โชว์ทำโชว์งาน

วันอาทิตย์ที่ 27 มีนาคม พ.ศ. 2554

ตำนานอโศกมหาราช : กษัตริย์ที่พระพุทธศาสนาไม่เคยลืม

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต)
บทนำ
พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่สมัยพุทธกาลจนถึงปัจจุบัน พระมหากษัตริย์หลายพระองค์ที่ได้เดินตามรอยบาทพระศาสดา ทรงนำพระธรรมคำสอนมาประพฤติปฏิบัติ บริหารบ้านเมือง เผยแผ่ และทรงอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา พระเจ้าอโศกมหาราชก็เป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ได้เดินตามรอยพระพุทธเจ้า ทรงเป็นองค์เอกอัครศาสนูปถัมภกที่สำคัญในพระพุทธศาสนา เป็นกษัตริย์นักเผยแผ่ เป็นกษัตริย์นักปกครองโดยธรรม จึงทำให้บ้านเมืองอยู่สงบร่มเย็นตลอดมา พระองค์ทรงมีพระราชจริยวัตรที่ดีงามและเป็นแบบอย่างอันดีให้กับกษัตริย์ในสมัยต่อๆ มา
กำเนิดพระเจ้าอโศกมหาราช
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงถือกำเนิดในตระกูลอโศก กษัตริย์ในราชวงศ์เมารยะ (อโศก แปลว่า จิตไม่โศก หมายถึง จิตที่บรรลุนิพพาน อันเป็นจิตของพระอรหันต์) พระเจ้าอโศกมหาราชมีชื่อเรียกอีกพระนามหนึ่งว่า พระเจ้าปิยทัสสี พระองค์เป็นพระราชโอรสของพระเจ้าพินธุสารกับพระนางศิริธรรมาครองราชย์สมบัติ ณ นครปาฏลิบุตร มีพระราชโอรส ๓ พระองค์ คือ สุมนะ อโศกราชกุมาร และติสสะ เมื่อพระนางศิริธรรมาทรงพระครรภ์พระนางนึกปรารถนาจักเหยียบดวงอาทิตย์และดวงจันทร์ ปรารถนาจะเสวยดวงดาวและรากดินภายใต้ปฐพี ชรสารนาดาบสพยากรณ์ว่าในอนาคตพระโอรสจะได้เป็นบรมกษัตริย์ที่ประเสริฐในชมพูทวีปและมีกษัตริย์ในนครน้อยใหญ่มาเป็นข้าทูลละอองในพระบาท พระโอรสจะได้ฆ่าเสียซึ่งราชวงศ์วโรรสอันต่างมารดากันมี ๙๙ องค์ในนครนั้น พระโอรสจะได้ทำลายลัทธิแห่งเดียรถีย์ ๙๖ จำพวก และจะได้บำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองสืบไป และพระราชโอรสจักมีพระราชอาณาจักรแผ่ไปภายใต้แผ่นดินและอากาศเบื้องบนได้โยชน์หนึ่ง
พระเจ้าอโศกมหาราชขณะที่ทรงพระเยาว์เป็นกษัตริย์ที่ดุร้าย มีผู้คนขนานพระนามว่า จัณฑาโศก (แปลว่า พระเจ้าอโศกผู้ดุร้าย) พระองค์ทรงออกศึกตั้งแต่มีพระชนมายุได้ ๑๘ พรรษา ศึกครั้งนั้นเจ้าชายอโศกนำกองทัพไปตีนครตักกสิลาซึ่งเป็นกบฏแข็งเมืองได้สำเร็จ พระองค์ทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิทิสา มีพระราชโอรสและพระราชธิดา ๒ พระองค์ คือ เจ้าชายมหินทและเจ้าหญิงสังฆมิตตา เมื่อพระเจ้าพินทุสารสวรรคตเจ้าชายอโศกได้ขึ้นครองราชย์สมบัติสืบต่อมา
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการทำสงคราม
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำสงครามตั้งแต่วัยเยาว์ศึกใหญ่ที่พระองค์ทรงกระทำและทรงมีชัยชนะโดยเด็ดขาด คือ การทำศึกกับนักรบชาวกลิงคะ แคว้นกลิงคะตั้งอยู่ทางตอนใต้ของชมพูทวีป (อินเดีย) พระเจ้าอโศกมหาราชทำข้าศึกอยู่นานถึง ๗ - ๘ ปี ในการทำศึกครั้งนั้นทหารชาวกลิงคะถูกจับเป็นเชลยถึง ๑๕๐,๐๐๐ คน และที่เสียชีวิตจำนวนมากเท่าๆ กัน พระองค์ทรงได้พบเห็นประชาชน ทหารบาดเจ็บล้มตายทุพพลภาพ และประชาชนต้องพลัดพรากที่อยู่ ลูกขาดพ่อ ภรรยาขาดสามี บ้านเรือนทรัพย์สินก็พังพินาศย่อยยับ เพราะพิษภัยสงคราม จึงทำให้พระองค์เกิดธรรมสังเวชหันมานับถือพระพุทธศาสนา และนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาบริหารบ้านเมืองแทนการทำสงคราม เรียกว่า ปกครองแผ่นดินโดยธรรม
