วันอังคารที่ 8 มิถุนายน พ.ศ. 2553

ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชกับ การพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช

ราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชกับการพัฒนารัฐนครศรีธรรมราช
ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 17 – 19

พระครูวรวิริยคุณ (ปราโมทย์ ปสุโต) เจ้าอาวาสวัดท้าวโคตร

บทนำ
รัฐนครศรีธรรมราชโบราณ เป็นรัฐที่ได้สถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกในประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 โดยราชวงศ์ตามพรลิงค์เป็นราชวงศ์แรกที่สถาปนารัฐตามพรลิงค์และปกครองรัฐนี้ตามจักรวาลวิทยาของศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย ประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 – 16 โดยการสถาปนาระบบมัณฑละขึ้นเป็นหลักในการปกครอง เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลงจึงมีการสืบต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช ราชวงศ์นี้ปกครองรัฐนครศรีธรรมราชหรือรัฐพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์นี้ พระองค์ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช สร้างพระบรมธาตุเจดีย์บนหาดทรายแก้ว เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า และสถาปนาเมืองสิบนักษัตร เพื่อให้มีหน้าที่ในการสร้างสรรค์และบำรุงพระบรมธาตุเจดีย์อันเป็นศูนย์กลางแห่งรัฐหรือศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ จึงทำให้เมืองนครศรีธรรมราชมีความเจริญรุ่งเรืองทางด้านศาสนา การค้า การปกครอง และศิลปวัฒนธรรมเป็นอย่างยิ่ง

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์
พระพุทธศาสนานิกายหินยานจากประเทศศรีลังกาได้เผยแผ่เข้ามาสู่รัฐนครศรีธรรมราชเมื่อประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 เป็นต้นมา พระพุทธศาสนาจากศรีลังกาในช่วงนี้มักจะเรียกกันว่า “นิกายลังกาวงศ์”หรือ“ลัทธิลังกาวงศ์”หรือ“นิกายเถรวาทสิงหล” พระพุทธศาสนานิกายลังกาวงศ์ได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็วและแพร่กระจายไปอย่างกว้างขวางในรัฐแห่งนี้ โดยมีนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของนิกายนี้ รวมทั้งยังส่งอิทธิพลไปยังดินแดนที่อยู่รายรอบอีกด้วย โดยได้เจริญรุ่งเรืองสืบเนื่องต่อมา จนกระทั่งถึงพุทธศตวรรษที่ 19 ในช่วงเวลานี้พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้ส่งอิทธิพลอย่างขนานใหญ่ต่อศิลปวัฒนธรรมในรัฐนี้ ส่งผลให้เกิดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ของนิกายนี้หลายด้าน โดยเฉพาะด้านสถาปัตยกรรมในการสร้างสรรค์สถูปที่มีรูปแบบทางศิลปะที่โดดเด่น จนกลายเป็นรูปแบบทางศิลปะที่รู้จักกันโดยทั่วไปว่า“สถูปทรงลังกา” หรือ“เจดีย์ทรงลังกา”
