บทความเรื่อง
ตำนานพระทันตธาตุเมืองนครศรีธรรมราช
พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต)
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชหรือพระธาตุยอดทองตั้งอยู่ภายในบริเวณวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหารหรือที่ชาวบ้านทั่วไปนิยมเรียกว่า “ในพระ” ตั้งอยู่ที่ตำบลในเมือง อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราชเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้ อันเปรียบเสมือนเป็นศูนย์รวมทางจิตใจของชาวปักษ์ใต้ทั้งหมด ในชั่วชีวิตสักครั้งหนึ่งขอให้ได้มีโอกาสไปนมัสการองค์พระบรมธาตุก็ถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่แล้ว ซึ่งไม่ต่างอะไรกับคนภาคกลางที่ตั้งจิตอธิษฐานขอให้ได้ไปทำบุญไหว้พระพุทธบาทสักครั้งในชีวิตถือเป็นบุญกุศลอันยิ่งใหญ่ สมัยที่ต้องเดินเท้ารอนแรมอันแสนลำบาก แต่หัวใจเปี่ยมด้วยแรงศรัทธาเป็นล้นพ้นมีแก้วแหวนเงินทองติดตัวไปก็ถอดถวายแด่องค์พระบรมธาตุด้วยหัวใจที่เปี่ยมสุข
ภายในองค์พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้เป็นสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลานำมาจากกรุงลังกามาประดิษฐานไว้ที่หาดทรายแก้วแห่งนี้ เพื่อให้เป็นที่สักการบูชาของมหาชนทั่วไป พระทันตธาตุหรือพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้มีเรื่องปรากฏอยู่ในตำนานพระเขี้ยวแก้วและคัมภีร์ชินกาลมาลินีว่าเมื่อครั้งถวายพระเพลิงพุทธสรีระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่มกุฏพันธนเจดีย์ แคว้นมัลละในครั้งนั้น เขมภิกษุซึ่งเป็นพระสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ารูปหนึ่งได้นำพระทันตธาตุออกมาจากจิตกาธานในขณะที่ถวายพระเพลิงพุทธสรีระขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วก็นำไปมอบให้พระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์แคว้นกลิงคราษฎร์ได้นำพระทันตธาตุไปประดิษฐาน ณ เมืองทันตบุรี ซึ่งเป็นเมืองหลวงของแคว้นกลิงคราษฎร์ในเวลานั้นและน่าจะประดิษฐานพระทันตธาตุที่เมืองทันตบุรีสืบมาเป็นเวลาประมาณ 100 กว่าปี
ครั้นเมื่อถึงสมัยของพระเจ้าคูหาสิวะ ซึ่งตรงกับรัชสมัยของพระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันครองกรุงลังกา ประมาณปี พ.ศ.841- 869 พระเจ้าคูหาสิวะได้ให้พระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์เมืองปาตลิบุตรอัญเชิญพระทันตธาตุไปประดิษฐานในกรุงปาตลิบุตร เพราะว่าเมืองปาตลิบุตรเป็นเมืองใหญ่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก เมืองนี้ตั้งอยู่ในแถบลุ่มแม่น้ำคงทางตอนเหนือของแคว้นกลิงคราษฎร์ เพื่อให้ชาวเมืองปาตลิบุตรที่เลื่อมใสศรัทธาได้สักการบูชาพระทันตธาตุชั่วขณะระยะเวลาหนึ่ง
พระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์เมืองปาตลิบุตรถูกพวกนับถือศาสนาพราหมณ์ลัทธิไวศยะ (ไวษณพนิกาย) พวกหนึ่งทูลยุยงให้นำพระทันตธาตุออกมาทดลองความศักดิ์สิทธิ์ด้วยวิธีการต่างๆ อันเป็นวิธีการที่ดูถูกเหยียดหยาม แต่ตามตำนานว่าพระทันตธาตุเกิดปาฎิหาริย์ชวนให้เลื่อมใสเป็นอัศจรรย์ยิ่งขึ้นทุกที และผลจากการทดลองครั้งนี้เองจึงทำให้พระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์เกิดความเลื่อมใสศรัทธาในพระพุทธศาสนาอย่างแรงกล้า พระองค์จึงทรงขับไล่พวกเดียรถีย์ที่เป็นตัวการ ยุยงและบ่อนทำลายพระพุทธศาสนาออกไปจากเมืองปาตลิบุตร พวกเดียรถีย์เมื่อถูกขับไล่ออกจากเมืองปาตลิบุตรก็ไปประจบประแจงพระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์เมืองขันธบุรีทูลยุยงให้ไปโจมตีเมืองปาตลิบุตรเพื่อชิงพระทันตธาตุมาทำลายเสีย แต่การยกทัพไปโจมตีเมืองปาตลิบุตรของพระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์ครั้งนี้ถูกกองทัพของพระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์ตีแตกและพ่ายแพ้กลับไป พระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์สิ้นพระชนม์ในที่สนามรบ ต่อจากนั้นไม่นานพระเจ้าปัณฑุราชกษัตริย์ก็คืนพระทันตธาตุให้แก่พระเจ้าคูหาสิวะนำกลับไปประดิษฐานในเมืองทันตบุรีตามเดิม
เมื่อพระเจ้าคูหาสิวะนำพระทันตธาตุกลับไปประดิษฐาน ณ กรุงทันตบุรีไม่นานนัก ท้าวอังกุลราชพระนัดดาของพระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์ขึ้นครองราชย์สมบัติเป็นกษัตริย์เมืองขันธบุรีสืบต่อมาจากพระเจ้าขีรธารราชกษัตริย์ก็รวบรวมกำลังยกทัพมาตีเมืองทันตบุรีเป็นศึกใหญ่ พระเจ้าคูหาสิวะมีพระทัยปรารถนาอย่างแรงกล้าที่จะไม่ให้พระทันตธาตุตกไปอยู่ในมือข้าศึก เพราะทรงทราบดีว่าข้าศึกเป็นคนนอกศาสนามีความต้องการพระทันตธาตุไปทำลาย แต่เมื่อประมาณดูกำลังของข้าศึกแล้วทรงเห็นว่าไม่สามารถจะสู้กับกองกำลังของข้าศึกได้ พระเจ้าคูหาสิวะจึงมอบพระทันตธาตุให้แก่เจ้าชายทันตกุมารซึ่งเป็นราชบุตรเขยและเป็นราชบุตรของพระเจ้าอุชเชนิราชมีศักดิ์เป็นพระนัดดาของพระองค์และเจ้าหญิงเหมมาลาราชธิดา พระองค์ทรงรับสั่งว่าให้ทั้งสองพระองค์ช่วยกันนำพระทันตธาตุหลบหนีออกจากเมืองทันตบุรีไปถวายให้ถึงพระหัตถ์ของพระเจ้ากรุงลังกาให้จงได้
ครั้นเมื่อกรุงทันตบุรีแตก พระเจ้าคูหาสิวะสิ้นพระชนม์ในสนามรบ เจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาจึงนำพาพระทันตธาตุหรือพระเขี้ยวแก้วหลบหนีลงเรือสำเภาหนีข้าศึกไปลังกา แต่เรือสำเภาโดยสารถูกพายุพัดมาทางฝั่งตะวันตกของแผ่นดินรูปด้ามขวานแห่งสุวรรณทวีป คือ ดินแดนภาคใต้ของประเทศไทยและในที่สุดเรือสำเภาแตกก็จมลง คลื่นซัดเจ้าชายและเจ้าหญิงรอดพระชนม์มาขึ้นฝั่งบนแผ่นดินส่วนนี้ทั้งสองพระองค์ เจ้าหญิงเหมมาลาทรงนำพระทันตธาตุซุกไว้ในมุ่นมวยผมมาตลอดเวลา ทั้งสองพระองค์ได้เดินทางมาจากฝั่งทะเลด้านตะวันตกบุกป่าเดินทางข้ามแผ่นดินมาทางทิศตะวันออกจนบรรลุถึงฝั่งทะเลตรงกับหาดทรายแก้ว จึงได้ฝังซ่อนพระทันตธาตุไว้เกือบใจกลางของหาดทรายและทำสัญลักษณ์ไว้แล้วข้ามกลับไปอยู่ในหมู่บ้านริมฝั่งแผ่นดินใหญ่ โดยปิดบังฐานะอันแท้จริงของตนเองอย่างเข้มงวดอยู่หลายเดือนเพื่อรอโอกาสที่จะเดินทางกลับไปลังกาให้ปลอดภัย