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการนับถือพระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา ซึ่งมีหลักฐานที่สำคัญ ๓ ประการ คือ
๑. การทำสงครามกับแคว้นกลิงคะ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงได้ทอดพระเนตรเห็นผู้คนล้มตาย บาดเจ็บ และถูกจับเป็นเชลยจำนวนมาก พระองค์จึงทรงสลดพระทัยแล้วหันมานับถือพระพุทธศาสนา ทรงเปลี่ยนนโยบายใหม่จากการชนะกันด้วยสงครามมาสู่การชนะด้วยธรรม คือธรรมวิชัย
๒. พระเจ้าอโศกมหาราชเคยเลื่อมใสนับถือพวกพราหมณ์ตาปะขาวและปริพาชกในลัทธิปาสัณฑะมาก่อนถึง ๓ ปี ในปีที่ ๔ พระองค์ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา เพราะทรงเลื่อมใสในสามเณรนิโครธ ผู้มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อยและสำรวมอินทรีย์ ซึ่งต่างจากพวกพราหมณ์ตาปะขาวและปริพาชกในลัทธิปาสัณฑะที่ไม่สำรวมอินทรีย์ และไม่มีกิริยามารยาทที่เรียบร้อย
๓. คัมภีร์ทิวยาวทานะ นิกายมหายานกล่าวว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเลื่อมใสนับถือพระอรหันต์รูปหนึ่งชื่อว่า พระพาลปุณฑิตะ พระอรหันต์รูปนี้ถูกเจ้าหน้าที่จับร่างโยนลงในบ่อกองไฟที่ลุกโชติช่วง แต่เกิดอัศจรรย์ร่างของพระอรหันต์กลับมีดอกบัวขนาดใหญ่ผุดขึ้นมารองรับ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทอดพระเนตรเห็นก็เกิดความเลื่อมใสหันมานับถือพระพุทธศาสนาและเปลี่ยนพฤติกรรมของพระองค์ จากกษัตริย์ที่ดุร้ายกลับเป็นกษัตริย์ที่มีแต่ความเมตตากรุณา
พระเจ้าอโศกมหาราชเมื่อพระองค์ทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนาแล้ว พระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนามากมาย เช่น สร้างสถูปเจดีย์จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์ ประดิษฐานไว้ ณ สถานที่ต่างๆพร้อมกับการบรรจุพระบรมสารีริกธาตุ พระองค์ทรงมีธรรมสัญจร เสด็จถวายนมัสการสังเวชนียสถานทั้ง ๔ องค์ และทรงพระราชทานทองคำแก่ประชาชนในคราวเสด็จนมัสการสังเวชนียสถานเหล่านั้นอีกด้วย
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการกำจัดเดียรถีย์ออกจากพระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนับถือลัทธิพาเหียรปาสัณฑะมาเป็นเวลา ๓ ปี ในปีที่ ๔ จึงทรงได้เลื่อมใสในพระพุทธศาสนา ทรงรับสั่งให้นายช่างสร้างมหาวิหารชื่อว่าอโศการาม ทรงตั้งภัตไว้เพื่อถวายภิกษุหกแสนกว่ารูป และทรงรับสั่งให้สร้างมหาวิหาร ๘๔,๐๐๐ หลัง ประดับด้วยพระเจดีย์ ๘๔,๐๐๐ องค์ไว้ในพระนคร ๘๔,๐๐๐ แห่งทั่วชมพูทวีป
