีตั้งอยู่ฝั่งทะเลทิศตะวันตก ปัจจุบันอยู่บริเวณที่ว่าการอำเภอโกตาร์สตาร์ รัฐเกดะห์ ประเทศมาเลเซีย เมืองพัทลุงตั้งอยู่บนสันทรายใหญ่ที่โคกเมือง ตำบลจองถนน อำเภอ เขาชัยสน จังหวัดพัทลุง เมืองตรังตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำตรัง ที่บ้านห้วยยอด และบ้านลำภูรา ตำบลห้วยยอด อำเภอห้วยยอด จังหวัดตรัง เมืองชุมพรตั้งอยู่ฝั่งขวาของแม่น้ำชุมพร บริเวณบ้านประเดิม ตำบลตากแดด อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร เมืองบันไทยสมอตั้งอยู่ที่บ้านเวียง ตำบลเวียง อำเภอไชยา จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองสะอุเลาตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำท่าทองอุแท ตำบลท่าทอง อำเภอกาญจนดิษฐ์ จังหวัดสุราษฎร์ธานี เมืองตะกั่วถลางตั้งอยู่ที่บ้านดอน และบ้านตะเคียน อำเภอถลาง จังหวัดภูเก็ต และเมืองกระบุรีตั้งอยู่ที่บ้านนาน้อย ตำบลปากจั่น อำเภอกระบุรี จังหวัดระนอง
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้สร้างเมืองสิบสองนักษัตรขึ้น โดยการยกฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ ทางยุทธศาสตร์ และความพร้อมของเมืองขึ้นตามลำดับก่อนหลัง โดยการใช้รูปสัตว์ในปีนักษัตรเป็นตราประจำเมือง ส่วนเมืองนครศรีธรรมราชใช้ตรารูปดอกบัวเป็นตราประจำเมือง เมื่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชสำเร็จแล้ว ทรงเปิดโอกาสให้เมืองสิบสองนักษัตรเป็นผู้รับผิดชอบในการสร้างสรรค์และทะนุบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์ จึงส่งผลให้เจ้าเมืองน้อยใหญ่ได้มีความผูกพันอย่างใกล้ชิดกัน มีระบบความเชื่อเกี่ยวกับพระบรมธาตุเจดีย์ และพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ ดังที่พุทธศาสนิกชนได้เดินทางมาแสวงบุญ ณ สถานที่อันศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้จนถึงปัจจุบันนี้

เอกสารอ้างอิง
พระปราโมทย์ กลิ่นละมัย. การศึกษาบทบาททางการปกครองของราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช : กรณีศึกษาจาก “ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช”. วิทยานิพนธ์ หลักสูตรศิลปศาสตร
มหาบัณฑิต สาขาวิชาไทยคดีศึกษา มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช, 2550.

พุทธศาสนสุภาษิต
อุฏฺฐานกาลมฺหิ อนุฏฺฐหาโน ยุวา พลี อาลสิยํ อุเปโต
สํสนฺนสงฺกปฺปมโน กุสีโต ปญฺญาย มคฺคํ อลโส น วินฺทติ
บุคคลยังหนุ่มแน่นมีกำลัง (แต่) ไม่ขยันในกาลที่ควรขยัน เข้าถึงความเป็นผู้เกียจคร้าน
มีใจประกอบด้วยความดำริอันจมแล้ว ขี้เกียจ เกียจคร้าน ย่อมไม่ประสบทางด้วยปัญญา

ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชกับ การพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช

ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชกับการพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 – 19