ครั้นในเวลาต่อมาเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาได้พบกับพระภิกษุอรัญวาสีรูปหนึ่ง ตำนานพระธาตุเมืองนครศรีธรรมราชชื่อว่ามหาเถรพรหมเทพ ตามตำนานกล่าวว่ามหาพรหมเทพเป็นพระอรหันต์ท่องธุดงค์มาจากอินเดีย เจ้าชายและเจ้าหญิงเลื่อมใสพระอรหันต์รูปนี้มากจึงได้เปิดเผยฐานะอันแท้จริงของตัวเองและเล่าเรื่องแต่หนหลังให้มหาเถรพรหมเทพทราบโดยตลอด พระอรหันต์รูปนี้ได้ช่วยเหลือเจ้าชายและเจ้าหญิงนำพระทันตธาตุเดินทางบกไปยังท่าเรือเมืองตรังฝั่งทะเลด้านทิศตะวันตก ซึ่งในขณะนั้นเป็นท่าเรือที่สำคัญที่มีเรือขนาดใหญ่ไปมาค้าขายระหว่างเมืองต่างๆ ในฝั่งทะเลทางทิศตะวันตก เช่น ลังกา อินเดีย และอาหรับ เมื่อสืบทราบได้ความว่าเหตุการณ์ที่เมืองทันตบุรีสงบลงแล้ว มหาเถรพรหมเทพก็ได้นำเจ้าชายและเจ้าหญิงพร้อมกับพระทันตุธาตุโดยสารเรือสำเภาค้าขายลำหนึ่งออกจากท่าเรือเมืองตรังไปยังลังกาโดยปลอดภัย
เมื่อเจ้าชายทันตกุมารกับเจ้าหญิงเหมมาลาเดินทางมาถึงเมืองลังกาก็เข้าเฝ้าพระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันกษัตริย์กรุงลังกา ถวายพระทันตธาตุและกราบทูลเรื่องราวแต่หนหลัง พระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันทรงรับพระทันตธาตุด้วยความโสมนัสปราโมทย์ จัดพิธีสมโภชเป็นการใหญ่และประดิษฐานพระทันตธาตุไว้ในกรุงลังกาเมื่อประมาณปีพ.ศ.854 พระองค์ทรงพระราชดำริว่าหาดทรายแก้วซึ่งเป็นที่ฝั่งพระทันตธาตุชั่วระยะเวลาหนึ่งนั้นเป็นมงคลภูมิ ทั้งในเวลานั้นก็มีคนไปพำนักอยู่อาศัยแล้วต่อไปในภายหน้าคงจะเป็นเมืองใหญ่ที่มั่นคง สมควรที่จะนำพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไปประดิษฐานไว้ให้เป็นที่สักการบูชาของมหาชนสืบไป
พระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันทรงจัดตั้งคณะธรรมทูตขึ้นคณะหนึ่ง ซึ่งนำโดยเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลา เพื่ออัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากลับไปฝังไว้ ณ หาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นสถานที่ที่เคยฝังซ่อนพระทันตธาตุ คณะธรรมทูตได้อัญเชิญพระบรมสารริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำนวนหนึ่งมุ่งหน้าไปสู่หาดทรายแก้ว โดยการเดินทางด้วยเรือสำเภามาขึ้นฝั่งที่ท่าเรือเมืองตรังแล้วยกขบวนเดินบกจนมาถึงหาดทรายแก้ว จึงได้อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุซึ่งบรรจุผอบแก้วลงฝังไว้ ณ ที่ร่องรอยเดิมที่เจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาเคยฝังพระทันตธาตุ โดยใช้ขันทองรองรับผอบอีกครั้งหนึ่งแล้วก่อพระเจดีย์องค์เล็กๆ ครอบไว้เพื่อเป็นเครื่องหมาย อธิษฐานเสี่ยงทายเอาพุทธบารมีผูกด้วยตาภาพยนตร์ขึ้นรักษา และพระบรมสารีริกธาตุอีกส่วนหนึ่งได้อัญเชิญไปประดิษฐาน ณ ทันตบุรี แคว้นกลิงคราษฎร์ พระเจ้ากฤตติสิริเมฆวันทรงมีพระราชสารให้คณะธรรมทูตถือไปถวายกษัตริย์พระองค์ใหม่ของเมืองทันตบุรี เพื่อขอให้ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุไว้แทนพระทันตธาตุ ณ ที่ประดิษฐานเดิมและทรงขอร้องไม่ให้ทำอันตรายเจ้าชายและเจ้าหญิงเชื้อสายกษัตริย์เก่า