เมื่อพวกเดียรถีย์ทั้งหลายเสื่อมจากลาภสักการะที่เคยได้รับจากพระเจ้าอโศกมหาราช จึงปลอมบวชในพระพุทธศาสนาเพื่อลาภสักการะ เที่ยวประกาศลัทธิของตนว่า “นี้คือธรรมนี้คือวินัย” บางพวกประกาศว่า “พวกเราจักทำลายศาสนาของพระสมณโคตรมะให้สิ้นซาก” ปลอมนุ่งผ้ากาสายะ เที่ยวไปในวิหาร เข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรมต่างๆ ภิกษุฝ่ายธรรมวาทีวินัยวาทีไม่ยอมร่วมทำอุโบสถสังฆกรรมกับเดียรถีย์ปลอมบวชนานถึง ๗ ปี พระภิกษุสงฆ์ได้ทูลให้พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบ พระองค์ตรัสสั่งอำมาตย์คนหนึ่งให้ไปพระวิหาร เพื่อระงับอธิกรณ์นิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถสังฆกรรม แต่อำมาตย์ผู้รับสั่งไม่ทราบว่าจะปฏิบัติอย่างไรที่สามารถจะระงับอธิกรณ์ได้ จึงปรึกษาอำมาตย์ทั้งหลาย พวกอำมาตย์ได้เสนอแนะว่า อธิกรณ์นี้จะระงับไปด้วยดี ควรจะปฏิบัติดุจราชบุรุษปราบปรามปัจจันตชนบท คือต้องมาปราบโจรข้อนี้ฉันใด ภิกษุใดไม่ยอมทำอุโบสถสังฆกรรมพระราชาจักมีพระประสงค์ให้ฆ่าภิกษุนั้นๆ เสีย เมื่อนิมนต์พระคุณเจ้าทั้งหลายทำอุโบสถสังฆกรรม พระภิกษุทั้งหลายไม่ขอทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกับเดียรถีย์ปลอมบวช อำมาตย์จึงใช้ดาบตัดศีรษะตั้งแต่พระเถระลงไปถึงพระติสสเถระ อำมาตย์จำพระติสสะได้ว่าเป็นพระกนิษฐภาดา (พระน้องชายร่วมมารดา) ของพระเจ้าอโศกมหาราช จึงไม่อาจใช้ดาบตัดศีรษะ รีบออกจากพระวิหารไปทูลเหตุการณ์ที่ตนได้กระทำลงไปให้ทรงทราบ เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบก็ตกพระทัยและเร่าร้อนพระทัยที่เกิดจากการกระทำของอำมาตย์ พระองค์รีบเร่งเสด็จไปวิหาร ตรัสถามพระเถระทั้งหลายอันมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระว่าการกระทำเช่นนี้บาปกรรมนี้จะพึงได้แก่ใคร พระเถระถวายพระพรว่าถ้าพระองค์ไม่มีความคิดเช่นนั้น บาปกรรมจะไม่มีแก่พระองค์เลย
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงหายจากความสงสัย ทรงพำนักอยู่ในพระราชอุทยานศึกษาพระธรรมวินัยกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ ๗ วัน ต่อจากนั้นทรงประกาศให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหมดมาประชุม ณ วัดอโศการาม เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชออกจากพระพุทธศาสนา พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระทูลยืนยันกับพระเจ้าอโศกมหาราชว่าบัดนี้พระศาสนาบริสุทธิ์ พระองค์ทรงตรัสอาราธนาให้พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายทำอุโบสถสังฆกรรม และทรงมีบัญชาให้ราชบุรุษถวายการอารักขาแก่พระภิกษุสงฆ์ทั้งหลายแล้วเสด็จกลับไปยังพระนคร พระภิกษุสงฆ์พร้อมเพรียงกันประชุมทำอุโบสถสังฆกรรมเป็นสันนิบาตสืบต่อมา
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการทำสังคายนาพระธรรมวินัย