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
รัฐนครศรีธรรมราชโบราณ เป็นรัฐที่ได้สถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 โดยราชวงศ์ตามพรลิงค์เป็นราชวงศ์แรกที่สถาปนารัฐตามพรลิงค์และปกครองรัฐนี้ตามจักรวาลวิทยาของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 โดยการสถาปนาระบบมัณฑละขึ้นเป็นหลักในการปกครอง เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลงจึงมีการสืบต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ราชวงศ์นี้ปกครองรัฐนครศรีธรรมราชหรือรัฐพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ พระองค์ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช สร้างพระบรมธาตุเจดีย์บนหาดทรายแก้ว เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถาปนาเมืองสิบนักษัตร เพื่อให้มีหน้าที่ในการสร้างสรรค์และบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์อันเป็นศูนย์กลางแห่งรัฐหรือศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนา การค้า การปกครอง และศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
พระพุทธศาสนานิกายหินยานจากประเทศศรีลังกาได้เผยแผ่เข้ามาสู่รัฐนครศรีธรรมราชเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาจากศรีลังกาในช่วงนี้มักจะเรียกกันว่า “นิกายลังกาวงศ์”หรือ“ลัทธิลังกาวงศ์”หรือ“นิกายเถรวาทสิงหล” พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในรัฐแห่งนี้ โดยมีนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของนิกายนี้ รวมทั้งยังส่งอิทธิพลไปยังดินแดนที่อยู่รายรอบอีกด้วย โดยได้เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องต่อมา จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลานี้พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้ส่งอิทธิพลอย่างขนานใหญ่ต่อศิลปวัฒนธรรมในรัฐนี้ ส่งผลให้เกิดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้หลายด้าน โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมในการสร้างสรรค์สถูปที่มีรูปแบบทางศิลปะที่โดดเด่น จนกลายเป็นรูปแบบทางศิลปะที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า“สถูปทรงลังกา” หรือ“เจดีย์ทรงลังกา”
บทบาทของรัฐนครศรีธรรมราชในฐานะของรัฐที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ โดยศูนย์กลางอยู่ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์อันตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำภูมิภาคที่ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่นิกายลังกาวงศ์ออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย และรัฐโบราณอื่นๆที่ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและอินโดจีนอีกด้วย จึงส่งผลให้พระพุทธศาสนานิกายนี้กลายเป็นศาสนาหลักของไทย ลาว และเขมร มาจนถึงปัจจุบันนี้
หาดทรายแก้วอันเป็นสถานที่ที่ตั้งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เอกสารโบราณได้กล่าวไว้ว่า “หาดทรายแก้วชเลรอบ” มีลักษณะเป็นหาดทรายกว้าง ยาว มีน้ำอยู่รอบ “โคกซายทะเลรอบ” มีลักษณะเป็นเกาะหรือเกาะแก้ว มีลักษณะเป็นหาดใหญ่กว้างรีตามริมทะเลที่รอบ “หาดทรายแก้ว” มีลักษณะเป็นหาดทรายที่ “เห็นแจ้งแผ้วอยู่ แจ่มใส ป่าอ้อป่าเล่าใหญ่ ทรายแววไวที่สำราญ” และรวมทั้งเป็นแหล่งที่ “แลดูสะอาด” เป็น “หาดทรายแก้วโสภา” เป็น “หาดทรายใหญ่” มี “แม่น้ำคลองท่า” มีลักษณะ “แจ้งแผ้วน้ำฟ้า” เป็นแหล่งที่ “ทำนมัสการที่สำคัญของพญานาค” และเป็นแหล่งที่ “มีในตำรา” คำพรรณนาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่มีความบริสุทธิ์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการนำเอาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานในพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ไปผูกกันเข้ากับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐแห่งนี้ที่ได้แพร่กระจายไปปรากฏขึ้นในสถานที่อื่นๆ ภายในรัฐที่มีสภาพภูมิประเทศศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากหาดทรายแก้ว เช่น สถูปวัดเจดีย์งาม สถูปวัดจะทิ้งพระ สถูปวัดเขียน และสถูปวัดพระธาตุสวี เป็นต้น
การรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวไว้ว่าการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหรือพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าไว้บนหาดทรายแก้วในครั้งนั้นได้ผูกกาภาพยนตร์ไว้เฝ้ารักษา เมื่อมีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุพระเจดีย์ ฝูงกาจึงทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ คือ กาแก้วรักษาทิศตะวันออก กาชาดรักษาทิศตะวันตก กาเดิมรักษาทิศเหนือ และการามรักษาทิศใต้ ต่อมาเมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้จัดระเบียบการปกครองสงฆ์ จึงทรงนำมงคลนามทั้ง 4 มาตั้งเป็นสมณศักดิ์พระสงฆ์ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ พระครูกาแก้วทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศตะวันออก และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีขาว พระครูกาชาดทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศตะวันตก และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีแดง พระครูกาเดิมทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศเหนือ และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีดำ และพระครูการามทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศใต้ และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีเหลือง โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์และมีปู่ครูหรือสังฆราชเป็นอธิบดีสงฆ์หรือประธานสงฆ์ การปกครองคณะสงฆ์จึงเป็นเพียงการควบคุมให้เป็นไปตามกฎของศาสนาอย่างเคร่งครัดและถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยเท่านั้น

การสถาปนาระบบเมืองสิบสองนักษัตร
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 พระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ได้สถาปนาลงอย่างมั่นคงในรัฐนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นรัฐพระพุทธศาสนา สถาปนาหาดทรายแก้วหรือตัวเมืองโบราณนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งรัฐ สืบต่อจากศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย สถาปนาชื่อรัฐศรีธรรมราชหรือนครศรีธรรมราช และสถาปนาราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชเป็นราชวงศ์แรกขึ้นปกครองรัฐพระพุทธศาสนา อันเป็นชื่อที่สืบสมุฏฐานมาจากพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ซึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาพระองค์หนึ่ง พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสถูปจำนวนมากมายมหาศาลในดินแดนต่างๆในประเทศอินเดีย เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่นี้ได้กลายเป็นประเพณีที่ได้สืบต่อมาสู่รัฐพระพุทธศาสนา คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งรัฐนครศรีธรรมราช ได้ทรงเจริญรอยตามพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้นบนหาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐอันศักดิ์สิทธิ์นี้
ตำนานประวัติศาสตร์ของรัฐนครศรีธรรมราชได้สะท้อนให้เห็นว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชอันเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐนี้ ยังเป็นบ่อเกิดหรือที่มาของการสถาปนาระบบเมืองขึ้นหรือเมืองบริวาร เรียกว่า เมืองขึ้น 12 นักษัตรหรือเมืองสิบสองนักษัตร ปกครองโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของเมืองเหล่านั้น เมืองนักษัตรเหล่านั้นมีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐแห่งนี้
ในช่วงระยะเวลานั้นเมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจกล้าแข็งที่สุดสามารถแผ่อำนาจอิทธิพลลงไปตลอดแหลมมลายู เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ล่มสลาย อาณาจักรขอมทางเหนือก็หมดอำนาจลงไป เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังผู้คนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าดีขึ้น ศิลปวัฒนธรรมก็เจริญได้จัดการปกครองหัวเมืองขึ้นเรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร ได้แก่ เมืองสายบุรี ปีชวด ถือตราหนู เมืองปัตตานี ปีฉลูถือตราวัว เมืองกลันตัน ปีขาลถือตราเสือ เมืองปาหัง ปีเถาะถือตรากระต่าย เมืองไทรบุรี ปีมะโรงถือตรางูใหญ่ เมืองพัทลุง ปีมะเส็งถือตรางูเล็ก เมืองตรัง ปีมะเมียถือตราม้า เมืองชุมพร ปีมะแมถือตราแพะ เมืองบันไทยสมอ ปีวอกถือตราลิง เมืองสะอุเลา ปีระกาถือตราไก่ เมืองตะกั่วถลาง ปีจอถือตราสุนัข และเมือง กระบุรี ปีกุนถือตราหมู
อาณาเขตของรัฐนครศรีธรรมราชบนคาบสมุทรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล โดยมีศูนย์กลางของรัฐหรือเมืองหลวงอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีเมืองขึ้น 12 เมืองหรือเมืองสิบสองนักษัตรรายรอบเหมือนดาวล้อมเดือน อาณาเขตของรัฐนี้ทางด้านทิศเหนือมีเมืองนักษัตรชุมพร อาณาเขตทางด้านทิศใต้มีเมืองนักษัตรปาหัง (ประเทศมาเลเซีย) อาณาเขตทางด้านทิศตะวันออกจดคาบสมุทรไทยและอาณาเขตทางด้านทิศตะวันตกมีเมืองนักษัตรตะกั่วถลาง จังหวัดภูเก็ตเป็น อาณาเขต
การปกครองรัฐนครศรีธรรมราชมีการปกครองด้วยเสนาบดี 4 ตำแหน่งเรียกว่า บาคู หรืออำมาตย์ ซึ่งคล้ายคลึงกันกับระบบจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา ของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยมีพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิหรืออธิบดีสงฆ์หรือ ปู่ครู หรือ สังฆราชของรัฐนี้เป็นที่ปรึกษาในการถวายความเห็นคล้ายกับพราหมณ์ปุโรหิต
การบริหารควบคุมเมืองบริวารภายในรัฐ ทำโดยการยึดฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และมีความพร้อมขึ้นเป็นเมืองหลัก ทำหน้าที่ควบคุมเมืองย่อยลงไปตามที่ได้จัดเขตปกครองไว้มีเจ้าเมืองเป็นผู้บริหาร ควบคุมเมืองในสังกัดของตน ทรงพระราชทานตราเมืองเป็นรูปสัตว์ประจำปีนักษัตร ใช้เป็นตราประทับหนังสือโต้ตอบระหว่างหัวเมืองกับเมืองหลวง ลักษณะการปกครองของเมืองที่สำคัญอาจะเลียนแบบของเมืองหลวงหรือเมืองหลักในการปกครอง โดยเมืองขึ้นเหล่านั้นจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการในเทศกาลสงกรานต์อันเป็นวันที่เปลี่ยนปีนักษัตร หรือวันเวลาที่กำหนดและตกลงกัน การเข้าร่วมในราชพิธีที่สำคัญ การเข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีในโอกาสต่างๆ และการเข้าร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชตามประเพณีเพื่อเป็นเครื่องทดลองความจงรักภักดีของเมืองขึ้นเหล่านั้น