หาดทรายแก้วบริเวณฝังซ่อนพระทันตธาตุเดิมยังคงว่างเปล่า แต่ด้านทิศเหนือและด้านทิศใต้ของหาดทรายรวมทั้งแผ่นดินใหญ่ น่าจะมีผู้คนตั้งหลักแหล่งอาศัยประปรายแล้ว เพราะปรากฏหลักฐานจากหลายแหล่งว่าแผ่นดินส่วนนี้เป็นแหล่งชุมชนเรือสำเภานานาชาติหรือท่าเรือที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งและดินแดนแห่งนี้เคยมีพระภิกษุอรัญวาสีจากดินแดนอื่นท่องธุดงค์ผ่านมามิได้ขาด ประกอบกับคณะธรรมทูตจากลังกาที่มีเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลานำพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาประดิษฐานไว้ ณ หาดทรายแก้วพร้อมทั้งก่อพระเจดีย์องค์เล็กๆ ครอบไว้ ซึ่งน่าจะกล่าวได้ว่าพระพุทธศาสนาได้เริ่มปักหลักลงแล้ว ณ หาดทรายแก้วตั้งแต่ครั้งนั้นมา อย่างไรก็ตามในระยะนั้นชุมชนแห่งนี้ยังไม่ได้ตั้งเป็นเมืองและไม่มีกษัตริย์ปกครอง
สรุป
พระบรมธาตุเจดีย์หรือพระธาตุยอดทองเป็นเจดีย์ที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของภาคใต้และเป็นศูนย์รวมจิตใจของชาวปักษ์ใต้ พระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้เป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ซึ่งเจ้าชายทันตกุมารกับเจ้าหญิงเหมมาลาได้นำมาจากลังกา เพื่อให้มหาชนได้สักการบูชา พระทันตธาตุและพระบรมสารีริกธาตุองค์นี้มีปรากฏอยู่ในตำนานพระเขี้ยวแก้วและคัมภีร์ชินกาลมาลินีว่าเขมภิกขุได้นำออกมาจากจิตกาธานในขณะที่ถวายพระเพลิงแล้วนำไปถวายพระเจ้าพรหมทัตกษัตริย์แคว้นกลิงคราษฎร์นำไปประดิษฐานที่เมืองทันตบุรี
ครั้นเมื่อเกิดศึกสงครามแย่งชิงพระทันตธาตุ พระเจ้าคูหาสิวะได้มอบพระทันตธาตุให้กับเจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลานำไปถวายให้กับพระเจ้ากรุงลังกา แต่เรือสำเภาถูกพายุพัดอับปางลงกลางทะเล คลื่นซัดเจ้าชายและเจ้าหญิงมาขึ้นฝั่งตะวันตกของภาคใต้ทั้งสองพระองค์เดินทางข้ามบกมาถึงฝั่งตะวันออกและได้ฝังซ่อนพระทันตธาตุไว้บนหาดทรายแก้ว
เจ้าชายทันตกุมารและเจ้าหญิงเหมมาลาได้พบกับพระมหาเถรพรหมเทพ พระอรหันต์องค์นี้ได้ช่วยเหลือให้เจ้าชายและเจ้าหญิงได้เดินทางนำพระทันตธาตุไปถวายพระเจ้ากรุงลังกา และจัดพิธีสมโภชพระทันตธาตุเป็นการใหญ่ กษัตริย์กรุงลังกาได้จัดตั้งคณะธรรมทูตขึ้นคณะหนึ่งด้วยการนำของเจ้าชายทันตกุมารกับเจ้าหญิงเหมมาลา นำพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ากลับไปประดิษฐานบนหาดทรายแก้วและก่อเจดีย์ครอบไว้ คณะธรรมทูตก็ได้นำพระทันตธาตุอีกส่วนหนึ่งไปประดิษฐานที่เมืองทันตบุรี แคว้น กลิงคราษฎร์ไว้แทนพระทันตธาตุเดิม
หาดทรายแก้วสถานที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในครั้งนั้นก็ได้กลายมาเป็นแหล่งชุมชน เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญ ท่าเรือสำเภานานาชาติ และเป็นดินแดนแห่งพระพุทธศาสนาที่ได้เจริญรุ่งเรืองมาจนถึงปัจจุบันนี้
เอกสารอ้างอิง
ดิเรก พรตตะเสน, “พุทธศาสนาในนครศรีธรรมราช” ในรายงานสัมมนาประวัติศาสตร์นครศรีธรรมราช,
(กรุงเทพมหานคร : วิทยาลัยครูนครศรีธรรมราช, 2521.
พุทธศาสนสุภาษิต
อนิจฺจา อทฺธุวา กามา พหุทุกฺขา มหาวิสา
อโยคุโฬว สนฺตตฺโต อฆมูลา ทุกฺขปฺผลา
กามทั้งหลาย ไม่เที่ยง ไม่ยั่งยืน มีทุกข์มาก
มีพิษมาก ดังก้อนเหล็กที่ร้อนจัด เป็นต้นเหตุ (เค้า)
แห่งความคับแค้น มีผลเป็นทุกข์
ขุ.เถรี ๒๖/๕๐๓