พระพุทธศาสนาได้เจริญรุ่งเรืองสูงสุดในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช (พ.ศ. ๒๗๑ – ๓๑๒) ภายหลังจากที่พระองค์ทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงบริจาคพระราชทรัพย์วันละจำนวนมาก อุปถัมภ์บำรุงภิกษุสงฆ์ทั้ง ๑๘ นิกาย และทรงงดการอุปถัมภ์พวกเดียรถีย์ที่เคยอุปถัมภ์มาก่อน จึงทำให้พวกเดียรถีย์พากันปลอมบวชเพื่อหวังลาภสักการะ พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบเรื่องเหล่านั้นจึงทรงปรึกษากับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระชำระมลทินในพระพุทธศาสนาให้หมดไป พระภิกษุสงฆ์จึงทำอุโบสถกรรมร่วมกัน พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานประชุมได้วิเคราะห์เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเห็นว่า ร้ายแรงพอที่จะทำให้พระศาสนาเสื่อมสูญได้ เพื่อป้องกันมิให้เหตุการณ์เหล่านั้นเกิดขึ้นอีกในอนาคต จึงแสดงกถาวัตถุปกรณ์ โดยนำสูตรจำนวน ๑,๐๐๐ สูตร ของฝ่ายสกวาที ๕๐๐ สูตร และของฝ่ายปรวาที ๕๐๐ สูตร มาจำแนกตามนัยและมาติกาของกถาต่างๆ ตามที่พระพุทธเจ้าวางไว้ จากนั้นได้คัดเลือกพระเถระผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจำนวน ๑,๐๐๐ รูป เพื่อประชุมทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓
การทำสังคายนาครั้งที่ ๓ หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพาน ๒๓๔ ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระปรารภนักบวชนอกศาสนาที่ปลอมบวชเพื่อหวังลาภสักการะเป็นเหตุให้พระภิกษุสงฆ์ไม่ทำอุโบสถกรรมถึง ๗ ปี พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระขอความอุปถัมภ์จากพระเจ้าอโศกมหาราช ชำระสอบสวนและกำจัดเดียรถีย์เหล่านั้นออกจากพระธรรมวินัย ณ วัดอโศการาม นครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ประเทศอินเดีย พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธาน พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้อุปัชถัมภ์ ประชุมสงฆ์ ๑,๐๐๐ รูป กระทำอยู่ ๙ เดือนจึงสำเร็จ เมื่อทำสังคายนาสำเร็จแล้วพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระและพระเจ้าอโศกมหาราชได้จัดส่งสมณทูตไปประกาศพระพุทธศาสนาถึง ๙ สายในดินแดนต่างๆ ทั้งเอเชีย ยุโรป และอัฟกานิสถาน พระพุทธศาสนาจึงขยายตัวออกไปอย่างกว้างขวางทั่วโลก
พระเจ้าอโศกมหาราชกับการทำสังคมสงเคราะห์
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนำหลักธรรมทางพระพุทธศาสนามาใช้ในการบริหารบ้านเมืองให้สงบสุขและช่วยเหลือประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ผู้คนทั้งหลายในสมัยนั้นนิยมบูชายัญ มีการฆ่าคน แพะ โค สุกร ไก่ เป็นต้น นำมาเป็นเครื่องเซ่น เครื่องสังเวยเทพเจ้า เพื่อให้ดลบันดาลสิ่งที่ตนประสงค์ให้สัมฤทธิ์ผลสมปรารถนา พระองค์ทรงสลดสังเวชพระราชหฤทัยจากการทำสงครามทำลายชีวิตมนุษย์เป็นจำนวนมาก พระองค์ทรงบัญญัติกฎหมายบ้านเมืองว่า ต่อไปนี้ห้ามประชาชนไม่ให้ฆ่าสัตว์ตัดชีวิตหรือทำทารุณกรรมผู้คน สัตว์และสิ่งมีชีวิต ห้ามแสดงมหรสพที่เป็นอบายมุข ที่ไม่เป็นการสร้างสรรค์สังคม เพราะพระองค์ทรงมีพระเมตตาต่อสรรพสัตว์และมนุษย์เป็นอย่างมากที่ถูกโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนและอดอยากยากไร้ ทรงจัดตั้งโรงพยาบาลรักษาคนและสัตว์ ปลูกพืชใช้ประกอบยาสมุนไพร ปลูกต้นไม้ให้ความร่มรื่นริมทาง ขุดบ่อน้ำสำหรับคนและสัตว์ ให้ข้าราชการดูแลสุขทุกข์และสอนศีลธรรมแก่ประชาชน ให้การสงเคราะห์ช่วยเหลือลูกจ้าง ผู้ใช้แรงงาน คนยากจนอนาถา คนชรา ผู้สูงอายุ และสมณพราหมณ์ และให้พระราชทานอภัยโทษแก่ผู้ต้องประหารชีวิตหรือผู้ถูกคุมขังและจองจำ เป็นต้น