บทบาทของรัฐนครศรีธรรมราชในฐานะของรัฐที่เป็นศูนย์กลางของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ โดยศูนย์กลางอยู่ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์อันตั้งอยู่บนหาดทรายแก้ว ซึ่งปัจจุบันตั้งอยู่ภายในวัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร อำเภอเมือง จังหวัดนครศรีธรรมราช ประจำภูมิภาคที่ทำหน้าที่เป็นผู้เผยแผ่นิกายลังกาวงศ์ออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆของประเทศไทย และรัฐโบราณอื่นๆที่ตั้งอยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำโขงและอินโดจีนอีกด้วย จึงส่งผลให้พระพุทธศาสนานิกายนี้กลายเป็นศาสนาหลักของไทย ลาว และเขมร มาจนถึงปัจจุบันนี้
หาดทรายแก้วอันเป็นสถานที่ที่ตั้งองค์พระบรมธาตุเจดีย์ ซึ่งเป็นสถานที่อันศักดิ์สิทธิ์ เอกสารโบราณได้กล่าวไว้ว่า “หาดทรายแก้วชเลรอบ” มีลักษณะเป็นหาดทรายกว้าง ยาว มีน้ำอยู่รอบ “โคกซายทะเลรอบ” มีลักษณะเป็นเกาะหรือเกาะแก้ว มีลักษณะเป็นหาดใหญ่กว้างรีตามริมทะเลที่รอบ “หาดทรายแก้ว” มีลักษณะเป็นหาดทรายที่ “เห็นแจ้งแผ้วอยู่ แจ่มใส ป่าอ้อป่าเล่าใหญ่ ทรายแววไวที่สำราญ” และรวมทั้งเป็นแหล่งที่ “แลดูสะอาด” เป็น “หาดทรายแก้วโสภา” เป็น “หาดทรายใหญ่” มี “แม่น้ำคลองท่า” มีลักษณะ “แจ้งแผ้วน้ำฟ้า” เป็นแหล่งที่ “ทำนมัสการที่สำคัญของพญานาค” และเป็นแหล่งที่ “มีในตำรา” คำพรรณนาเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าสถานที่แห่งนี้เป็นสถานที่ที่มีลักษณะภูมิประเทศที่ศักดิ์สิทธิ์ ตามความเชื่อเกี่ยวกับสถานที่มีความบริสุทธิ์หรือสถานที่ศักดิ์สิทธิ์แห่งนี้แล้ว ยังสะท้อนให้เห็นถึงการนำเอาพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาประดิษฐานในพระบรมธาตุเจดีย์องค์นี้ไปผูกกันเข้ากับสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ของรัฐแห่งนี้ที่ได้แพร่กระจายไปปรากฏขึ้นในสถานที่อื่นๆ ภายในรัฐที่มีสภาพภูมิประเทศศักดิ์สิทธิ์รองลงมาจากหาดทรายแก้ว เช่น สถูปวัดเจดีย์งาม สถูปวัดจะทิ้งพระ สถูปวัดเขียน และสถูปวัดพระธาตุสวี เป็นต้น
การรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ตำนานพระบรมธาตุเมืองนครศรีธรรมราชได้กล่าวไว้ว่าการประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุหรือพระทันตธาตุของพระพุทธเจ้าไว้บนหาดทรายแก้วในครั้งนั้นได้ผูกกาภาพยนตร์ไว้เฝ้ารักษา เมื่อมีการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จก็อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุบรรจุพระเจดีย์ ฝูงกาจึงทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ทั้ง 4 ทิศ คือ กาแก้วรักษาทิศตะวันออก กาชาดรักษาทิศตะวันตก กาเดิมรักษาทิศเหนือ และการามรักษาทิศใต้ ต่อมาเมื่อพระเจ้าศรีธรรมาโศกราชได้จัดระเบียบการปกครองสงฆ์ จึงทรงนำมงคลนามทั้ง 4 มาตั้งเป็นสมณศักดิ์พระสงฆ์ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์ พระครูกาแก้วทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศตะวันออก และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีขาว พระครูกาชาดทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศตะวันตก และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีแดง พระครูกาเดิมทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศเหนือ และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีดำ และพระครูการามทำหน้าที่รักษาพระบรมธาตุเจดีย์ ปกครองคณะสงฆ์ทางด้านทิศใต้ และใช้สัญลักษณ์เป็นรูปกาสีเหลือง โดยมีพระบรมธาตุเจดีย์เป็นศูนย์และมีปู่ครูหรือสังฆราชเป็นอธิบดีสงฆ์หรือประธานสงฆ์ การปกครองคณะสงฆ์จึงเป็นเพียงการควบคุมให้เป็นไปตามกฎของศาสนาอย่างเคร่งครัดและถูกต้องตามหลักพระธรรมวินัยเท่านั้น

การสถาปนาระบบเมืองสิบสองนักษัตร
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 พระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ได้สถาปนาลงอย่างมั่นคงในรัฐนครศรีธรรมราชซึ่งเป็นรัฐพระพุทธศาสนา สถาปนาหาดทรายแก้วหรือตัวเมืองโบราณนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งรัฐ สืบต่อจากศาสนาพราหมณ์ ลัทธิไศวนิกาย สถาปนาชื่อรัฐศรีธรรมราชหรือนครศรีธรรมราช และสถาปนาราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชเป็นราชวงศ์แรกขึ้นปกครองรัฐพระพุทธศาสนา อันเป็นชื่อที่สืบสมุฏฐานมาจากพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชแห่งอินเดีย ซึ่งพระองค์เป็นกษัตริย์ที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาพระองค์หนึ่ง พระองค์ทรงมีพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่ในการสร้างสถูปจำนวนมากมายมหาศาลในดินแดนต่างๆในประเทศอินเดีย เพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้า ซึ่งพระราชกรณียกิจอันยิ่งใหญ่นี้ได้กลายเป็นประเพณีที่ได้สืบต่อมาสู่รัฐพระพุทธศาสนา คือ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชแห่งรัฐนครศรีธรรมราช ได้ทรงเจริญรอยตามพระราชกรณียกิจของพระเจ้าอโศกมหาราช โดยทรงสร้างพระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเพื่อประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าขึ้นบนหาดทรายแก้ว ซึ่งเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐอันศักดิ์สิทธิ์นี้
ตำนานประวัติศาสตร์ของรัฐนครศรีธรรมราชได้สะท้อนให้เห็นว่า พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชอันเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐนี้ ยังเป็นบ่อเกิดหรือที่มาของการสถาปนาระบบเมืองขึ้นหรือเมืองบริวาร เรียกว่า เมืองขึ้น 12 นักษัตรหรือเมืองสิบสองนักษัตร ปกครองโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชให้เมืองนครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางของเมืองเหล่านั้น เมืองนักษัตรเหล่านั้นมีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ของรัฐแห่งนี้