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งการค้า
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 รัฐพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์นั้นนับได้ว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ที่สุดอีกยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์การค้าของรัฐนี้ รัฐนครศรีธรรมราชได้มีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะของรัฐที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู อันเนื่องมาจากช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางการค้านานาชาติตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น การค้าของราชวงศ์ปัลลวะ ราชวงศ์โจฬะ ราชวงศ์ซ้อง และราชวงศ์หยวน เป็นต้น เอกสารโบราณของจีนกล่าวว่ามีการค้าระหว่างรัฐนี้กับจีนมาอย่างต่อเนื่อง และหลักฐานทางโบราณคดีได้มีการค้นพบภาชนะดินเผาที่ผลิตขึ้นในราชวงศ์ซ้องและราชวงศ์หยวนในสถานที่ที่เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญของรัฐแห่งนี้ คือ อ่าวนครศรีธรรมราช อ่าวสงขลา และอ่าวบ้านดอน สินค้าหลักของรัฐนครศรีธรรมราชที่ส่งออกไปค้าขายกับจีนมีประเภทไม้หอม เครื่องเทศ งาช้าง ขี้ผึ้ง นกเงือก นอแรด และดีบุก เป็นต้น ส่วนสินค้าของจีนที่นำมาขายและแลกเปลี่ยนมี 3 ประเภท คือ ประเภทแรกสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ได้แก่ เกลือ ข้าวเจ้าที่สีแล้ว เหล็ก และภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดิน ประเภทที่สอง สิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ ได้แก่ ทองคำ เงิน ไหม ภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบและเครื่องเขินสำหรับบรรดาสมาชิกของชนชั้นผู้ปกครอง และประเภทที่สาม สิ่งของเครื่องใช้สำหรับในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและร่มกันแดด เป็นต้น

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรม
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 นั้น จึงเป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดูขึ้นอย่างมากมาย ดังนี้
1. สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์อยู่อาศัยและสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น สถาปัตยกรรมที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วิหารหลวง วิหารทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารทับเกษตร วิหารคดหรือพระระเบียง วิหารธรรมศาลา วิหารโพธิ์พระเดิม เจดีย์รายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์ยักษ์ กุฏิ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น
2. ประติมากรรมที่สร้างขึ้นมีลักษณะนูนและลอยตัว ประติมากรรมที่นูนสูงในเมืองนครศรีธรรมราชได้แก่ ซุ้มเรือนแก้ว ซุ้มช้าโผล่หัว พระพุทธรูป เป็นต้น ส่วนประติมากรรมที่ลอยตัวได้แก่ พระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น พระพุทธสิหิงค์ พระศรีศากยมุนี พระพุทธทนทกุมาร พระพุทธเหมชาลา พระพุทธศรีธรรมาโศกราช พระพุทธไสยาสน์ พระเงิน และพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ
3. จิตรกรรมที่เขียนบนฝาผนังอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น อุโบสถ วิหาร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี วิถีชีวิตและตำนานต่างๆ ได้แก่ ภาพเขียนที่เสาวิหารเขียน ฝ้าเพดานวิหารหลวงและวิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทศชาติชาดก วัดท้าวโคตร และจิตรกรรมอื่นๆ เช่น จิตรกรรมในหนังสือบุดที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วไปในเมืองนครศรีธรรมราช
4. วรรณกรรมที่แต่งขึ้นหรือการประพันธ์หนังสืออย่างดงาม สละสลวย และประณีตบรรจง ซึ่งเป็นสำนวนกวีของชาวนครศรีธรรมราช เช่น เรื่องสุบิน วันอังคาร ทินวงศ์ สีเสาร์ กระต่ายทอง พระรถเสนของนายเรือง นาใน และเสือโคของพระมี เป็นต้น และเอกสารโบราณประเภทหนังสือบุดหรือสมุดข่อยที่เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตำรายา และประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราชที่สำคัญ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนาน พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระนิพพานโสตร เป็นต้น
5. ประเพณีอันเป็นกิจกรรมหรือความประพฤติที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อที่จะนำคนเข้าสู่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เพื่อความสามัคคี และเพื่อบุญกุศลและความสุข อันเป็นวิถีชีวิตของชาวเมืองนครศรีธรรมราชมาแต่โบราณ ประเพณีเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเพณีที่จัดขึ้นตามฤดูกาล ได้แก่ ประเพณีให้ทานไฟ ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแรกนาขวัญ ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีลากพระ และประเพณีที่จัดขึ้นตามกาลเวลาอันเหมาะสม ได้แก่ ประเพณียกขันหมากพระปฐม ประเพณีสวดด้าน ประเพณีสวดมาลัย ประเพณีการทำนาหว้า ประเพณีการทำขวัญข้าว และประเพณีที่เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน และการทำศพ