พระองค์ทรงสั่งสอนและส่งเสริมให้ประชาชนประพฤติปฏิบัติในคุณธรรมความดีด้วยการเชื่อฟังคำสั่งสอนของบิดามารดา ญาติผู้ใหญ่ และครูอาจารย์ ให้เอื้อเฟื้อเจือจานแก่ญาติและเพื่อนสนิทมิตรสหาย ตลอดจนบำรุงสมณพราหมณ์ ไม่ให้ฆ่าสัตว์และเบียดเบียนสัตว์ ให้ประหยัดและเก็บออมทรัพย์สิน และทรงให้พระราชวงศ์ พระราชโอรส พระธิดา พระนัดดา ประพฤติอยู่ในศีลธรรมอันดีงาม
นอกจากนั้นพระองค์ทรงสั่งสอนให้ข้าราชการประพฤติอยู่ในจริยธรรมและคุณความดี ให้พสกนิกรเข้าเฝ้าฯ ร้องทุกข์ เข้าเฝ้าฯ ถวายฎีกาในกรณีฉุกเฉินต่างๆ ทรงบำเพ็ญตนให้เป็นที่พึ่งของประชาชนและประโยชน์เกื้อกูลแก่ราษฎร ทรงเสด็จเยี่ยมราษฎร พระราชทานจตุปัจจัยไทยทานแก่สมณพราหมณ์ และพระราชทานสิ่งของให้แก่เด็ก คนชรา ผู้สูงอายุ และทรงสอนให้ประชาชนพลเมืองทำสิ่งที่เป็นธรรมมงคลจะได้อานิสงส์ผลบุญไม่มีที่สิ้นสุดทั้งโลกนี้และโลกหน้า เป็นต้น

พระเจ้าอโศกมหาราชกับการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาเป็นอย่างมาก ทรงประกาศพระองค์เป็นอุบาสก เลิกทำสงครามนอกดินแดนนอกประเทศ เว้นแต่สงครามป้องกันดินแดน นับตั้งแต่พระองค์ทรงหันหลังให้สงครามหันหน้าเข้าหาพระพุทธศาสนา ได้ทรงทุ่มเทพระกำลังพระวรกายและพระสติปัญญาในการทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา ประชาชน และพัฒนาบ้านเมืองให้เจริญรุ่งเรืองเป็นแผ่นดินธรรม ส่วนพระองค์ทรงเป็นธัมมิกราชา (พระราชาผู้ทรงธรรม) และทรงตั้งพระราชหฤทัยอย่างแน่วแน่ในการประกาศพระพุทธศาสนาว่า
๑. ทรงทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองและให้แผ่ไพศาลไปในโลก
๒. ทรงมีพระราชปณิธานว่า จะทรงปกครองพลเมืองด้วยธรรมวิชัย คือ การเอาชนะด้วยธรรม
๓. ทรงส่งสมณทูตออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาในเอเชีย ยุโรป และอัฟกานิสถาน
การส่งสมณทูตในครั้งนั้นพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้พิจารณาเห็นว่าพระพุทธศาสนาจะไม่ตั้งมั่นในชมพูทวีป แต่จะไปตั้งมั่นในนานาประเทศ จึงได้ขอความอุปถัมถ์จากพระเจ้าอโศกมหาราชจัดส่งสมณทูตไปประกาศพระศาสนา ๙ สาย คือ
สายที่ ๑ พระมัชฌันติกเถระไปแคว้นกัสมีระและแคว้นคันธาระ ได้แก่ ดินแดนแถบตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย และบางส่วนของประเทศอัฟกานิสถาน
สายที่ ๒ พระมหาเทวเถระไปแคว้นมหิสมณฑล ได้แก่ แคว้นไมซอร์หรือมานธาดา และบริเวณลุ่มแม่น้ำโคธาวารี ทางภาคใต้ของอินเดีย
สายที่ ๓ พระรักขิตเถระไปวนวาสีประเทศ ได้แก่ แคว้นกนราเหนือ ภาคตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศอินเดีย
สายที่ ๔ พระธรรมรักขิตเถระไปอปรันตปชนบท ได้แก่ ดินแดนแถบชายทะเลเหนือเมืองบอมเบย์ในประเทศอินเดีย
สายที่ ๕ พระมหาธรรมรักขิตเถระไปแคว้นมหาราษฏร์ ได้แก่ ดินแดนแถบตะวันออกเฉียงเหนือของเมืองบอมเบย์ในประเทศอินเดีย