ในช่วงระยะเวลานั้นเมืองนครศรีธรรมราชเจริญรุ่งเรืองและมีอำนาจกล้าแข็งที่สุดสามารถแผ่อำนาจอิทธิพลลงไปตลอดแหลมมลายู เนื่องจากอาณาจักรศรีวิชัยทางใต้ล่มสลาย อาณาจักรขอมทางเหนือก็หมดอำนาจลงไป เมืองนครศรีธรรมราชมีกำลังผู้คนมากขึ้น เศรษฐกิจการค้าดีขึ้น ศิลปวัฒนธรรมก็เจริญได้จัดการปกครองหัวเมืองขึ้นเรียกว่า เมืองสิบสองนักษัตร ได้แก่ เมืองสายบุรี ปีชวด ถือตราหนู เมืองปัตตานี ปีฉลูถือตราวัว เมืองกลันตัน ปีขาลถือตราเสือ เมืองปาหัง ปีเถาะถือตรากระต่าย เมืองไทรบุรี ปีมะโรงถือตรางูใหญ่ เมืองพัทลุง ปีมะเส็งถือตรางูเล็ก เมืองตรัง ปีมะเมียถือตราม้า เมืองชุมพร ปีมะแมถือตราแพะ เมืองบันไทยสมอ ปีวอกถือตราลิง เมืองสะอุเลา ปีระกาถือตราไก่ เมืองตะกั่วถลาง ปีจอถือตราสุนัข และเมือง กระบุรี ปีกุนถือตราหมู
อาณาเขตของรัฐนครศรีธรรมราชบนคาบสมุทรไทยมีอาณาเขตกว้างใหญ่ไพศาล โดยมีศูนย์กลางของรัฐหรือเมืองหลวงอยู่ที่เมืองนครศรีธรรมราช มีเมืองขึ้น 12 เมืองหรือเมืองสิบสองนักษัตรรายรอบเหมือนดาวล้อมเดือน อาณาเขตของรัฐนี้ทางด้านทิศเหนือมีเมืองนักษัตรชุมพร อาณาเขตทางด้านทิศใต้มีเมืองนักษัตรปาหัง (ประเทศมาเลเซีย) อาณาเขตทางด้านทิศตะวันออกจดคาบสมุทรไทยและอาณาเขตทางด้านทิศตะวันตกมีเมืองนักษัตรตะกั่วถลาง จังหวัดภูเก็ตเป็น อาณาเขต
การปกครองรัฐนครศรีธรรมราชมีการปกครองด้วยเสนาบดี 4 ตำแหน่งเรียกว่า บาคู หรืออำมาตย์ ซึ่งคล้ายคลึงกันกับระบบจตุสดมภ์ คือ เวียง วัง คลัง นา ของกรุงศรีอยุธยาตอนต้น โดยมีพระสงฆ์ผู้ทรงคุณวุฒิหรืออธิบดีสงฆ์หรือ ปู่ครู หรือ สังฆราชของรัฐนี้เป็นที่ปรึกษาในการถวายความเห็นคล้ายกับพราหมณ์ปุโรหิต
การบริหารควบคุมเมืองบริวารภายในรัฐ ทำโดยการยึดฐานะของเมืองที่มีศักยภาพทางด้านเศรษฐกิจ มีความสำคัญทางยุทธศาสตร์ และมีความพร้อมขึ้นเป็นเมืองหลัก ทำหน้าที่ควบคุมเมืองย่อยลงไปตามที่ได้จัดเขตปกครองไว้มีเจ้าเมืองเป็นผู้บริหาร ควบคุมเมืองในสังกัดของตน ทรงพระราชทานตราเมืองเป็นรูปสัตว์ประจำปีนักษัตร ใช้เป็นตราประทับหนังสือโต้ตอบระหว่างหัวเมืองกับเมืองหลวง ลักษณะการปกครองของเมืองที่สำคัญอาจะเลียนแบบของเมืองหลวงหรือเมืองหลักในการปกครอง โดยเมืองขึ้นเหล่านั้นจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการในเทศกาลสงกรานต์อันเป็นวันที่เปลี่ยนปีนักษัตร หรือวันเวลาที่กำหนดและตกลงกัน การเข้าร่วมในราชพิธีที่สำคัญ การเข้าเฝ้าถวายความจงรักภักดีในโอกาสต่างๆ และการเข้าร่วมบำเพ็ญพระราชกุศลที่พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชตามประเพณีเพื่อเป็นเครื่องทดลองความจงรักภักดีของเมืองขึ้นเหล่านั้น

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งการค้า
ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 รัฐพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์นั้นนับได้ว่าเป็นยุคแห่งความรุ่งโรจน์ที่สุดอีกยุคหนึ่งของประวัติศาสตร์การค้าของรัฐนี้ รัฐนครศรีธรรมราชได้มีบทบาทอย่างสำคัญในฐานะของรัฐที่เป็นศูนย์กลางทางการค้าแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู อันเนื่องมาจากช่องแคบมะละกาเป็นเส้นทางการค้านานาชาติตั้งแต่สมัยโบราณ เช่น การค้าของราชวงศ์ปัลลวะ ราชวงศ์โจฬะ ราชวงศ์ซ้อง และราชวงศ์หยวน เป็นต้น เอกสารโบราณของจีนกล่าวว่ามีการค้าระหว่างรัฐนี้กับจีนมาอย่างต่อเนื่อง และหลักฐานทางโบราณคดีได้มีการค้นพบภาชนะดินเผาที่ผลิตขึ้นในราชวงศ์ซ้องและราชวงศ์หยวนในสถานที่ที่เป็นเมืองท่าค้าขายที่สำคัญของรัฐแห่งนี้ คือ อ่าวนครศรีธรรมราช อ่าวสงขลา และอ่าวบ้านดอน สินค้าหลักของรัฐนครศรีธรรมราชที่ส่งออกไปค้าขายกับจีนมีประเภทไม้หอม เครื่องเทศ งาช้าง ขี้ผึ้ง นกเงือก นอแรด และดีบุก เป็นต้น ส่วนสินค้าของจีนที่นำมาขายและแลกเปลี่ยนมี 3 ประเภท คือ ประเภทแรกสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต ได้แก่ เกลือ ข้าวเจ้าที่สีแล้ว เหล็ก และภาชนะดินเผาประเภทเนื้อดิน ประเภทที่สอง สิ่งของฟุ่มเฟือยต่างๆ ได้แก่ ทองคำ เงิน ไหม ภาชนะดินเผาประเภทเครื่องเคลือบและเครื่องเขินสำหรับบรรดาสมาชิกของชนชั้นผู้ปกครอง และประเภทที่สาม สิ่งของเครื่องใช้สำหรับในการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาและร่มกันแดด เป็นต้น

นครศรีธรรมราชศูนย์กลางแห่งศิลปวัฒนธรรม
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนา นิกายลังกาวงศ์ในเมืองนครศรีธรรมราช ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 นั้น จึงเป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวเนื่องกันกับความเชื่อทางพระพุทธศาสนาและความเชื่อของศาสนาพราหมณ์ฮินดูขึ้นอย่างมากมาย ดังนี้
1. สถาปัตยกรรมที่สร้างขึ้นเพื่อให้มนุษย์อยู่อาศัยและสร้างขึ้นเพื่อใช้ประโยชน์อย่างอื่น สถาปัตยกรรมที่สำคัญของเมืองนครศรีธรรมราชได้แก่ พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราช วิหารหลวง วิหารทรงม้า วิหารเขียน วิหารโพธิ์ลังกา วิหารสามจอม วิหารพระแอด วิหารทับเกษตร วิหารคดหรือพระระเบียง วิหารธรรมศาลา วิหารโพธิ์พระเดิม เจดีย์รายรอบองค์พระบรมธาตุเจดีย์ พระพุทธบาทจำลอง วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร เจดีย์ยักษ์ กุฏิ โบสถ์ ศาลาการเปรียญ เป็นต้น
2. ประติมากรรมที่สร้างขึ้นมีลักษณะนูนและลอยตัว ประติมากรรมที่นูนสูงในเมืองนครศรีธรรมราชได้แก่ ซุ้มเรือนแก้ว ซุ้มช้าโผล่หัว พระพุทธรูป เป็นต้น ส่วนประติมากรรมที่ลอยตัวได้แก่ พระพุทธรูปปางต่างๆ เช่น พระพุทธสิหิงค์ พระศรีศากยมุนี พระพุทธทนทกุมาร พระพุทธเหมชาลา พระพุทธศรีธรรมาโศกราช พระพุทธไสยาสน์ พระเงิน และพระพุทธรูปตามวัดต่างๆ