สรุป
นครศรีธรรมราชได้สถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 โดยราชวงศ์ตามพรลิงค์และปกครองตามจักรวาลวิทยาระบบมัณฑละของศาสนาพราหมณ์ เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 จึงมีการสืบต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์ พระองค์ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ และสถาปนาเมืองสิบสองนักษัตร จึงทำให้เมืองนครศรีธรรมราชเจริญสูงสุด
พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้าสู่รัฐนครศรีธรรมราช และได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช จึงส่งผลให้เกิดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เจดีย์ทรงลังกา และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆและรัฐอื่นๆ
ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์หรือศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่นบหาดทรายแก้ว ส่วนการรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นั้นมีกา 4 ฝูงคือ กาแก้ว กาชาด กาเดิม และการาม ต่อมาเมื่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงนำมงคลนามทั้ง 4 มาตั้งเป็นสมณศักดิ์พระสงฆ์ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์และปกครองคณะสงฆ์
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงได้สถาปนาพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ลงในเมืองนครศรีธรรมราช สถาปนาหาดทรายแก้วเป็นตัวเมือง สถาปนาชื่อรัฐ “ศรีธรรมราช” หรือ “นครศรีธรรมราช” และสถาปนาราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชขึ้นปกครองรัฐนครศรีธรรมราช อันเป็นชื่อที่สืบสมุฏฐานมาจากพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์แห่งอินเดีย
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์และเป็นบ่อเกิดการสถาปนาระบบเมืองสิบสองนักษัตร ได้แก่ เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันไทยสมอ เมืองสะอุเลา เมืองตะกั่วถลาง และเมืองกระบุรี เมืองสิบสองนักษัตรเหล่านี้มีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์
อาณาเขตของรัฐนครศรีธรรมราชทิศเหนือมีเมืองนักษัตรชุมพร ทิศใต้มีเมืองนักษัตร ปาหัง ทิศตะวันออกจดคาบสมุทรไทย และทิศตะวันตกมีเมืองนักษัตรตะกั่วถลาง มีการปกครองด้วยเสนาบดี 4 ตำแห่ง เรียกว่า บาคู หรือ อำมาตย์ โดยมีปู่ครูเป็นที่ปรึกษา ทรงพระราชทานตราเมืองเป็นรูปปีนักษัตร โดยเมืองเหล่านั้นจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการตามวันเวลาที่กำหนดไว้และเข้าร่วมพระราชพิธีต่างๆ ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเมืองหลวง
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู เอกสารโบราณของจีนกล่าวว่านครศรีธรรมราชมีการค้ากับจีน สินค้าของรัฐนี้มีประเภทไม้หอม เครื่องเทศ งาช้าง ขี้ผึ้ง เป็นต้น ส่วนสินค้าของจีนมีสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในรัฐนครศรีธรรมราช จึงเป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ขึ้นอย่างมากมาย เช่น สถาปัตยกรรมการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ประติมากรรมการสร้างพระพุทธรูป จิตรกรรมฝาผนังและหนังสือบุด วรรณกรรมสำนวนกวีชาวนครศรีธรรมราช และประเพณีอันเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่สืบต่อกันมา เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู และประเพณีลากพระ เป็นต้น

พุทธศาสนสุภาษิต
โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส
พาโล จ ปณฺฑิตมานี ส เว พาโลติ วุจฺจติ
บุคคลใดโง่ ย่อมสำคัญความที่แห่งตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิต
เพราะเหตุนั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต
บุคคลนั้นแล เรียกว่า “คนโง่”

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีต่อศิลปกรรม เมืองนครศรีธรรมราช

อิทธิพลของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ที่มีต่อศิลปกรรม
เมืองนครศรีธรรมราช

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช จึงเป็นบ่อเกิดศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับพระพุทธศาสนาที่มีความสำคัญ และมีความเจริญรุ่งเรืองมาแต่โบราณ นับเป็นมรดกทางวัฒนธรรมอันล้ำค่าที่บรรพบุรุษชาวเมืองนครศรีธรรมราชได้สร้างสมขึ้นมาตามวุฒิปัญญา ความรู้ความสามารถของตนเอง ความเป็นอิสระในระบบความคิด และการแสดงออก เพื่อให้เกิดบุญกุศล ความสุข ความสามัคคี และเพื่อให้อนุชนคนรุ่นหลังได้เกิดความภาคภูมิใจในบรรพบุรุษของตน นอกจากนั้นศิลปวัฒนธรรมยังมีคุณค่าในการกล่อมเกล่าจิตใจ ความเพลิดเพลิน และความสุขแก่ผู้สนใจอีกด้วย
ศาสตราจารย์พระยาอนุมานราชธน กล่าวถึงศิลปะไว้ว่า “ศิลปะเป็นสิ่งสูง อาจกล่อมเกลาจิตใจคนให้พ้นจิตใจเบื้องต่ำ คนดุร้ายกระด้างก็กลับเป็นตรงกันข้าม ที่ขลาดก็กลับกล้าหาญ ที่เกียจคร้านก็กลับขยัน เพราะด้วยอำนาจแห่งศิลปะเป็นเครื่องชักจูงโน้มน้าวใจ ศิลปะเป็นเครื่องมือที่ดีที่สุดสำหรับอบรมจิตใจ ให้การศึกษาแก่พลเมืองให้มีคุณงามความดีประจำใจอยู่…..”
พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็ทรงนิพนธ์เกี่ยวกับศิลปะไว้เช่นเดียวกัน คือ
“อันชาติใดไร้ช่างชำนาญศิลป์ เหมือนนารินไร้โฉมบรรโลมสง่า
ใครใครเห็นไม่เป็นที่จำเริญตา เขาจะพากันเย้ยให้ได้อาย”
จากคำกล่าวของปราชญ์ทั้งสองท่านที่กล่าวมาแล้ว พอจะเป็นเครื่องยืนยันได้ว่าศิลปกรรมนั้นมีความสำคัญต่อมนุษย์เราเพียงใด และเมื่อเป็นเช่นนี้อนุชนรุ่นหลังควรจะได้สำนึกถึงความสำคัญและช่วยกันบำรุงรักษา หวงแหนและทะนุถนอมไว้ไม่ให้สูญหาย (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 271)