สายที่ ๖ พระมหารักขิตเถระไปโยนกประเทศ ได้แก่ แคว้นของฝรั่งชาติกรีกในทวีปเอเชียกลางเหนือประเทศอิหร่านขึ้นไปจนถึงเตอรกีสถาน
สายที่ ๗ พระมัชฌิมเถระไปดินแดนแถบภูเขาหิมาลัย
สายที่ ๘ พระโสณเถระและพระอุตตรเถระไปดินแดนสุวรรณภูมิ ได้แก่ ดินแดนแถบประเทศพม่า ไทย มาเลเซีย และอินโดนีเซีย
สายที่ ๙ พระมหินทเถระ พระโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชไปลังกาทวีป คือ ประเทศศรีลังกา
นครศรีธรรมราชได้รับพระพุทธศาสนา นิกายเถรวาทครั้งแรกจากการส่งพระสมณทูตสายพระโสณเถระและพระอุตตรเถระที่ได้ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่สุวรรณภูมิหรือแหลมทอง ส่วนครั้งหลังได้รับพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์จากสมณทูตสายพระมหินทเถระ ซึ่งเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าอโศกมหาราชที่ได้ออกไปเผยแผ่พระพุทธศาสนาที่เกาะลังกา ตามที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงส่งไปประกาศพระศาสนาในคราวนั้น
บทสรุป
พระพุทธศาสนามีความเกี่ยวข้องกับพระมหากษัตริย์มาตั้งแต่อดีต กษัตริย์หลายพระองค์ทรงได้เดินตามรอยบาทพระศาสดา พระเจ้าอโศกมหาราชเป็นกษัตริย์อีกพระองค์หนึ่งที่ได้เดินตามรอยบาทพระศาสดา พระองค์ทรงถือกำเนิดในตระกูลอโศก ราชวงศ์เมารยะ ทรงมีชื่ออีกพระนามว่า พระเจ้าปิยทัสสี เป็นพระโอรสของพระเจ้าพินธุสารกับพระนางศิริธรรมา ครองนครปาฏลีบุตร แคว้นมคธ ครั้นเมื่อพระนางศิริธรรมาทรงพระครรภ์พระนางปรารถนาจะเหยียบดวงพระอาทิตย์และดวงจันทร์ ชรสารนาดาบสพยากรณ์ว่าในอนาคตพระโอรสจะได้เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ในชมพูทวีปและจะเป็นผู้ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรือง ขณะที่ทรงพระเยาว์พระองค์เป็นกษัตริย์ที่ดุร้ายมีพระนามว่า จัณฑาโศก เพราะพระองค์ทรงออกศึกตั้งแต่พระชนมายุ ๑๘ พรรษาและทรงอภิเษกสมรสกับเจ้าหญิงวิทิสา มีพระโอรสและพระธิดา ๒ องค์ คือ เจ้าชายมหินทและเจ้าหญิงสังฆมิตตา
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทำสงครามตั้งแต่วัยเยาว์ศึกที่พระองค์ทรงกระทำและมีชัยชนะ คือ การนำทัพไปปราบกบฏที่นครตักกสิลาและการทำสงครามกับนักรบชาวกลิงคะ การทำศึกกลิงคะ๗-๘ปี ทหารกลิงคะเสียชีวิตถูกจับเป็นเชลย และบ้านเรือนทรัพย์สินพังพินาศ พระองค์ทรงเสียพระทัยที่ผู้คนล้มตายหลายแสนคน ทรงเลิกทำสงครามและหันมานัยถือพระพุทธศาสนาและปกครองแผ่นดินโดยธรรม
สาเหตุที่พระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา คือ พระองค์ทรงสลดพระทัยในสงครามกลิงคะ ทรงเลื่อมใสในสามเณรนิโครธที่มีกิริยามารยาทเรียบร้อยและเลื่อมใสในความอัศจรรย์ของพระอรหันต์องค์หนึ่ง เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา พระองค์ทรงบำเพ็ญประโยชน์ต่อพระพุทธศาสนาอย่างมากมาย เช่น สร้างวัดอโศการาม สร้างสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุประดิษฐานไว้ในสถานที่ต่างๆ จำนวน ๘๔,๐๐๐ องค์