3. จิตรกรรมที่เขียนบนฝาผนังอาคารที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา เช่น อุโบสถ วิหาร เป็นเรื่องราวเกี่ยวกับพุทธประวัติ ทศชาติชาดก ไตรภูมิ วรรณคดี วิถีชีวิตและตำนานต่างๆ ได้แก่ ภาพเขียนที่เสาวิหารเขียน ฝ้าเพดานวิหารหลวงและวิหารทรงม้า วัดพระมหาธาตุวรมหาวิหาร ทศชาติชาดก วัดท้าวโคตร และจิตรกรรมอื่นๆ เช่น จิตรกรรมในหนังสือบุดที่ปรากฏอยู่ตามวัดต่างๆ ทั่วไปในเมืองนครศรีธรรมราช
4. วรรณกรรมที่แต่งขึ้นหรือการประพันธ์หนังสืออย่างดงาม สละสลวย และประณีตบรรจง ซึ่งเป็นสำนวนกวีของชาวนครศรีธรรมราช เช่น เรื่องสุบิน วันอังคาร ทินวงศ์ สีเสาร์ กระต่ายทอง พระรถเสนของนายเรือง นาใน และเสือโคของพระมี เป็นต้น และเอกสารโบราณประเภทหนังสือบุดหรือสมุดข่อยที่เป็นคัมภีร์ทางพระพุทธศาสนา ตำรายา และประวัติศาสตร์ของพระพุทธศาสนาในเมืองนครศรีธรรมราชที่สำคัญ เช่น ตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ตำนาน พระธาตุเมืองนครศรีธรรมราช และพระนิพพานโสตร เป็นต้น
5. ประเพณีอันเป็นกิจกรรมหรือความประพฤติที่ได้ปฏิบัติสืบต่อกันมาเพื่อที่จะนำคนเข้าสู่แก่นแท้ของพระพุทธศาสนา เพื่อความสามัคคี และเพื่อบุญกุศลและความสุข อันเป็นวิถีชีวิตของชาวเมืองนครศรีธรรมราชมาแต่โบราณ ประเพณีเหล่านี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ ประเพณีที่จัดขึ้นตามฤดูกาล ได้แก่ ประเพณีให้ทานไฟ ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีแรกนาขวัญ ประเพณีตักบาตรธูปเทียน ประเพณีสารทเดือนสิบ ประเพณีลากพระ และประเพณีที่จัดขึ้นตามกาลเวลาอันเหมาะสม ได้แก่ ประเพณียกขันหมากพระปฐม ประเพณีสวดด้าน ประเพณีสวดมาลัย ประเพณีการทำนาหว้า ประเพณีการทำขวัญข้าว และประเพณีที่เกี่ยวกับการเกิด การบวช การแต่งงาน และการทำศพ

สรุป
นครศรีธรรมราชได้สถาปนาขึ้นเป็นครั้งแรกประมาณพุทธศตวรรษที่ 11 โดยราชวงศ์ตามพรลิงค์และปกครองตามจักรวาลวิทยาระบบมัณฑละของศาสนาพราหมณ์ เมื่อราชวงศ์ตามพรลิงค์คลี่คลายลง ประมาณพุทธศตวรรษที่ 17 – 19 จึงมีการสืบต่อโดยราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราช พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงเป็นปฐมกษัตริย์ในราชวงศ์ พระองค์ทรงสร้างเมืองนครศรีธรรมราช สร้างพระบรมธาตุเจดีย์ และสถาปนาเมืองสิบสองนักษัตร จึงทำให้เมืองนครศรีธรรมราชเจริญสูงสุด
พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ได้เผยแผ่เข้าสู่รัฐนครศรีธรรมราช และได้เจริญรุ่งเรืองขึ้นอย่างรวดเร็ว โดยมีศูนย์กลางอยู่ที่นครศรีธรรมราช จึงส่งผลให้เกิดศิลปวัฒนธรรมที่เป็นเอกลักษณ์ คือ เจดีย์ทรงลังกา และทำหน้าที่เผยแผ่พระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ออกไปสู่ภูมิภาคต่างๆและรัฐอื่นๆ