สถาปัตยกรรม
สถาปัตยกรรม แปลว่า การก่อสร้าง หมายถึง อาคารและสิ่งก่อสร้างต่างๆ รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมที่เกี่ยวข้องรอบๆ และภายในอาคารนั้น สถาปัตยกรรมแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ การสร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์เข้าไปอยู่อาศัยหรือประกอบกิจกรรมต่างๆ เช่น กุฏิ อาคาร บ้านเรือน เป็นต้น และสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ใช้สอยอย่างอื่น เช่น อุโบสถ วิหาร ศาลา เจดีย์ เป็นต้น ส่วนประกอบของสถาปัตยกรรมจะต้องประกอบด้วย 3 ส่วนหลักๆ ที่ผสมผสานกันอย่างลงตัวและสมดุลได้แก่ ความงาม ความมั่งคงแข็งแรง และประโยชน์ในการใช้สอย (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 87)
เมืองนครศรีธรรมราชเป็นเมืองโบราณที่ได้ตั้งขึ้นโดยราชวงศ์ตามพรลิงค์ ประมาณ พ.ศ. 1100 – 1300 เมืองนี้ตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว สถาปัตยกรรมในช่วงนี้เป็นสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย นับถือพระอิศวร และลัทธิไวษณพนิกาย นับถือพระนารายณ์ ต่อมาสมัยศรีวิชัย ประมาณ พ.ศ. 1300 – 1600 พระพุทธศาสนา นิกายมหายาน สถาปัตยกรรมในช่วงระยะเวลานี้ได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์องค์เดิม เจดีย์วัดเขาหลัก อำเภอทุ่งใหญ่ นอกจากนี้ยังมีฐานอุโบสถ วิหาร เจดีย์ ในอำเภอเมืองนครศรีธรรมราช อำเภอท่าศาลา อำเภอสิชล และอำเภอขนอม เป็นต้น
สถาปัตยกรรมสมัยนครศรีธรรมราช ประมาณ พ.ศ. 1700 – 1900 สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วิหารหลวง วิหารพระทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารทับเกษตร วิหารคดหรือพระระเบียง วิหารธรรมศาลา วิหารโพธิ์พระเดิม เจดีย์รายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พระพุทธบาทจำลอง ประตูเยาวราช วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์ยักษ์ วัดพระเงิน เจดีย์ 3 องค์ วัดวังไทร อำเภอ ลานสกา หอพระพุทธสิหิงค์ วิหารสูง อุโบสถ วิหาร กุฏิตามวัดต่างๆ และรั้ววัดท่าโพธิ์ เป็นต้น (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 271 - 272)
สถาปัตยกรรมที่สำคัญที่ได้รับอิทธิพลทางสถาปัตยกรรมของศรีลังกา คือ เจดีย์ทรงกลมหรือเจดีย์ทรงลังกา อันหมายถึงสถาปัตยกรรมหมายเลข 1 คือ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ที่วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นเจดีย์หรือสถูปทรงลังกา ขนาดสูงประมาณ 77 เมตร เส้นผ่าศูนย์กลางที่ฐาน 22.98 เมตร ยอดหุ้มด้วยทองคำสูง 8.294 เมตร จากรูปแบบศิลปะที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันมีอายุอยู่ประมาณ พ.ศ. 1700 – 1800 ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชและตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวว่า สร้างเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า สร้างขึ้นในบริเวณหาดทรายแก้ว ตำนานดังกล่าวได้แสดงให้เห็นคติความเชื่อที่เกี่ยวเนื่องกันกับพระบรมธาตุเจดีย์ในอินเดีย ศรีลังกา เจดีย์องค์นี้ได้บูรณะมาแล้วหลายครั้ง แต่ยังแสดงให้เห็นว่าในขั้นต้นคงจะได้รับอิทธิพล จากต้นแบบเจดีย์กิริเวเหระ ในโปโลนนารุวะเมืองหลวงเก่าของศรีลังกา พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นเจดีย์ที่ตั้งอยู่บนฐานรูปสี่เหลี่ยมจัตุรัส โดยรอบฐานมีการแบ่งเป็นช่องๆ แต่ละช่องมีช้างโผล่ส่วนหัวออกมา ระหว่างซุ้มหัวช้างเหล่านั้นมีซุ้มเรือนแก้วภายในมีพระพุทธรูปส่วนปูนปั้นประดิษฐานอยู่ ส่วนฐานนี้ได้มีการสร้างหลังคาคลุมไว้รอบเรียกว่า ทับเกษตร ทางขึ้นไปทางด้านบนของลานประทักษิณล้อมรอบด้วยกำแพงแก้ว มีบันไดทางขึ้นสู่ลานประทักษิณอยู่ทางด้านทิศเหนือ ซึ่งตั้งอยู่ในวิหารพระทรงม้า มุมทั้งสี่ของลานประทักษิณมีเจดีย์จำลองทรงลังกาสร้างไว้มุมละองค์ ตรงลานประทักษิณเป็นปากระฆังของเจดีย์ โดยปากระฆังติดกับพื้นลานประทักษิณ ถัดขึ้นไปเป็นองค์ระฆังทรงกลมที่มีปากระฆังผายออกเล็กน้อย เหนือองค์ระฆังเป็นบัลลังก์รูปสี่เหลี่ยมทรงสูง ด้านข้างของบัลลังก์แต่ละด้านมีเสาประดับอยู่สลับกับช่องว่างเป็นช่องๆ ด้านบนของบัลลังก์ผายออก ตรงกลางบัลลังก์เป็นเสาหานประดับอยู่เป็นรูปวงกลม จำนวน 8 ต้น เสาแต่ละต้นประดิษฐานพระอรหันต์ปูนปั้นต้นละองค์ ถัดขึ้นไปทางด้านบนเป็นส่วนยอดของเจดีย์ที่ทำเป็นรูปวงกลมเป็นปล้องๆ เรียกว่า ปล้องไฉน จนกระทั่งถึงประทุมโกศที่ทำเป็นรูปบัวคว่ำบัวหงาย โดยหุ้มด้วยทองคำตั้งแต่ส่วนนี้ไปจนถึงปลายสุดที่เรียกว่าปลียอดทองคำ (พระสมุห์ปราโมทย์ ปสุโต. 2550 : 156 - 157)