เมื่อพระเจ้าอโศกมหาราชทรงหันมานับถือพระพุทธศาสนา พวกเดียรถีย์ขาดลาภสักการะ จึงได้ปลอมบวชเข้ามาในพระพุทธศาสนาเพื่อลาภสักการะ นุ่งห่มผ้ากาสายะ เข้าร่วมอุโบสถสังฆกรรม จึงทำให้พระภิกษุสงฆ์ไม่ทำอุโบสถสังฆกรรม ๗ ปี พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบ ตรัสสั่งอำมาตย์ให้ไประงับอธิกรณ์ แต่อำมาตย์ไม่รู้วิธีปฏิบัติ จึงนิมนต์พระภิกษุสงฆ์ทำอุโบสถสังฆกรรม เมื่อพระภิกษุสงฆ์ไม่ทำอุโบสถสังฆกรรมร่วมกับเดียรถีย์ อำมาตย์จึงใช้ดาบตัดศีรษะพระภิกษุเหล่านั้นเสีย พระเจ้าอโศกมหาราชทรงทราบก็ตกพระทัยจึงเสด็จไปวิหารตรัสถามพระเถระว่าบาปกรรมครั้งนี้จะพึงได้แก่ใคร พระเถระถวายพระพรว่าบาปกรรมนี้จักไม่มีแก่พระองค์ ต่อจากนั้นพระองค์ทรงศึกษาพระธรรมวินัยกับพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระและประชุมสงฆ์ ณ วัดอโศการาม เพื่อกำจัดพวกเดียรถีย์ปลอมบวชจากพระพุทธศาสนา อาราธนาพระภิกษุสงฆ์ให้ทำอุโบสถสังฆกรรมและถวายการอารักขาแก่พระสงฆ์เหล่านั้น
พระเจ้าอโศกมหาราชทรงนำหลักธรรมมาบริหารบ้านเมืองและสงเคราะห์ประชาชนให้อยู่ดีมีสุข ทรงบัญญัติกฎหมายบ้านเมืองห้ามมิให้ฆ่าคนฆ่าสัตว์ ห้ามมีมหรสพที่ส่งเสริมอบายมุข จัดตั้งโรงพยาบาลรักษาคนและรักษาสัตว์ ปลูกพืชสมุนไพร ขุดบ่อน้ำ ปลูกต้นไม้ ช่วยเหลือคนใช้แรงงาน คนยากจน คนชรา และสมณพราหมณ์ พระราชทานอภัยโทษให้แก่นักโทษ ส่งเสริมคุณธรรมจริยธรรมแก่ข้าราชการและประชาชน เปิดโอกาสให้พสกนิกรเข้าเฝ้าร้องทุกข์ ทรงบำเพ็ญประโยชน์เกื้อกูล เสด็จเยี่ยมราษฎร และสมณพราหมณ์ และทรงสั่งสอนให้ประชาชนทำการมงคลเพื่อประโยชน์ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
พระโมคคัลลีบุตรติสสเถระได้พิจารณาเห็นว่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นนี้ร้ายแรงพอที่จะทำให้พระศาสนาเสื่อมสูญ จึงได้ป้องกันมิให้เหตุการณ์เหล่านี้เกิดขึ้นในอนาคต จากนั้นได้คัดเลือกพระเถระผู้มีความรู้แตกฉานในพระไตรปิฎกจำนวน ๑,๐๐๐ รูป เพื่อประชุมสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งที่ ๓ ณ วัดอโศกการาม โดยมีพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระเป็นประธานและพระเจ้าอโศกมหาราชทรงเป็นผู้อุปถัมภ์ กระทำ ๙ เดือนจึงสำเร็จและได้ส่งพระสมณทูตไปประกาศพระศาสนา ๙ สายในดินแดนต่างๆ นครศรีธรรมราชก็ได้รับพระพุทธศาสนาสายพระโสณเถระและอุตตรเถระที่พระเจ้าอโศกมหาราชจัดส่งสมณทูตมาในครั้งนั้น

เอกสารอ้างอิง
พระจำปี ธีรปญฺโญ (ยาวโนภาส), พระเจ้าอโศกมหาราชในฐานะนักธรรมมาธิปไตย, วิทยานิพนธ์
ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.
พระอาทิตย์ อคฺคจิตฺโต (มาตรา), ศึกษาพระจริยวัตรของพระเจ้าอโศกมหาราช, วิทยานิพนธ์
ศาสนศาสตรมหาบัณฑิต, บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหามกุฏราชวิทยาลัย, ๒๕๕๑.
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, พระไตรปิฎกภาษาไทย เล่ม ๓๗, กรุงเทพมหานคร : โรงพิมพ์
มหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย, ๒๕๓๙.

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น