ศูนย์กลางพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์หรือศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์ตั้งอยู่นบหาดทรายแก้ว ส่วนการรักษาพระบรมธาตุเจดีย์นั้นมีกา 4 ฝูงคือ กาแก้ว กาชาด กาเดิม และการาม ต่อมาเมื่อสร้างพระบรมธาตุเจดีย์สำเร็จ พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงนำมงคลนามทั้ง 4 มาตั้งเป็นสมณศักดิ์พระสงฆ์ผู้ดูแลรักษาพระบรมธาตุเจดีย์และปกครองคณะสงฆ์
พระเจ้าศรีธรรมาโศกราชทรงได้สถาปนาพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ลงในเมืองนครศรีธรรมราช สถาปนาหาดทรายแก้วเป็นตัวเมือง สถาปนาชื่อรัฐ “ศรีธรรมราช” หรือ “นครศรีธรรมราช” และสถาปนาราชวงศ์ศรีธรรมาโศกราชขึ้นปกครองรัฐนครศรีธรรมราช อันเป็นชื่อที่สืบสมุฏฐานมาจากพระนามของพระเจ้าอโศกมหาราชกษัตริย์แห่งอินเดีย
พระบรมธาตุเจดีย์นครศรีธรรมราชเป็นศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์และเป็นบ่อเกิดการสถาปนาระบบเมืองสิบสองนักษัตร ได้แก่ เมืองสายบุรี เมืองปัตตานี เมืองกลันตัน เมืองปาหัง เมืองไทรบุรี เมืองพัทลุง เมืองตรัง เมืองชุมพร เมืองบันไทยสมอ เมืองสะอุเลา เมืองตะกั่วถลาง และเมืองกระบุรี เมืองสิบสองนักษัตรเหล่านี้มีหน้าที่ในการสร้างและบำรุงศูนย์กลางแห่งความศักดิ์สิทธิ์
อาณาเขตของรัฐนครศรีธรรมราชทิศเหนือมีเมืองนักษัตรชุมพร ทิศใต้มีเมืองนักษัตร ปาหัง ทิศตะวันออกจดคาบสมุทรไทย และทิศตะวันตกมีเมืองนักษัตรตะกั่วถลาง มีการปกครองด้วยเสนาบดี 4 ตำแห่ง เรียกว่า บาคู หรือ อำมาตย์ โดยมีปู่ครูเป็นที่ปรึกษา ทรงพระราชทานตราเมืองเป็นรูปปีนักษัตร โดยเมืองเหล่านั้นจะต้องส่งเครื่องราชบรรณาการตามวันเวลาที่กำหนดไว้และเข้าร่วมพระราชพิธีต่างๆ ที่องค์พระบรมธาตุเจดีย์เพื่อแสดงความจงรักภักดีต่อเมืองหลวง
นครศรีธรรมราชเป็นเมืองท่าและศูนย์กลางการค้าแห่งหนึ่งบนคาบสมุทรมลายู เอกสารโบราณของจีนกล่าวว่านครศรีธรรมราชมีการค้ากับจีน สินค้าของรัฐนี้มีประเภทไม้หอม เครื่องเทศ งาช้าง ขี้ผึ้ง เป็นต้น ส่วนสินค้าของจีนมีสินค้าที่มีความจำเป็นต่อการดำเนินชีวิต สินค้าฟุ่มเฟือย และสินค้าที่ใช้ประกอบพิธีกรรมทางศาสนา
ความเจริญรุ่งเรืองของพระพุทธศาสนาลังกาวงศ์ในรัฐนครศรีธรรมราช จึงเป็นบ่อเกิดของศิลปวัฒนธรรมแขนงต่างๆ ขึ้นอย่างมากมาย เช่น สถาปัตยกรรมการสร้างพระบรมธาตุเจดีย์ ประติมากรรมการสร้างพระพุทธรูป จิตรกรรมฝาผนังและหนังสือบุด วรรณกรรมสำนวนกวีชาวนครศรีธรรมราช และประเพณีอันเป็นกิจกรรมทางศาสนาที่สืบต่อกันมา เช่น ประเพณีแห่ผ้าขึ้นธาตุ ประเพณีกวนข้าวมธุปายาสยาคู และประเพณีลากพระ เป็นต้น

พุทธศาสนสุภาษิต
โย พาโล มญฺญตี พาลฺยํ ปณฺฑิโต วาปิ เตน โส
พาโล จ ปณฺฑิตมานี ส เว พาโลติ วุจฺจติ
บุคคลใดโง่ ย่อมสำคัญความที่แห่งตนเป็นคนโง่ บุคคลนั้นจะเป็นบัณฑิต
เพราะเหตุนั้นได้บ้าง ส่วนบุคคลใดเป็นคนโง่ มีความสำคัญว่าตนเป็นบัณฑิต
บุคคลนั้นแล เรียกว่า “คนโง่”

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น