ประติมากรรม
ประติมากรรม แปลว่า จำลองหรือเทียมหรือแทน อันหมายถึงศิลปะเกี่ยวกับการปั้นและการแกะสลัก ประติมากรรมในเมืองนครศรีธรรมราชมี 3 ประเภท คือ
1. ประติมากรรมแบบนูนต่ำ มีลักษณะเป็นรูปที่นูนขึ้นมาจากพื้นหรือมีพื้นหลังรองรับ ซึ่งมองเห็นได้ชัดเจนเพียงด้านเดียว คือ ด้านหน้า มีความสูงจากพื้นไม่ถึงครึ่งหนึ่งของรูปจริง ได้แก่ รูปนูนของเหรียญ รูปนูนที่ใช้ตกแต่งภาชนะ รูปนูนที่ใช้ประดับตกแต่งอาคารทางสถาปัตยกรรม โบสถ์ วิหารต่างๆ และพระเครื่องบางชนิด (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 91)
ประติมากรรมแบบนูนต่ำในเมืองนครศรีธรรมราช เช่น ประติมากรรมปูนปั้นรูปมหาภิเนษกรมณ์ฝาผนัง ประติมากรรมไม้บานประตูไม้จำหลักทางขึ้นลานประทักษิณ 1 คู่ รูปพระพรหม 4 กรและรูปพระนารายณ์ในวิหารพระทรงม้า ประติมากรรมหน้าบันด้านหน้าของพระวิหารหลวงแกะสลักไม้เป็นรูปพระอินทร์ทรงช้างเอราวัณ ประติมากรรมหน้าบันด้านหลังของพระวิหารหลวงเป็นรูปพระนารายณ์ทรงครุฑ ประติมากรรมรอยพระพุทธบาทจำลอง วัด พระธาตุวรมหาวิหาร หน้าบันแกะสลักไม้ของโบสถ์เก่าวัดสระเรียง เก็บรักษาที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาตินครศรีธรรมราช เป็นต้น
2. ประติมากรรมแบบนูนสูง มีลักษณะเป็นรูปต่างๆ ในลักษณะเช่นเดียวกันกับแบบนูนต่ำ แต่มีความสูงจากพื้นตั้งแต่ครึ่งหนึ่งของรูปจริงขึ้นไป ทำให้มองเห็นลวดลายที่ลึกได้ชัดเจน และเหมือนจริงมากกว่าแบบนูนต่ำ ซึ่งใช้งานแบบเดียวกันกับแบบนูนต่ำ (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 92)
ประติมากรรมแบบนูนสูงในเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ ประติมกรรมซุ้มเรือนแก้ว ประติมากรรมซุ้มช้างโผล่ส่วนหัวรอบๆ องค์พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช ภายในวิหารทับเกษตร และประติมากรรมปูนปั้นรูปพระพุทธเจ้า รอยพระพุทธบาทด้านหน้าอุโบสถวัด สวนหลวง เป็นต้น
3. ประติมากรรมแบบลอยตัว มีลักษณะเป็นรูปที่มองเห็นได้รอบด้านหรือมองเห็นได้ทั้ง 4 ด้านขึ้นไป ได้แก่ รูปเคารพต่างๆ พระพุทธรูป เทวรูป รูปบุคคลสำคัญ รูปสัตว์ เป็นต้น
ประติมากรรมแบบลอยตัวในเมืองนครศรีธรรมราช ได้แก่ พระพุทธรูปสกุลช่างนครศรีธรรมราชปางต่างๆ เช่น พระพุทธสิหิงค์ ประดิษฐานที่หอพระพุทธสิหิงค์ พระศรีศากยมุนีศรีธรรมราช ปางมารวิชัย เป็นพระประธานประดิษฐานในพระวิหารหลวง พระธรรมศาลา ปางมารวิชัย เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในวิหารธรรมศาลา พระประธานปางมารวิชัย แบบอู่ทอง เป็นพระประธานประดิษฐานอยู่ในวิหารเขียน พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าชายทนทกุมาร ทรงประทับยืน ปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่หน้าวิหารพระธรรมศาลา พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าหญิงเหมชาลา ทรงประทับยืน ทรงเครื่องกษัตริย์โบราณ ปางห้ามญาติ ประดิษฐานด้านหลังพระวิหารธรรมศาลา พระพุทธรูปแทนองค์พระเจ้าศรีธรรมาโศกราช ปางมารวิชัย ทรงเครื่องกษัตริย์โบราณสวมชฎายอดสูง ประดิษฐานในพระวิหารสามจอม พระพุทธไสยาสน์ ประดิษฐานอยู่ภายในพระวิหารโพธิ์ลังกา พระบุญมาก ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในพระวิหารใต้วิหารรอยพระพุทธบาทจำลอง พระพุทธรูปหินเขียว ปางประทานอภัย ประดิษฐานอยู่ภายในวิหารโพธิ์ลังกา พระพุทธรูปแทนองค์เจ้าพระยานคร (พัฒน์) และพระพุทธรูปแทนองค์เจ้าพระยานคร (น้อย) ประดิษฐานอยู่ในวิหารเขียน พระพวย ประดิษฐานอยู่ด้านหน้าวิหารโพธิ์ลังกา พระพุทธไสยาสน์องค์ใหญ่ ประดิษฐานในวิหารโพธิ์พระเดิม พระเงิน ปางมารวิชัย ประดิษฐานอยู่ในวิหารพระเงิน วัดพระเงิน พระประธานในอุโบสถหลังเก่าวัดท้าวโคตร พระประธานในอุโบสถวัดชายนา พระประธานในวิหารสูง พระพุทธรูปประทับยืนปางอุ้มบาตรหรือพระลาก ที่ใช้ในพิธีชักพระหรือแห่พระ พระพุทธรูปวัดต่างๆ ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก ท้าววิรูปักษ์ และสิงห์สีแดง สีเหลือง สีดำ 4 คู่ในเมืองนครศรีธรรมราช
ประติมากรรมที่โดดเด่นของเมืองนครศรีธรรมราช คือ พระพุทธสิหิงค์สกุลช่างนครศรีธรรมราช พระพุทธสิหิงค์ของนครศรีธรรมราช ปัจจุบันประดิษฐาน ณ หอพระพุทธ
สิหิงค์ อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช เป็นพระพุทธรูปแบบพระพุทธสิหิงค์นครศรีธรรมราช เป็นองค์ต้นแบบ มีหน้าตักประมาณ 32 เซนติเมตร สูง 42 เซนติเมตร เนื้อทองสำริด เป็นพระพุทธรูปที่มีลักษณะท่าทางเหมือนราชสีห์ นั่งขัดสมาธิเพชร ปางมารวิชัย ทรงมีพระอุษณีษะนูนขึ้นเป็นรูปทรงกลม เม็ดพระศกมีขนาดใหญ่ พระพักตร์กลม อวบอิ่ม พระขนงและพระเนตรได้สัดส่วน พระเนตรมองตรง มีพระโอษฐ์อวบอิ่ม พระกรรณยาว พระศอเป็นลอนเป็นชั้นๆ พระอังสาอวบอิ่มราบเรียบเกือบจะเป็นแนวตรง ครองจีวรห่มเฉียง มีสังฆาฏิพาดอยู่เหนือพระอังสาซ้าย โดยชายสังฆาฏิสั้นปลายเป็นกลีบแฉกซ้อนกันหลายชั้นอยู่เหนือพระถัน พระอุระอวบอ้วนแล้วค่อยๆ ราบลงมาเป็นรูปคอดกิ่วที่บั้นพระองค์ พระหัตถ์ทั้งสองข้างกลมกลึง พระหนุ (คาง) มีรอยพับลึกลงไปทั้งสองด้านแบบคางสิงโต ฐานเตี้ยและเรียบไม่มีบัวรองรับ (ฐานบัวเพิ่งทำใหม่ในรัชกาลที่ 5) ลักษณะโดยทั่วไปของพระพุทธสิหิงค์เป็นองค์ต้นแบบ กลมป้อม อ้วนล่ำ กล้ามเป็นมัด คล้ายกับคนเกร็งกล้ามเนื้อ ด้วยเหตุนี้จึงเรียกว่า “พระขนมต้ม” เพราะรูปทรงล่ำเป็นมัดอย่างขนมต้ม แต่องค์ต้นแบบมีความอ่อนหวาน มีความสมบูรณ์ สมส่วนสวยงามมากกว่าองค์อื่นๆ ซึ่งบางองค์ถ้ามองดูด้านข้างจะคล้ายกับสิงห์จริงๆ ตามตำนานของพระพุทธสิหิงค์ที่กล่าวไว้
(พระสมุห์ปราโมทย์ ปสุโต. 2550 : 163)
จิตรกรรม
จิตรกรรม หมายถึงศิลปะประเภทหนึ่งในทัศนศิลป์ที่เกี่ยวกับการเขียนการวาด มีลักษณะเป็นศิลปะที่มีความประณีตสวยงาม แสดงออกถึงความรู้สึกมีชีวิตจิตใจ ที่มีความอ่อนโยน ละมุนละไม และมีรูปแบบที่พิเศษ ซึ่งส่งผลสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีงามของชาติ มีคุณค่าทางศิลปะและเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาค้นคว้า เรื่องที่เกี่ยวกับศาสนา ประวัติศาสตร์ โบราณคดี ชีวิตความเป็นอยู่ วัฒนธรรมการแต่งกาย ตลอดจนการแสดงการละเล่นพื้นเมืองต่างๆ ของแต่ละยุค และสาระอื่นๆ ที่ประกอบกันเป็นภาพจิตกรรม งานจิตรกรรมให้ความรู้สึกในความงามอันบริสุทธิ์ น่าชื่นชม เสริมสร้างสุนทรีภาพขึ้นในจิตใจมวลมนุษยชาติได้โดยทั่วไป จิตกรรมนิยมเขียนบนฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและอาคารที่เกี่ยวกับบุคคลชั้นสูง เช่น อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง วัง บนผืนผ้า กระดาษ ไม้กระดานและบนสิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ โดยเขียนด้วยสีฝุ่น ตามกรรมวิธีของช่างเขียนโบราณ เนื้อหาที่เขียนมักเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี วิถีชีวิต และพงศาวดารต่างๆ ส่วนใหญ่นิยมเขียนประดับฝาผนังอุโบสถ วิหารอันเป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เป็นที่ประกอบพิธีกรรมทางพระพุทธศาสนา จิตกรรมแบบนี้เป็นจิตรกรรมแบบอุดมคติที่เป็นเรื่องราวลึกลับและอัศจรรย์ (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 101)
จิตรกรรมในเมืองนครศรีธรรมราชมีปรากฏอยู่น้อยมาก อาจจะเนื่องมาจากระยะเวลาอันยาวนานของความเจริญรุ่งเรืองทางพระพุทธศาสนาในเมืองนี้ สถาปัตยกรรมในระยะแรกๆ เช่น อุโบสถ วิหาร ได้ชำรุดทรุดโทรม และได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนหลังเก่า จิตรกรรมฝาผนังก็ได้รับความเสียหายไปพร้อมกับสถาปัตยกรรมเหล่านั้น จิตรกรรมที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบันได้แก่ จิตรกรรมที่เสาวิหารเขียน วิหารเขียนหลังนี้เมื่อก่อนมีภาพเขียนทั้งฝาผนังและเสาของวิหารเป็นภาพลายเส้นศิลปะสมัยอยุธยา ปัจจุบันเหลือแต่จิตรกรรมเสาวิหารเท่านั้น จิตรกรรมที่ฝ้าเพดานวิหารทรงม้า และวิหารหลวง มีภาพลายดารกาเป็นแฉก มีรัศมีสวยงาม วัด พระมหาธาตุวรมหาวิหาร จิตรกรรมภาพทศชาติชาดกบนไม้กระดานในอุโบสถวัดท้าวโคตร และจิตกรรมอื่นๆ เช่น หนังสือบุดหรือสมุดข่อย เรื่องพระมาลัย ไตรภูมิพระร่วง ดังที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วไปในเมืองนครศรีธรรมราช (วิเชียร ณ นคร และคนอื่นๆ. 2521 : 274 - 275)
คุณค่าของศิลปกรรม
ศิลปกรรมที่ได้รับอิทธิพลของพระพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช เป็นแหล่งรวบรวมข้อมูลแบบสหวิทยาการ ถือได้ว่าเป็นแหล่งขุมความรู้โดยเฉพาะเรื่องราวจากอดีตที่สำคัญยิ่ง แสดงให้เห็นถึงความเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมอันเก่าแก่มายาวนานของเมืองนครศรีธรรมราช ประโยชน์ของงานศิลปกรรม นอกจากจะให้ความสำคัญในเรื่องคุณค่าของงานศิลปะแล้ว ยังมีคุณค่าในด้านอื่นๆ อีกมาก (ฟื้น ดอกบัว. 2542 : 102) ดังนี้
1. คุณค่าในทางประวัติศาสตร์
2. คุณค่าในทางศิลปะ
3. คุณค่าในเรื่องเชื้อชาติ
4. คุณค่าในเชิงสังคมวิทยา
5. คุณค่าในด้านโบราณคดี
6. คุณค่าในการศึกษาประเพณีและวัฒนธรรม
7. คุณค่าในการศึกษาเรื่องทัศนคติค่านิยม
8. คุณค่าในการศึกษานิเวศวิทยา
9. คุณค่าในการศึกษาเรื่องราวทางพระพุทธศาสนา
10. คุณค่าในทางเศรษฐกิจการท่องเที่ยว

สรุป
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ จึงเป็นบ่อเกิดศิลปกรรมที่สำคัญยิ่งในเมืองนครศรีธรรมราชจำนวนมากมาย ศิลปกรรมเหล่านี้จึงเป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่ล้ำค่า อันเกิดมาจากสติปัญญาของนักคิด นักปราชญ์ที่มีภูมิรู้และพลังศรัทธากับพระพุทธศาสนา
สถาปัตยกรรมที่เป็นอาคารและสิ่งก่อสร้างแบ่งออกได้ 2 ชนิด คือ สร้างขึ้นเพื่อเป็นอยู่อาศัยและสร้างขึ้นเพื่อประโยชน์ในการใช้สอย และจะต้องมีองค์ประกอบ 3 ประการ คือ มีความงาม ความมั่นคงแข็งแรง และเป็นประโยชน์ในการใช้สอย
นครศรีธรรมราชมีสถาปัตยกรรมที่เกี่ยวเนื่องกับศาสนาพราหมณ์ ศาสนาพุทธ นิกายหินยาน และศาสนาพุทธ นิกายลังกาวงศ์ สถาปัตยกรรมที่สำคัญได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช พระวิหารหลวง และวิหารทับเกษตร เป็นต้น
ประติมากรรมที่เป็นศิลปะเกี่ยวกับการปั้นและการแกะสลักมี 3 แบบ คือ ประติมากรรมแบบนูนต่ำ ประติมากรรมแบบนูนสูง และประติมากรรมแบบลอยตัว
นครศรีธรรมราชมีประติมากรรมที่สำคัญและโดดเด่น คือ ประติมากรรมแบบนูนต่ำและนูนสูง ได้แก่ ประติมากรรมปูนปั้นฝาผนังภาพมหาภิเนษกรมณ์ ประติมากรรมปูนปั้นภาพพุทธประวัติ วัดสวนหลวง เป็นต้น และประติมากรรมแบบลอยตัว ได้แก่ พระพุทธสิหิงค์ พระพุทธรูปปางต่างๆ ท้าวจตุคาม ท้าวรามเทพ ท้าวธตรฐ ท้าวเวสสุวรรณ ท้าววิรุฬหก และท้าววิรูปักษ์ เป็นต้น
จิตกรรมที่เป็นภาพวาดและการเขียนลายเส้น เป็นศิลปะที่มีความสวยงาม ซึ่งสะท้อนให้เห็นวัฒนธรรมอันดีที่มีคุณค่าและประโยชน์ต่อการศึกษา จิตกรรมนิยมเขียนที่ฝาผนังภายในอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนาและอาคารที่เกี่ยวข้องกับบุคคลชั้นสูง เช่น อุโบสถ วิหาร พระที่นั่ง และวัง เป็นต้น จิตกรใช้สีฝุ่นเขียนตามกรรมวิธีโบราณ และนิยมเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น พุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี เป็นต้น
นครศรีธรรมราชมีจิตกรรมปรากฏอยู่น้อยมาก เพราะระยะเวลาอันยาวนานของประวัติศาสตร์ สถาปัตยกรรมจึงชำรุดทรุดโทรม และได้มีการสร้างอาคารหลังใหม่ขึ้นมาทดแทนสถาปัตยกรรมเก่า จิตรกรรมก็ถูกทำลายไปด้วย จิตรกรรมที่ได้ปรากฏอยู่ในปัจจุบันได้แก่ จิตรกรรมลายเส้นเสาวิหารเขียน จิตกรรมภาพทศชาติชาดก ในอุโบสถวัดท้าวโคตร เป็นต้น
ประโยชน์และคุณค่าของศิลปกรรมในเมืองนครศรีธรรมราชที่บรรพบุรุษได้สร้างสมมา ซึ่งมีคุณค่าทางศิลปะ เชื้อชาติ ประวัติศาสตร์ โบราณคดี สังคมวิทยา นิเวศวิทยา ทัศนคติค่านิยม เรื่องราวทางพระพุทธศาสนา ประเพณีวัฒนธรรม และเศรษฐกิจการท่องเที่ยว